เอกชน คาดระดมทุนผ่านสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้นหลังผ่านวิกฤติโควิด ช่วยเพิ่มความคล่องตัวธุรกิจ-หนุนพัฒนานวัตกรรมใหม่

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday May 14, 2020 15:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระชาติ ก่อตระกูล CEO & Co-Founder, StockRadars Startup กล่าวในงานเสวนา SEC FinTech Virtual Seminar 2020 หัวข้อ"Fundraising in a digital age: เทรนด์การระดมทุนหลัง COVID-19" ว่า หลังจาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว มองว่าการระดมทุนในรูปแบบเหรียญดิจิทัลเพื่อใช้แลกกับบริการหรือสินค้า (Utility Token) จะมีมากขึ้น เนื่องจากนักลงทุนสามารถเข้าถึงและมีความเข้าใจมากขึ้น อีกทั้งด้วยความเป็นดิจิทัลสามารถกระจายไปยังนักลงทุนทั่วโลกให้สามารถเข้าถึงได้เพิ่มขึ้นด้วย

นอกจากนี้ การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลยังจะเข้าถึงได้มาก เนื่องจากมีเทคโนโลยี Blockchain เข้ามาช่วยสนับสนุน ซึ่งโดยปกติการลงทุนในตลาดหุ้นอาจจะต้องใช้เงินลงทุนสูงถึง 5,000-10,000 บาทในการเริ่มต้น แต่หลังจากนี้อาจจะใช้เงินในไม่มากในการเริ่มต้นลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล

"การที่เราสามารถเชื่อมสินทรัพย์ประเภทเดิมเข้ากับสินทรัพย์ประเภทใหม่ๆ จะช่วยเปิดประตูให้คนสามารถเข้ามาลงทุนได้มากขึ้น เพราะโลกหลังจากนี้จะไม่ลงทุนไม่ได้แล้ว แต่ทุกคนต้องมีความสามารถในการลงทุนเหมือนกับการว่ายน้ำ หรือการวิ่ง ที่ทุกคนต้องทำได้ และไม่มองว่าเป็นเรื่องไกลตัว"นายธีระชาติ กล่าว
นายคมกฤช เกียรติดุริยกุล Partner, Baker & McKenzie นักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญด้านให้คำปรึกษาทางธุรกิจ กล่าวถึงข้อดีในการการระดมทุนผ่านโทเคนดิจิทัลว่า สามารถนำสินทรัพย์เก่า อาทิ อสังหาริมทรัพย์ และสิทธิเรียกร้องต่างๆ เข้ามาระดมทุนได้ หรือสินทรัพย์ใหม่ๆ ที่ไม่เคยอยู่ในตลาดทุนมาก่อนเข้ามาระดมทุนได้ เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา ลิขสิทธิ์ หรือ สิทธิบัตรต่างๆ เป็นต้น

ทั้งนี้ มองว่าจะส่งผลดีให้กับหลายๆ กลุ่ม อาทิ กลุ่มหมอที่ต้องการวิจัยและพัฒนาเรื่องใหม่ ๆ จากเดิมที่จะต้องใช้เงินกู้เพื่อเป็นทุน แต่หลังจากนี้สามารถระดมทุนผ่านสินทรัพย์ดิจิทัลได้ และหลังจากที่วิจัยสำเร็จก็สามารถนำสิทธิบัตรไปขายแก่บริษัทผู้ผลิตยา โดยนักลงทุนเองก็จะมีมูลค่าของโทเคนที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการลงทุนก็มีความเสี่ยงที่นักลงทุนต้องพิจารณาด้วย

นอกจากนั้น จากที่ผ่านมาการธุรกิจที่เป็น FinTech หรือ Startup ในต่างประเทศใช้ระยะเวลายาวนานก่อนที่จะเข้าเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ยกตัวอย่างเช่น GRAB , Airbnb เป็นต้น แต่ขณะนี้มีรูปแบบวิธีการอื่นๆ เข้ามาช่วยในการระดมทุนรองรับให้ FinTech หรือ Startup ของประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ ด้านนางสาวปาลาวี บุนนาค Partner, International Legal Counsellors Thailand (ILCT) ILCT Advocates & Solicitors - International Legal Counsellors Thailand Ltd. นักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญด้านให้คำปรึกษาด้านการลงทุน เปิดเผยว่า การระดมทุนผ่านระบบโทเคนดิจิทัลสามารถทำได้รวดเร็ว โดยไม่จำเป็นที่จะต้องมีผลประกอบการที่ดีก่อนหน้า แต่จะต้องมีแนวคิด โครงการ และแผนดำเนินงานที่ดี รวมไปถึงการมีคำนวณ Feasibility ที่ดีด้วย โดยคาดว่าเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO) จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในทุกๆกลุ่มธุรกิจที่จะสามารถระดมทุนได้ง่ายขึ้น และในส่วนของผู้ลงทุนก็จะได้รับประโยชน์ในด้านของเงินปันผล และสิทธิพิเศษในการใช้บริการตามที่ผู้เสนอขายโทเคนกำหนดด้วย โดยในปัจจุบันเริ่มมีผู้ที่ทำวิจัยและคิดค้นเกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพต่างๆ โดยในกลุ่มนี้มีความต้องการที่จะออก ICO มากขึ้น


แท็ก นวัตกรรม   AIS  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ