หุ้น 7UP ราคาพุ่งขึ้น 9.52% มาอยู่ที่ 0.46 บาท เพิ่มขึ้น 0.04 บาท มูลค่าซื้อขาย 20.25 ล้านบาท เมื่อเวลา 10.50 น. โดยเปิดตลาดที่ 0.42 บาท ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 0.46 บาท และราคาปรับตัวลงต่ำสุดที่ 0.42 บาท
บมจ.เซเว่น ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (7UP) และบริษัทย่อย แจ้งแบบสรุปผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1/63 ผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า บริษัทมีกำไรสุทธิ 37.83 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.013 บาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 22.12 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.008 บาท
พร้อมชี้แจงว่า สาเหตุหลักมาจากบริษัทมีกำไรขั้นต้นจำนวน 43.78 ล้านบาท มาจากธุรกิจ LPG และน้ำมัน 38 ล้านบาท และธุรกิจการบำบัดน้ำ 6.00 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 1/62 บริษัทมีกำไรขั้นต้น 37.79 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/62 จำนวน 5.99 ล้านบาท คิดเป็น 15.84%
ในไตรมาสนี้บริษัทมีรายได้รวม 365 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโต 86% โดยเป็นรายได้จากการขายและบริการ 272.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/62 จำนวน 87.46 ล้านบาท คิดเป็น 47.32% ประกอบด้วย รายได้จากการขาย LPG และน้ำมัน 211 ล้านบาท รายได้จากค่าบริการบริหารงานขาย 20 ล้านบาท รายได้จากการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า 4 ล้านบาท รายได้จากการจำหน่ายวิทยุและระบบวิทยุสื่อสาร 17 ล้าบาท รายได้จากการให้บริการติดตั้งระบบวิทยุสื่อสาร 9 ล้านบาท และรายได้จากการให้บริการปรับปรุงคุณภาพน้ำ 11 ล้านบาท
รายได้อื่นจำนวน 93.15 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นรายได้ขอคืนภาษี 32.80 ล้านบาท รายได้จากการวัดมูลค่าตามวิธีราคาตลาด 29 ล้านบาท รายได้จากการขายบริษัทย่อย 11 ล้านบาท รายได้จากการขายสินทรัพย์ 9.80 ล้านบาท และรายได้จากการให้บริการบริหารสินทรัพย์ 8.50 ล้านบาท
ด้านนายสิทธิชัย กฤชวิวรรธน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร 7UP เปิดเผยว่า รายได้หลักของบริษัทยังคงมาจากธุรกิจให้บริการสถานีบริการน้ำมันและก๊าซแอลพีจี ขณะที่รายได้จากการเข้าลงทุนในธุรกิจต่างๆ ยังอยู่ในชวงทยอยรับรู้การลงทุน และบริษัทยังคงมองหาโอกาสการเข้าลงทุนในธุรกิจสาธารณูปโภคและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องตามกลยุทธ์หลักทางธุรกิจ โดยอยู่ระหว่างเข้าร่วมประมูลโรงไฟฟ้าชุมชน 30 เมกะวัตต์ จากที่รัฐเปิดรับซื้อทั้งหมด 700 เมกะวัตต์ และมีความเป็นไปได้สูงจะได้รับอนุมัติตามจำนวนที่เสนอ เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่บริษัทฯมีความชำนาญและให้บริการอยู่แล้ว
ปัจจุบัน บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 13 เมกะวัตต์ คือ โรงไฟฟ้าไบโอแก๊ส จ่ายไฟเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว กำลังการผลิต 2 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการก่อสร้างรวม 6 เมกะวัตต์ คือ โรงไฟฟ้าประชารัฐบันนังสตา จ.ยะลา โรงไฟฟ้าประชารัฐแม่ลาน จ.ปัตตานี ขณะที่โรงไฟฟ้าระบบไฮบริด กำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ อยู่ในกระบวนการเข้าลงทุน คาดว่าจะ COD ได้ครบทั้งหมดภายในปี 64 ซึ่งจะมีส่วนผลักดันให้สัดส่วนรายได้จากธุรกิจโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
"ฐานะการเงินของบริษัทฯ ณ สิ้นงวดไตรมาส 1 ของปี 63 มีความแข็งแกร่งมากขึ้น ส่วนของผู้ถือหุ้นมีจำนวน 1,753 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41 ล้านบาทจากสิ้นปี 62 ทำให้มีความพร้อมและมีศักยภาพมองหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจสาธารณูปโภค และเป็นกลุ่มธุรกิจที่บริษัทฯให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่จะสร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอตามอายุสัญญา ขณะที่มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งจะสนับสนุนให้บริษัทฯเติบโตอย่างยั่งยืน" นายสิทธิชัย กล่าว