KBANK ตั้งเป้ารักษามาร์เก็ตแชร์หุ้นกู้ปีนี้ 20% แม้คาดหุ้นกู้ออกใหม่ลดเหลือ 9 แสนลบ. รับผลจากโควิด-19

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday May 18, 2020 13:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธิติ ตันติกุลานันท์ ผู้บริหารสายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินในวงกว้าง แม้กระทั่งตลาดตราสารหนี้ก็ได้รับผลกระทบในเชิงลบในช่วงที่ผ่านมา เริ่มจากการที่ราคาตราสารหนี้ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบถึงมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุน และทำให้ผู้ลงทุนหรือผู้ถือหน่วยลงทุนเกิดความไม่มั่นใจ และเร่งขายหน่วยลงทุนอย่างหนักในช่วงกลางเดือนมี.ค. 63 ส่งผลให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ต้องรีบขายตราสารหนี้ที่ตนถือครองอยู่ในตลาดรอง และยอมขายในราคาต่ำ เพื่อนำเงินที่ได้จากการขายมาคืนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน ทั้งยังลดการลงทุนตราสารหนี้ออกใหม่เพื่อรักษาสภาพคล่อง ซึ่งทำให้ความต้องการลงทุนชะลอตัวไปด้วย

สำหรับในปี 63 ธนาคารกสิกรไทย คาดว่าจะมีหุ้นกู้ระยะยาวภาคเอกชนออกใหม่จำนวน 9 แสนล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นกู้ที่ออกใหม่จำนวน 4 แสนล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกทดแทน (Rollover) จำนวน 5 แสนล้านบาท ซึ่งลดลงจากปีก่อนที่มีการออกหุ้นกู้ในระดับ 1.8 ล้านล้านบาท ถือเป็นการลดลงครั้งแรกตั้งแต่ปี 58 มาจากแผนการลงทุนของผู้ออกหุ้นกู้ที่เลื่อนหรือยกเลิกไป ทำให้การระดมทุนผ่านตราสารหนี้ชะลอออกไปด้วย ขณะที่ผู้ออกหุ้นกู้ในบางอุตสาหกรรม เช่น ภาคการท่องเที่ยว ภาคอสังหาริมทรัพย์ อาจยังไม่ได้รับการตอบรับจากผู้ลงทุน

ขณะเดียวกันธนาคารยังตั้งเป้าที่จะเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ที่มียอดจัดจำหน่ายสูงสุด และมีส่วนแบ่งทางการตลาด (Market Share) ที่ 20% ของมูลค่าการเสนอขายทั้งตลาดในปีนี้ จากปัจจุบันมี Market Share ที่ 15% อย่างไรก็ตามธนาคารยังคงจับตามองและประเมินผลกระทบจากโควิด-19 ต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจ ผู้ออกหุ้นกู้ และตลาดตราสารหนี้อย่างใกล้ชิด

นายธิติ กล่าวว่า การออกตราสารหนี้ในตลาดแรก มูลค่าการออกใหม่ของหุ้นกู้ระยะยาวภาคเอกชนลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย. 63) โดยลดลงถึง 41% จาก 3.1 แสนล้านบาท ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 62 มาอยู่ที่ 1.8 แสนล้านบาทในช่วง เป็นผลจากผู้ออกหุ้นกู้หลายรายตัดสินใจเลื่อนหรือชะลอการออกหุ้นกู้จากเดิมที่วางแผนไว้ในช่วงเดือนมี.ค.-พ.ค. 63 เพื่อรอสภาพตลาดที่ดีขึ้น บางรายหันไปใช้วงเงินสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์แทนในช่วงที่การออกหุ้นกู้มีความท้าทาย เนื่องจากความต้องการลงทุนของผู้ลงทุนสถาบันที่ลดลงเป็นอย่างมาก

โดยเฉพาะความต้องการจากผู้ลงทุนในกลุ่มสถาบันในประเทศ คือ บลจ.ที่มีความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น ในขณะที่ผู้ลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดา จะสังเกตได้ว่าเน้นการลงทุนไปยังหุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตดีมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะได้ผลตอบแทนที่น้อยลง ส่งผลให้หุ้นกู้ที่ไม่มีอันดับความน่าเชื่อถือหรือสำหรับหุ้นกู้อันดับความน่าเชื่อถือต่ำ แม้ว่าผู้ออกหุ้นกู้จะยอมให้อัตราผลตอบแทนในระดับสูง แต่ก็มียอดซื้อที่ไม่สูงตามเป้าหมาย

ขณะที่มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV) ของกองทุนรวมของไทยทั้งระบบ ในไตรมาส 1/63 ลดลงราว 8 แสนล้านบาท หรือลดลง 15.30% จาก 5.4 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 62 มาอยู่ที่ 4.6 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับ NAV เมื่อ 4 ปีที่แล้วหรือเมื่อปี 59 โดยในเดือนมี.ค.เพียงเดือนเดียว NAV ลดไปถึง 7 แสนล้านบาท เฉพาะกองทุนรวมตราสารหนี้มีเงินไหลออกสูงถึง 4.5 แสนล้านบาท แต่ในปัจจุบันแรงเทขายกองทุนชะลอลงแล้ว และตลาดเริ่มกลับมาสู่ภาวะปกติมากขึ้น หลังจากที่ทางการทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นฝั่งรัฐบาลหรือธนาคารกลางที่ออกมาตรการทั้งทางการคลังและการเงินเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบ

สำหรับสถานการณ์ล่าสุดความกังวลของผู้ลงทุนปรับลดลงบ้าง ตามมาตรการจากรัฐบาลและธนาคารกลางที่ออกมาพร้อม ๆ กันทั่วโลกเพื่อสร้างความเชื่อมั่น ทำให้เริ่มเห็นการกลับมาลงทุน แต่เฉพาะในสินทรัพย์ที่มีคุณภาพดี หรือสำหรับตราสารหนี้ ต้องเป็นตราสารหนี้ที่เป็นรู้จักและมีอันดับความน่าเชื่อถือสูง เช่น พันธบัตรรัฐบาล รุ่นเราไม่ทิ้งกัน หุ้นกู้ของบมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) และหุ้นกู้ของบมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ซึ่งธนาคารกสิกรไทยร่วมเป็นหนึ่งในผู้จัดการการจัดจำหน่ายตราสารหนี้เหล่านี้ด้วย โดยเฉพาะการตอบรับการจองซื้อพันธบัตรรัฐบาล รุ่นเราไม่ทิ้งกัน เฟสแรก ที่มีผู้ลงทุนสนใจอย่างมาก และคาดว่าสามารถขายหมดไม่เหลือถึงเฟส 2

นอกจากนี้ธนาคารยังมีกำหนดการเสนอขายตราสารหนี้ และหุ้นกู้เอกชน ในช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย.นี้ และคาดว่าตราสารหนี้เหล่านี้จะได้รับการตอบรับจากนักลงทุนค่อนข้างดี อย่างไรก็ตามประเด็นที่น่าสนใจ คือ แม้ว่าสถานการณ์โดยรวมปรับตัวดีขึ้นบ้าง และความต้องการลงทุนเริ่มกลับมาดีขึ้น แต่ต้นทุนของการออกหุ้นกู้นั้นไม่ได้ปรับลดลงตาม แต่มาอยู่ในระดับที่เรียกว่า New Normal ซึ่งสะท้อนถึงความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นและส่งผ่านมายังส่วนต่างอัตราผลตอบแทน (Credit Spread) ที่เพิ่มขึ้น 0.20–1.75% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 โดย Credit Spread ที่สูงขึ้นนั้นขึ้นอยู่กับรุ่นอายุ อันดับความน่าเชื่อถือ รวมถึงอุตสาหกรรมของผู้ออก ว่ามีโอกาสได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจถดถอยหรือจากโควิด-19 มากน้อยเพียงใด

ในส่วนของความเสี่ยงในปี 63 มีหุ้นกู้ระยะยาวภาคเอกชนที่ครบกำหนดไถ่ถอนสูงถึง 6 แสนล้านบาท (ไม่รวมหุ้นกู้ของธนาคารพาณิชย์ที่ครบกำหนดกว่า 1 แสนล้านบาท) ในส่วนนี้มีหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับ BBB+ ลงมา จำนวน 1.8 แสนล้านบาท ซึ่งบางรายอาจมีความยากลำบากในการออกทดแทน (Rollover) หุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอน หรือแม้แต่ผู้ออกหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูงกว่านี้ แต่อยู่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิด-19 ก็อาจเผชิญกับความท้าทายในการออกทดแทนหรือออกหุ้นกู้ใหม่เนื่องจากความต้องการในตลาดมีไม่มากพอ

"ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดก็ตามความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ก็จะมากขึ้น โดยในช่วงนี้จะเห็นได้ว่ามีผู้ออกหุ้นกู้บางรายที่ขอเลื่อนวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้กับผู้ถือหุ้นกู้แล้ว แต่ทางธนาคารหรือแม้แต่ภาครัฐก็มีมาตรการช่วยเหลือต่างๆเพื่อบรรเทาผลกระทบด้านเงินทุน รักษาสภาพคล่องของตลาดการเงิน และรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน"นายธิติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการอย่างกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (Corporate Bond Stabilization Fund: BSF) และการสนับสนุนสภาพคล่องให้กับสถาบันการเงินที่ให้ความช่วยเหลือแก่กองทุนรวมตราสารหนี้ (Mutual Fund Liquidity Facility: MFLF) เพื่อลดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่ง BSF มีวัตถุประสงค์ให้เป็นแหล่งเงินสำรองชั่วคราวและแหล่งเงินทุนสุดท้าย (Last Resort)

นายธิติ ประเมินว่า มาตรการดังกล่าวมีผลดีต่อจิตวิทยาของทั้งตลาด แต่ด้วยกลไกการให้ความช่วยเหลือที่มีรายละเอียดค่อนข้างมาก คาดว่าจะมีผู้ออกหุ้นกู้มาขอรับความช่วยเหลือผ่านช่องทางนี้ในจำนวนจำกัด ในขณะที่การใช้เงินช่วยเหลือผ่านมาตรการ MFLF ของกองทุน มีมูลค่าคงค้างสูงสุดเมื่อช่วงปลายเดือนเม.ย.ที่ 5.6 หมื่นล้านบาท และยอดคงค้างล่าสุดลดลงอยู่ที่ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท สะท้อนถึงภาวะสภาพคล่องที่ผ่อนคลายมากขึ้น

ขณะที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดว่าจะพิจารณาปรับลดลงเหลือ 0.5% ต่อปี จากปัจจุบันที่ 0.75% ต่อปี ซึ่งมองว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจะไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้มาก แต่จะกระทบต่อกลุ่มเงินฝากบัญชีธนาคารมากกว่า ซึ่งในส่วนของตลาดตราสารหนี้น่าจะได้รับผลบวกในการที่คนจะมองหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าการฝากเงินปกติในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ

ทั้งนี้ในระยะต่อไปความไม่แน่นอนจากประเด็นโควิด-19 จะเป็นตัวแปรสำคัญที่กำหนดทิศทางของตลาด และอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ในช่วงที่เหลือของปี เมื่อใดที่การระบาดเริ่มควบคุมได้อย่างถาวร สถานการณ์เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยื่งเมื่อมีการค้นพบยารักษา หรือวัคซีนโควิด-19 คาดว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนของตลาดตราสารหนี้อีกครั้ง เนื่องจากอาจผลักดันให้นักลงทุนกลับไปหาสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้นได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ