BGC เห็นสัญญาณออร์เดอร์ขวดแก้วฟื้นดีกว่าคาดหลังรัฐผ่อนปรนขายเหล้า-เบียร์,ศึกษาลงทุนธุรกิจเกี่ยวเนื่องกระจายเสี่ยง

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday May 13, 2020 15:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร กรรมการผู้จัดการ บมจ.บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส (BGC) เปิดเผยว่า แนวโน้มรายได้ในช่วงไตรมาส 2/63 คาดว่าจะหดตัวจากไตรมาส 1/63 ที่มีรายได้ 3 พันล้านบาท และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเขื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งชัดเจนมากขึ้นในช่วงเดือนเม.ย.โดยเฉพาะมาตรการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัท

รวมทั้งการเลื่อนวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ในเดือน เม.ย.ออกไป เพราะปกติในช่วงเทศกาลจะมียอดจำหน่ายเครื่องดื่มเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันการส่งออกขวดแก้วไปให้กับลูกค้าในต่างประเทศก็ลดลงจากมาตรการล็อกดาวน์ในต่างประเทศ ซึ่งกดดันคำสั่งซื้อขวดแก้วของลูกค้าให้ลดลง

ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการติดตามสถานการณ์ 2 เดือนที่เหลือในไตรมาส 2/63 (พ.ค.-มิ.ย. 63) ว่าจะเป็นอย่างไร โดยในช่วง 10 วันแรกของเดือนนี้ได้รับผลดีจากการผ่อนปรนให้สามารถจำหน่ายแอลกอฮอล์ได้ ทำให้เริ่มเห็นคำสั่งซื้อขวดแก้วกลับมาเพิ่มขึ้น และดีกว่าที่บริษัทคาดการณ์ไว้ แต่คงประเมินอีกครั้งหลังจากจบไตรมาส 2/6 ว่าจะสามารถชดเชยคำสั่งซื้อที่หายไปในช่วงก่อนหน้านี้ได้หรือไม่

นายศิลปรัตน์ กล่าวว่า บริษัทจะมีการทบทวนเป้าหมายรายได้ในปีนี้หลังจบไตรมาส 2/63 โดยมองว่าความเป็นไปได้ของรายได้จะเติบโตได้ 5% ตามเป้าหมายใหม่ที่ได้ปรับมาแล้วในช่วงต้นเดือน มี.ค.แต่หากไตรมาส 2/63 ยังได้รับแรงกดดันมากจนติดลบก็มีโอกาสที่จะปรับลดเป้าหมายลงอีกครั้ง

"เรายังคงติดตามดูสถานการณ์ต่อไป เพราะโควิด-19 ยังไม่คลี่คลายได้อย่างแน่นอนในปัจจุบัน ทำให้ดีมานด์อาจวูบวาบได้ ทำให้เราต้องติดตามกันแบบ Daily เพื่อวางแผนปรับให้ดีมานด์และซัพพลายอยู่ที่ใกล้เคียงกัน ทำให้เราสามารถวางแผนการใช้กำลังการผลิตได้ถูกต้อง"นายศิลปรัตน์ กล่าว

ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตขวดแก้ว 230,000 ตัน/ปี โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิต 87.9% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ในระดับ 83.9%

นายศิลปรัตน์ เปิดเผยอีกว่า บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับบรรจุภัณฑ์เพื่อกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ และเพิ่มรายได้ที่หลากหลายมากขึ้น เนื่องจากบริษัทยังมีกระแสเงินสดที่เพียงพอรองรับการลงทุนใหม่ และบริษัทก็มีโอกาสในการเข้าซื้อกิจการในธุรกิจเกี่ยวเนื่องเข้ามาได้

ส่วนธุรกิจพลังงานนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาเข้าซื้อโรงไฟฟ้า 1-2 โครงการ คาดว่าจะมีความชัดเจนในปี 63 โดยที่บริษัทวางเป้าหมายภายใน 5 ปี (ปี 63-67) รายได้รวมเพิ่มเป็น 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะมาจากสัดส่วนรายได้ธุรกิจพลังงาน 10% และรายได้จากธุรกิจหลัก 90% โดยที่ธุรกิจพลังงานจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 300-400 เมกะวัตต์

ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าโซลาร์ในเวียดนามของบริษัทขายไฟให้กับการไฟฟ้าเวียดนามแล้ว 20-30 เมกะวัตต์ จากกำลังการผลิตทั้งหมด 100 เมกะวัตต์ ซึ่งมีรายได้เข้ามาในไตรมาส 1/63 ที่ 116 ล้านบาท แต่ยังมีผลขาดทุนอยู่ เพราะเงินด่องของเวียดนามอ่อนค่าลงในช่วงไตรมาส 1/63 จากโควิด-19 ทำให้เกิดผลขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนกดดันกำไรให้ปรับลดลง แต่ปัจจุบันค่าเงินด่องของเวียดนามเริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้นใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว จึงคาดว่าในช่วงไตรมาส 2/63 จะไม่มีการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนจากธุรกิจดังกล่าวแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ