GULF เผย Q1/63 พลิกขาดทุนจาก FX แต่กำไรดำเนินงานโตตามกำลังผลิตเพิ่ม,ตั้งบ.ย่อยรุกธุรกิจก๊าซฯ-เล็งออกหุ้นกู้กลางปี

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday May 15, 2020 09:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

GULF เผย Q1/63 พลิกขาดทุนจาก FX แต่กำไรดำเนินงานโตตามกำลังผลิตเพิ่ม,ตั้งบ.ย่อยรุกธุรกิจก๊าซฯ-เล็งออกหุ้นกู้กลางปี

บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) แจ้งผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 1/63 มีผลขาดทุนสุทธิ 413 ล้านบาท จากกำไรสุทธิ 1.29 พันล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน และกำไรสุทธิ 905 ล้านบาทในไตรมาส 4/62 เนื่องจากในไตรมาส 1/63 รับรู้ผลขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 1.34 พันล้านบาท เทียบกับผลกำไร 436 ล้านบาท และ 234 ล้านบาทในไตรมาส 1/62 และไตรมาส 4/62 จากการแปลงหนี้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐทั้งจำนวนเป็นเงินบาท ขณะที่เงินบาทอ่อนค่าลงอย่างมากในไตรมาสนี้ โดยผลขาดทุนดังกล่าวเป็นเพียงการบันทึกรายกรทางบัญชี ไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสดและผลประกอบการของกลุ่มบริษัทแต่อย่างใด

ขณะที่กำไรจากการดำเนินงาน (Core Profit) ในไตรมาส 1/63 อยู่ที่ 925 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 38% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/62

สำหรับกำไรจากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากรับรู้กำไร 12 โรงไฟฟ้าเอสพีพี ภายใต้กลุ่มบริษัท กัลฟ์ เอ็มพี จำกัด (GMP) ที่มีการขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( กฟผ.) และกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/62 ทั้งจากฐานลูกค้าเดิม และจากลูกค้ารายใหม่ที่เพิ่มขึ้นจากโรงไฟ้าเอสพีพี 2 แห่งที่เปิดดำเนินเชิงพาณิชย์ในเดือน พ.ค.62 และ ก.ค.62 นอกจากนี้ยังรับรู้กำไรจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ GTN1 และ GTN2 ในเวียดนามที่เปิดดำเนินการครบในปี 62 อีกด้วย

รวมถึงรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล กัลฟ์ จะนะ กรีน ที่ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในวันที่ 1 มี.ค.63 ที่ผ่านมา ทำให้ ณ สิ้นไตรมาส 1/63 มีโครงการโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการแล้วทั้งสิ้นตามสัดส่วนการถือหุ้น (Equity MW) เท่ากับ 2,726 เมกะวัตต์ (MW) หรือเพิ่มขึ้น 249 เมกะวัตต์ เมื่อเทียบกับ 2,477 เมกะวัตต์ในไตรมาส 1/62

ด้านต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติลดลงจาก 282.02 บาท/ล้านบีทียู ในไตรมาส 1/62 เป็น 267.38 บาท/ล้านบีทียู ในไตรมาส 1/63 ขณะที่ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ยังคงเท่าเดิมที่ -0.1160 บาท/หน่วย ทำให้บริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงขึ้น

ส่วนกำไรจากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/62 เนื่องจากส่วนแบ่งกำไรของบริษัท กัลฟ์ เจพี จำกัด (GJP) ไม่รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 31.7% จากไตรมาสก่อน จาก 470 ล้านบาทเป็น 619 ล้านบาท จากค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment) ที่เพิ่มขึ้นจากทั้ง 2 โรงไฟฟ้า IPP ได้แก่ โรงไฟฟ้า หนองแซง (GNS) และโรงไฟฟ้าอุทัย (GUT) รวม 3,200 เมกะวัตต์ แม้ว่าโครงการ GUT จะมีการหยุดซ่อมบำรุง B-inspection ก็ตาม

ประกอบกับ การหยุดซ่อมบำรุงหลัก (major overhaul) เพียงโครงการเดียวในไตรมาส 1/63 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/62 ที่มีโรงไฟฟ้าหยุดซ่อมบำรุงหลัก 3 โครงการ นอกจากนี้กลุ่มโรงไฟฟ้าเอสพีพี 7 แห่ง ภายใต้กลุ่ม GJP ยังมีปริมาณการขายไฟฟ้า ไอน้ำและน้ำเย็นให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นด้วย

ทั้งนี้ โครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างมีความคืบหน้าเป็นไปตามแผนงาน โดย IPP ทั้ง 2 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าศรีราชา (GSRC) และโรงไฟฟ้าปลวกแดง (GPD) รวม 5,300 เมกะวัตต์ มีกำหนดที่จะเปิดดำเนินการตามแผนระหว่างปี 64 ถึง 67 , โรงไฟฟ้าหินกอง ซึ่งเป็น IPP ขนาด 1,400 เมกะวัตต์ จะเริ่มก่อสร้างในปี 64 และมีกำหนดเปิดดำเนินการตามแผนในปี 67 และ 68, โรงไฟฟ้าบูรพาพาวเวอร์ ซึ่งเป็น IPP ขนาด 540 เมกะวัตต์ จะเริ่มก่อสร้างในปี 67 และมีกำหนดเปิดดำเนินการตามแผนในปี 70 โดยหลังจากที่ทุกโครงการเปิดดำเนินการแล้ว กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นจะเพิ่มขึ้นเป็น 7,781 เมกะวัตต์

ส่วนการพัฒนาโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น โครงการท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 และ โครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 (ท่าเทียบเรือ F) มีความคืบหน้าเป็นไปตามแผนการที่วางไว้ ด้านโครงการมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) คาดว่าจะมีการลงนามสัญญา PPP ในเดือนมิ.ย.63

นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ กรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน ของ GULF กล่าวว่า บริษัทคาดว่าโควิด-19 จะไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อภาพรวมผลประกอบการทั้งปี เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่ประมาณ 90% ขายให้ กฟผ. มีเพียงแค่ 10% ที่ขายให้ลูกค้าอุตสาหกรรม โดยในไตรมาส 1/63 ลูกค้าอุตสาหกรรมโดยรวมยังไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และบริษัทยังมีรายได้จากการไฟฟ้าให้กับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 6% จากไตรมาสก่อนอีกด้วย

นอกจากนี้ ลูกค้าอุตสาหกรรมยังมีการกระจายตัวอยู่ในหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรมและบริษัท ยังมีการขยายฐานลูกค้าอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม เฟส 1 ขนาด 30 เมกะวัตต์ ที่เวียดนาม ได้มีการเลื่อนกำหนดการเปิดดำเนินการจากสิ้นปี 63 ไปเป็นพ.ค.64 เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องการเดินทางของผู้รับเหมาจากประเทศจีนช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ทั้งนี้โครงการยังคงได้รับค่าไฟฟ้าในอัตรา 9.8 เซนต์/หน่วย ตามแผน

ขณะที่บริษัทยังมองหาโอกาสในการลงทุนทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่น ธุรกิจพลังงานทดแทน ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และธุรกิจสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โดยบริษัทมีแผนที่จะใช้กระแสเงินสด รวมถึงการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน หรือการออกหุ้นกู้ เพื่อรองรับการขยายธุรกิจดังกล่าว โดยมีแผนที่จะออกหุ้นกู้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาทกลางปีนี้ เนื่องจากอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนของบริษัทฯ ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำ 1.51 เท่า

GULF ยังได้แจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการเมื่อวานนี้ (14 พ.ค.) อนุมัติให้ตั้งบริษัทย่อยใหม่ ได้แก่ บริษัท กัลฟ์ แอลเอ็นจี จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท โดยบริษัทจะถือหุ้นในสัดส่วน 99.99% ของทุนจดทะเบียน ซึ่งบริษัทย่อยนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับก๊าซธรรมชาติ ซึ่งรวมถึงการจัดหา จัดจำหน่าย และการค้าก๊าซธรรมชาติ เพื่อรองรับการขยายธุรกิจก๊าซฯของบริษัทในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ