นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในวันนี้ มีมติเห็นชอบแนวทางการฟื้นฟูกิจการของ บมจ.การบินไทย (THAI) เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันพรุ่งนี้ (19 พ.ค.) โดยหลักการคือการให้ THAI เข้าสู่กระบวนการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ไม่ใช่การให้บริษัทล้มละลาย แต่เป็นการปรับโครงสร้างหนี้โดยอาศัย พ.ร.บ.ล้มละลาย เพื่อฟื้นฟูกิจการ
นายอนุทิน ชี้แจงว่า ในหลักการของการแก้ไขปัญหาธุรกิจของ THAI กระทรวงการคลังไม่ควรค้ำประกันเงินกู้ เพราะ THAI ถือเป็นบริษัทมหาชน
แต่ส่วนการเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการจะทำให้ THAI ต้องหลุดออกจากการเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่นั้น นายอนุทิน กล่าวว่า ตามขั้นตอนก็ควรจะเป็นอย่างนั้น เพราะจะต้องมีการเจรจาตกลงกันระหว่างเจ้าหนี้และผู้จัดทำแผนฟื้นฟูฯ และเมื่อเข้าสู่แผนฟื้นฟูฯ แล้ว อำนาจของคณะกรรมการฯ เพราะอำนาจการบริหารทั้งหมดจะอยู่ที่ผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ ซึ่งศาลจะเป็นผู้แต่งตั้งตามคำแนะนำของเจ้าหนี้ อีกทั้งแผนฟื้นฟูฯ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้
ส่วนจะมีผลกระทบกับพนักงานหรือไม่นั้น นายอนุทิน กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับผลประกอบการ กำไร ขาดทุน และเส้นทางการบิน ซึ่งผู้ทำแผนจะต้องมีการพูดคุยตกลงกับพนักงานการบินไทยทุกฝ่าย เพราะจะทำหน้าที่เปรียบเสมือนเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของบริษัทในปัจจุบัน
"การฟื้นฟูกิจการสำหรับบริษัทที่มีหนี้สิ้นเยอะเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะได้ไม่ต้องหยุดดำเนินกิจการ หรือไม่ต้องขายทอดทรัพย์สิน จะได้ไม่ต้องชำระหนี้ ภาษาเทคนิคเรียกว่า automatic stay ทุกอย่างหยุดหมด เจ้าหนี้รายไหนก็ไม่สามารถมาเรียกขอชำระหนี้ได้" นายอนุทิน กล่าว
ด้าน น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้รับทราบผลการประชุม คนร. เรื่องแผนการฟื้นฟู THAI แล้ว ขจึงได้ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ไปจัดเตรียมรายละเอียดเกี่ยวกับการดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ทั้ง 82 แห่งที่ลงทุนในหุ้นกู้ของ THAI เพื่อแถลงรายละเอียดในแต่ละมาตรการในช่วงบ่ายวันพรุ่งนี้
"หลังจากนายกรัฐมนตรีแถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีในเรื่องการฟื้นฟู บมจ.การบินไทย แล้วเสร็จ จะมีการแถลงรายละเอียดในมาตรการทั้งหมดที่จะนำมาดูแล 82 สหกรณ์ เพื่อสร้างความเข้าใจกับสหกรณ์ออมทรัพย์ และประชาชนที่สนใจในเรื่อง บมจ.การบินไทย ในส่วนที่ได้กำกับดูแล และหลังจากนั้นจะนัด 82 สหกรณ์ออมทรัพย์มาหารือทิศทางการทำงานร่วมกันระหว่างกรมส่งเสริมสหกรณ์กับสหกรณ์เจ้าหนี้ในระยะต่อไป" น.ส.มนัญญา กล่าว
สำหรับ 82 สหกรณ์ออมทรัพย์ที่ลงทุนในหุ้นกู้ บมจ.การบินไทย มูลค่าการลงทุน 42,229 ล้านบาท คิดเป็น 3.62% ของสินทรัพย์ที่สหกรณ์เหล่านั้นมี 1.17 ล้านล้านบาท โดยมีเพียง 7 แห่งที่ลงทุนในสัดส่วนมากกว่า 10% ของสินทรัพย์ และมีเพียง 15 สหกรณ์หรือ 18% ที่สภาพคล่องน้อยกว่า 10% ที่เหลืออีก 67 สหกรณ์มีสภาพคล่องมากกว่านั้น โดยหุ้นกู้ที่ 82 สหกรณ์จะมีกำหนดไถ่ถอนต่างช่วงเวลากันตามอายุสัญญาหุ้นกู้นั้นๆ ระหว่างปี 63-77