นายธีระชาติ ก่อตระกูล CEO & Co-Founder, StockRadars Startup กล่าวในงานเสวนา SEC FinTech Virtual Seminar 2020 หัวข้อ"Fundraising in a digital age: เทรนด์การระดมทุนหลัง COVID-19" ว่า หลังจาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว มองว่าการระดมทุนในรูปแบบเหรียญดิจิทัลเพื่อใช้แลกกับบริการหรือสินค้า (Utility Token) จะมีมากขึ้น เนื่องจากนักลงทุนสามารถเข้าถึงและมีความเข้าใจมากขึ้น อีกทั้งด้วยความเป็นดิจิทัลสามารถกระจายไปยังนักลงทุนทั่วโลกให้สามารถเข้าถึงได้เพิ่มขึ้นด้วย
นอกจากนี้ การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลยังจะเข้าถึงได้มาก เนื่องจากมีเทคโนโลยี Blockchain เข้ามาช่วยสนับสนุน ซึ่งโดยปกติการลงทุนในตลาดหุ้นอาจจะต้องใช้เงินลงทุนสูงถึง 5,000-10,000 บาทในการเริ่มต้น แต่หลังจากนี้อาจจะใช้เงินในไม่มากในการเริ่มต้นลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล
"การที่เราสามารถเชื่อมสินทรัพย์ประเภทเดิมเข้ากับสินทรัพย์ประเภทใหม่ๆ จะช่วยเปิดประตูให้คนสามารถเข้ามาลงทุนได้มากขึ้น เพราะโลกหลังจากนี้จะไม่ลงทุนไม่ได้แล้ว แต่ทุกคนต้องมีความสามารถในการลงทุนเหมือนกับการว่ายน้ำ หรือการวิ่ง ที่ทุกคนต้องทำได้ และไม่มองว่าเป็นเรื่องไกลตัว"นายธีระชาติ กล่าว
ทั้งนี้ มองว่าจะส่งผลดีให้กับหลายๆ กลุ่ม อาทิ กลุ่มหมอที่ต้องการวิจัยและพัฒนาเรื่องใหม่ ๆ จากเดิมที่จะต้องใช้เงินกู้เพื่อเป็นทุน แต่หลังจากนี้สามารถระดมทุนผ่านสินทรัพย์ดิจิทัลได้ และหลังจากที่วิจัยสำเร็จก็สามารถนำสิทธิบัตรไปขายแก่บริษัทผู้ผลิตยา โดยนักลงทุนเองก็จะมีมูลค่าของโทเคนที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการลงทุนก็มีความเสี่ยงที่นักลงทุนต้องพิจารณาด้วย
นอกจากนั้น จากที่ผ่านมาการธุรกิจที่เป็น FinTech หรือ Startup ในต่างประเทศใช้ระยะเวลายาวนานก่อนที่จะเข้าเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ยกตัวอย่างเช่น GRAB , Airbnb เป็นต้น แต่ขณะนี้มีรูปแบบวิธีการอื่นๆ เข้ามาช่วยในการระดมทุนรองรับให้ FinTech หรือ Startup ของประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ ด้านนางสาวปาลาวี บุนนาค Partner, International Legal Counsellors Thailand (ILCT) ILCT Advocates & Solicitors - International Legal Counsellors Thailand Ltd. นักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญด้านให้คำปรึกษาด้านการลงทุน เปิดเผยว่า การระดมทุนผ่านระบบโทเคนดิจิทัลสามารถทำได้รวดเร็ว โดยไม่จำเป็นที่จะต้องมีผลประกอบการที่ดีก่อนหน้า แต่จะต้องมีแนวคิด โครงการ และแผนดำเนินงานที่ดี รวมไปถึงการมีคำนวณ Feasibility ที่ดีด้วย โดยคาดว่าเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO) จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในทุกๆกลุ่มธุรกิจที่จะสามารถระดมทุนได้ง่ายขึ้น และในส่วนของผู้ลงทุนก็จะได้รับประโยชน์ในด้านของเงินปันผล และสิทธิพิเศษในการใช้บริการตามที่ผู้เสนอขายโทเคนกำหนดด้วย โดยในปัจจุบันเริ่มมีผู้ที่ทำวิจัยและคิดค้นเกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพต่างๆ โดยในกลุ่มนี้มีความต้องการที่จะออก ICO มากขึ้น ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระบุว่า การระดมทุนด้วยการเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO) แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ 1. หน่วยอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างเพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (Cryptocurrency) ในสินค้า บริการ สินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ และสิทธิอื่นๆ 2. Token Digital แบ่งเป็น 2 รูปแบบคือ 2.1 Investment Token คือหน่วยอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างเพื่อกำหนดสิทธิในส่วนแบ่งรายได้ ผลกำไรจากการลงทุน ออกและเสนอขายผ่านกระบวนการ ICO และ 2.2 Utility Token คือโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์หน่วยอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างเพื่อกำหนดสิทธิในการได้รับสินค้าหรือบริการที่เฉพาะเจาะจง ออกและเสนอขายผ่านกระบวนการ ICO โดยนักลงทุนที่ซื้อและถือโทเคนจะได้รับสิทธิตามที่ระบุในเอกสารประกอบการเสนอขาย (White paper) โดยในเอกสารดังกล่าวจะมีการระบุรายละเอียดของโครงการต่างๆเอาไว้ด้วย แต่อย่างไรก็ตามโครงการที่เกิดขึ้นจะทำได้ตามที่ระบุนั้นหรือไม่ก็เป็นขึ้นอยู่กับผู้ดำเนินโครงการ การเสนอขาย ICO ก่อนที่จะมี พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ระดมจะเสนอขายโทเคนโดยตรงให้แก่นักลงทุน โดยนักลงทุนจะต้องพิจารณาความเสี่ยงด้วยตนเอง แต่ปัจจุบันหากมีผู้ต้องการระดมทุนผ่าน ICO ในประเทศไทยไม่สามารถเสนอขายให้แก่นักลงทุนโดยตรง แต่ต้องผ่านตัวกลางคือผู้บริการระบบเสนอขายโทเคน (ICO Portal) คือผู้ที่คัดกรองโครงการก่อนที่จะขออนุญาตต่อ ก.ล.ต. เพื่อป้องกันการหลอกลวงต่างๆ และยังเป็นผู้ตรวจสอบว่า Smart Contract สอดคล้องกับ White paper หรือไม่ นอกจากนี้ ICO Portal ยังมีหน้าที่ในการชี้แจงต่อ ก.ล.ต. และผู้ลงทุนหากผู้ออกโทเคนไม่ทำตามที่แสดงข้อมูลไว้ หรือใช้เงินไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ในการระดมทุน หรือไม่ปฎิบัตตามในช่วงระยะเวลา 1 ปี โดยโทเคนก็เหมือนกับตลาดหุ้นเช่นกัน คือมีตลาดแรกและตลาดรอง