นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บมจ.ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส (FSMART) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 4/2563 เมื่อวันที่ 14 พ.ค.63 มีมติจัดตั้งบริษัทย่อย บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท ดิสทริบิวชั่น จำกัด โดยมี FSMART เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด เพื่อดำเนินธุรกิจขายสินค้าและบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับตู้บุญเติม เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งานเข้าถึงบริการและสินค้า และสนับสนุนให้ปีนี้บริษัทจะเติบโตตามแผนการดำเนินงาน
บริษัทมองว่าสถานการณ์โควิด-19 บริษัทฯ มองว่าเป็นปัจจัยเร่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมปกติแบบใหม่ (New Normal) เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ที่ต้องการลดการติดต่อผู้คนโดยตรง สอดคล้องกับการบริการของตู้บุญเติมที่เน้นการใช้บริการผ่านตู้อัตโนมัติต่างๆ ด้วยตนเอง(Self-Service) มาโดยตลอด
ทั้งนี้ New Normal จะเป็นแนวทางการดำเนินงานให้บริษัทเร่งผลักดันการทำงานตามแผนงานให้เร็วขึ้น ด้วยการใช้จุดแข็งที่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งซอร์ฟแวร์และฮาร์ดแวร์ให้ตู้บุญเติมเป็นจุดให้บริการทางการเงินครบวงจร ได้แก่ ฝาก ถอน โอน จ่าย และเปิดบัญชีได้ในตู้เดียว อีกทั้งเป็นจุดเติมเงิน รับชำระอัตโนมัติ และจำหน่ายสินค้าแบบเบ็ดเสร็จ ทั้งเติมเงิน เติมเกมส์ จำหน่ายซิมการ์ด บริการคุ้มครองสุขภาพ และบริการด้านความบันเทิง เป็นต้น และพร้อมร่วมมือกับพันธมิตรต่าง ๆ เพื่อเร่งผลักดันธุรกิจของทั้ง 3 กลุ่มของบริษัท ให้สอดคล้องไปกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
สำหรับผลประกอบการไตรมาส 1/63 บริษัทมีรายได้รวม 729 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 127 ล้านบาท ลดลง 8.7% และ 15.4% ตามลำดับจากไตรมาสเดียวกัน 62 ที่มีรายได้ 799 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 150 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากยอดเติมเงินมือถือที่ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจและผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื่อไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อรายได้และพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป ขณะที่กำไรสุทธิที่ลดลงส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบจากมาตรฐานการบัญชีใหม่
ขณะที่แนวโน้มของบริการและกลุ่มธุรกิจอื่นยังมีการเติบโตมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจบริการทางการเงินจากการเป็นตัวแทนธนาคาร (Banking Agent) ที่มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 44.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ด้วยจำนวนรายการโอนเงินต่อเดือนมากกว่า 1.4 ล้านรายการต่อเดือน จาก 6 ธนาคารที่ให้บริการ
รวมถึงบริการสินเชื่อรายย่อยส่วนบุคคลกับกลุ่มตัวแทนตู้บุญเติม พนักงานของตัวแทนและพนักงานของบริษัทในเครือที่เริ่มมีรายได้เข้ามา เช่นเดียวกับการเพิ่มขึ้นของการใช้แพ็คเกจอินเตอร์เน็ตมือถือ การใช้บริการจำหน่ายซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือพร้อมระบบพิสูจน์ตัวตน (e-KYC) และการใช้บริการใหม่ ๆ หน้าตู้บุญเติม อาทิ การขายประกันภัยต่าง ๆ ที่ช่วยเพิ่มความถี่ในการใช้บริการ ควบคู่กับแคมเปญส่งเสริมการตลาดที่ได้รับการตอบรับที่ดี ส่งผลให้ยอดทำรายการผ่านตู้รวมมากกว่า 1.7 ล้านรายการต่อวัน และผู้ใช้บริการกว่า 23 ล้านเลขหมาย จากตู้บุญเติมจำนวนกว่า 130,357 ตู้ทั่วประเทศ
สำหรับการดำเนินงานในปีนี้ บริษัทยังเดินหน้าขยายการติดตั้งตู้บุญเติมเพิ่มในทำเลคุณภาพอีกประมาณ 1,000-2,000 ตู้ และเพิ่มความถี่ในการใช้งานด้วยบริการใหม่ต่อเนื่อง รวมถึงการเป็นตัวแทนธนาคาร (Banking Agent) เพิ่ม 1 ธนาคารจากปัจจุบัน 6 ธนาคาร เพื่อสร้างการเติบโต 40-45% ในปีนี้ และจะดำเนินการปล่อยสินเชื่อในวงเงิน 400-600 ล้านบาท สำหรับรายย่อย เฉพาะกลุ่มตัวแทนบุญเติม พนักงานของตัวแทนและพนักงานของบริษัทในเครือ รวมถึงเร่งธุรกิจกระจายสินค้าให้กับร้านค้าปลีกชุมชน (โชห่วย) และธุรกิจตู้น้ำมันอัตโนมัติแบบบริการตนเองที่เป็นธุรกิจใหม่ที่สอดรับกับวิถี New Normal ในปัจจุบัน