BPP เผย Q1/63 EBITDA เพิ่มจาก"บีแอลซีพี-หงสา"ผลิตไฟดีขึ้น, โรงไฟฟ้าในจีน-โซลาร์ญี่ปุ่น-เวียดนามทยอย COD ปีนี้ตามแผน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday May 13, 2020 13:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) รายงานผลประกอบการไตรมาส 1/63 มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) 1,775 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/62 เนื่องมาจากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีและโรงไฟฟ้าหงสา ซึ่งมีค่าความพร้อมจ่าย (Equivalent Availability Factor: EAF) ถึง 100% และ 91% ตามลำดับ โดยสามารถเดินเครื่องเพื่อผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่กำไรสุทธิในไตรมาส 1/63 อยู่ที่ 975.35 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 1/62 ที่มีกำไรสุทธิ 1,254.47 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในไตรมาส 1/63 บริษัทมีรายได้รวม 1,843 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/62 ประกอบด้วยรายได้จากการขายไฟฟ้าในจีน ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมทั้ง 3 แห่ง จำนวน 1,626 ล้านบาท โดยมีการจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำรวมทั้งน้ำร้อนเพิ่มขึ้น 9% และ 25% ตามลำดับเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

อีกส่วนหนึ่งมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้ง 7 แห่ง จำนวน 89 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนผลการดำเนินงานเพียง 2 เดือน ในเดือน ม.ค.และ ก.พ.63 ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นการรายงานในรูปแบบส่วนแบ่งกำไรภายหลังการปรับโครงสร้างการลงทุนเสร็จสิ้น ต้นเดือน มี.ค.63 และรายได้จากธุรกิจซื้อขายไฟฟ้า (Energy Trading) ในญี่ปุ่นจำนวน 128 ล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจร่วมค้าจำนวน 1,104 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/62 ส่วนหลักมาจากโรงไฟฟ้าหงสาที่รายงานส่วนแบ่งกำไรจำนวน 1,122 ล้านบาท (รวมผลกำไรจากการแปลงค่าเงินแล้วจำนวน 151 ล้านบาท) ส่วนโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีรายงานส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานจำนวน 200 ล้านบาท (ยังไม่รวมผลขาดทุนจากภาษีเงินได้รอตัดบัญชีจำนวน 243 ล้านบาท และผลขาดทุนจากการแปลงค่าเงินจำนวน 26 ล้านบาท) ดังนั้น จึงรายงานส่วนแบ่งขาดทุนจำนวน 70 ล้านบาท

นอกจากนั้น ธุรกิจพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงาน ภายใต้การดำเนินงานของบ้านปู เน็กซ์ รายงานส่วนแบ่งกำไรจำนวน 32 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลการดำเนินงานเดือน มี.ค.63 เพียง 1 เดือน

ส่วนการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าในจีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม กำลังผลิตรวม 424 เมกะวัตต์ คืบหน้าตามแผน ด้วยระบบการบริหารจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Management: BCM) ที่มีประสิทธิภาพ สะท้อนถึงความสามารถในการพร้อมรับสถานการณ์ที่ไม่ปกติและความยืดหยุ่นในการบริหารงานแม้ในสภาวะวิกฤติจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

นอกจากนี้ การเข้าถือหุ้นใน Sunseap Group Pte. Ltd. (Sunseap) ผ่านบ้านปู เน็กซ์ เพิ่มขึ้นเป็น 48.6% ยังช่วยขยายพอร์ตธุรกิจพลังงานสะอาดในกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไต้หวัน และตอกย้ำความมุ่งมั่นของบ้านปู เพาเวอร์ฯ ในการขยายการเติบโตให้ถึงเป้าหมาย 5,300 เมกะวัตต์เทียบเท่า โดยมีพลังงานหมุนเวียน 800 เมกะวัตต์ ภายในปี 68

นายกิรณ ลิมปพยอม ซึ่งได้เข้ารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BPP เมื่อเดือน เม.ย.63 ที่ผ่านมา กล่าวว่า โรงไฟฟ้าทุกแห่งของ BPP ยังเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพแม้ในสภาวะของการเกิดโควิด-19 บริษัทได้มีการบริหารจัดการทั้งแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจและการบริหารการเงินเพื่อรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยดำเนินมาตรการป้องกันต่างๆ อย่างเคร่งครัดตามแนวทางที่รัฐบาลในแต่ละประเทศกำหนด มีการบริหารต้นทุนอย่างรัดกุม มุ่งเน้นการรักษาประสิทธิภาพและเสถียรภาพของทุกๆ โรงไฟฟ้า และความสามารถในการรักษาสถานะทางการเงินไว้เป็นอย่างดี

ดังนั้น ผลประกอบการทั้งในส่วนของพอร์ตพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปและพลังงานหมุนเวียนยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในไตรมาสนี้ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมที่ประเทศจีนรายงานผลกำไรที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าและไอน้ำในช่วงฤดูหนาว โดยโรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งได้ผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าและไอน้ำเพื่อตอบสนองความต้องการแก่ชุมชน รวมถึงลูกค้าอุตสาหกรรมโดยเฉพาะกลุ่มที่ผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเวชภัณฑ์ต่างๆ เพื่อใช้ในการรักษาโรคในช่วงที่เกิดการระบาดในประเทศ

นอกจากนี้ การลงทุนในบ้านปู เน็กซ์ เริ่มเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนแล้ว ถือเป็นการเพิ่มโอกาสการเติบโตโดยเฉพาะด้านธุรกิจพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงานอย่างครบวงจร

ณ ปัจจุบัน BPP มีโรงไฟฟ้าและโครงการโรงไฟฟ้าทั้งหมด 33 แห่ง แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) แล้ว 24 แห่ง และอยู่ระหว่างการพัฒนา 9 โครงการ กำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุนรวม 2,784 เมกะวัตต์เทียบเท่า คิดเป็นกำลังผลิตที่ COD แล้ว 2,250 เมกะวัตต์เทียบเท่า (รวมส่วนแบ่งกำลังผลิตจากการปรับโครงสร้างการลงทุนในบ้านปู เน็กซ์)

บริษัทเดินหน้าการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง (Shanxi Lu Guang) ในจีน กำลังผลิต 396 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น ยามางาตะ (Yamagata) 20 เมกะวัตต์ และยาบูกิ (Yabuki) 7 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ระยะที่ 1 ในเวียดนาม 30 เมกะวัตต์ ตามแผน โดยคาดว่าจะทยอย COD ในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปีนี้

ทั้งนี้ หากสถานการณ์โควิด-19 ยังคงดำเนินต่อไป บริษัทฯ ได้เตรียมความพร้อมและมาตรการในการรับมืออย่างฉับไวและจำกัดผลกระทบให้เกิดน้อยที่สุด เพื่อให้โครงการโรงไฟฟ้าเดินหน้าพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง

นายกิรณ กล่าวว่า เพื่อไปถึงเป้าหมายกำลังผลิต 5,300 เมกะวัตต์ ภายในปี 68 บริษัทฯ มุ่งเน้นการพัฒนาประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าทุกแห่ง เดินหน้าพัฒนาและก่อสร้างโครงการต่างๆ ให้สามารถ COD ได้ตามแผน และมุ่งหน้าแสวงหาโอกาสในการลงทุนทั้งในประเทศที่ดำเนินธุรกิจอยู่และประเทศที่มีศักยภาพตามกลยุทธ์ Greener & Smarter อย่างต่อเนื่อง บริษัทได้ติดตามสถานการณ์โควิด-19 อย่างใกล้ชิด และได้เตรียมความพร้อมในทุกๆ ด้านเพื่อปรับตัวให้ทันกับกระแสของความปกติใหม่ (New Normal) ที่กำลังเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันกับวิถีชีวิตและการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน เพื่อให้มั่นใจว่าโรงไฟฟ้าทุกแห่งสามารถเดินเครื่องผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าได้อย่างราบรื่นและเต็มกำลัง

อีกทั้งยังมุ่งขยายการเติบโตในพอร์ตพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงานเพื่อเสริมธุรกิจผลิตไฟฟ้าให้แข็งแกร่งและสอดรับกับกระแสพลังงานแห่งโลกอนาคตได้ดียิ่งขึ้น ความชำนาญในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้า และการผนึกพลังร่วมกับกลุ่มบ้านปูฯ จะทำให้บ้านปู เพาเวอร์ฯ ก้าวสู่การเป็นผู้นำธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าที่สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อเพิ่มมูลค่าและรักษาสมดุลระหว่างกระแสเงินสดและผลตอบแทนแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (Environmental, Social and Governance: ESG)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ