นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส (ASPS) กล่าวว่า แนวโน้มกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในปี 63 จะมีการปรับประมาณการลดลงเป็นครั้งที่ 4 ทั้งประมาณการของบล.เอเซีย พลัส และบริษัทหลักทรัพย์รายอื่น หลังจากการประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 1/63 ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯที่ออกมาแล้วคิดเป็น 95% ของมูลค่าตลาด (Market Cap) มีกำไรสุทธิ 1.11 แสนล้านบาท ลดลง 58% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 2.6 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าคาดการณ์ในสมมติฐานที่แย่ที่สุดที่ 1.5-1.6 แสนล้านบาท ทำให้มีโอกาสสูงที่จะปรับประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนในปี 63 ลง จากเดิมที่คาดว่าอยู่ที่ 7-8 แสนล้านบาท
ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 1/63 ถูกกดดันจากกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจพลังงานที่มีสัดส่วน 1 ใน 3 ของมูลค่าตลาด ซึ่งได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงแรง ทำให้เกิดการขาดทุนสต็อกน้ำมัน และผลการดำเนินงานพลิกเป็นขาดทุนส่วนใหญ่ กระทบต่อภาพรวมผลการดำเนินงานอย่างมีนัยสำคัญ
ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/63 คาดว่าจะฟื้นขึ้นมาจากไตรมาส 1/63 หลังแรงกดดันจากราคาน้ำมันเริ่มผ่อนคลายลง เนื่องจากในช่วงไตรมาส 2/63 ราคาน้ำมันเริ่มทยอยฟื้นขึ้นมา ส่งผลบวกต่อกลุ่มธุรกิจพลังงานที่จะมีผลการดำเนินงานฟื้นกลับมาตามทิศทางน้ำมัน ซึ่งจะเข้ามาช่วยหนุนภาพรวมของผลการดำเนินงาน
อย่างไรก็ตามในช่วงไตรมาส 2/63 จะเผชิญแรงกดดันจากผลกระทบของโควิด-19 ที่จะรับรู้เข้ามาเต็มที่ และกระทบในกลุ่มธุรกิจที่เป็น Real sector อย่างมาก จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และการใช้มาตรการล็อกดาวน์ในช่วงต้นไตรมาส ก่อนจะเริ่มทยอยผ่อนคลายในเดือนพ.ค. แต่แรงกดดันของกลุ่มธุรกิจ Real sector น่าจะไม่กระทบภาพรวมของผลการดำเนินงานบริษัทจดทะเบียนมาก เมื่อเทียบกับแรงกดดันจากกลุ่มพลังงานในไตรมาสแรกเพราะมีสัดส่วนของมูลค่าตลาดอยู่ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับกลุ่มพลังงาน
ด้านแนวโน้มของกระแสเงินทุนไหลออกจากตลาดทุนไทยในปัจจุบันยังถือว่าเห็นการไหลออกอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันเป็นที่น่าสังเกตว่าเมื่อนักลงทุนต่างชาติทยอยขายหุ้นไทยออกไป แรงซื้อของนักลงทุนสถาบันในประเทศเริ่มแผ่วลงจากช่วงแรกที่นักลงทุนสถาบันในประเทศจะซื้อในสัดส่วนที่สูงเฉลี่ย 70-80% แต่ปัจจุบันแรงซื้อจากนักลงทุนสถาบันในประเทศลดลงเหลือน้อยกว่า 50% ทำให้ดัชนี SET ยังไม่สามารถปรับขึ้นไปยืนเหนือระดับ 1,300 จุด ได้อย่างมั่นคง
โดยที่ความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่กดดันต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทยนั้นมองว่ามาจากโอกาสของการเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ เชิงเทคนิค (Recession Rebound) ที่มีโอกาสเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย หากตัวเลขเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 2/63 ออกมาติดลบเป็นสองไตรมาสติดต่อจากไตรมาส 1/63 ที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ออกมา -1.8% ซึ่งมีโอกาสที่ GDP ไตรมาส 2/63 จะติดลบอย่างแน่นอน เพราะเป็นไตรมาสที่รับผลกระทบของโควิด-19 เข้ามาเต็มที่
สถานการณ์โควิด-19 กระทบต่อภาคธุรกิจที่ถือว่ามีสัดส่วนมากในโครงสร้างเศรษฐกิจไทย คือ ภาคส่งออก และภาคท่องเที่ยว โดยที่ภาคการส่งออกจะเห็นการผลกระทบที่ชัดเจนมากขึ้นในไตรมาส 2/63 ซึ่งมีโอกาสติดลบได้ เพราะโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งปิดการผลิตชั่วคราว และการล็อกดาวน์ของหลายๆประเทศ ทำให้กิจกรรมการส่งออกไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ แม้ว่าในช่วงไตรมาส 1/63 การส่งออกไทยจะโตขึ้น 1.5% แต่เป็นการเติบโตจากการส่งออกทองคำที่มีราคาสูงขึ้น
ส่วนภาคการท่องเที่ยวยังคงรับแรงกดดันเข้ามาอย่างต่อเนื่องจากไตรมาส 1/63 เนื่องจากยังมีการปิดไม่ให้เดินทางระหว่างประเทศไปจนถึงสิ้นเดือนมิ.ย.นี้ และนักท่องเที่ยวในประเทศยังไม่กลับมาท่องเที่ยวเหมือนช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 แม้ว่าปัจจุบันภาครัฐจะผ่อนคลายมาตรการลงบ้าง แต่การให้ความสำคัญกับ Social Distancing ยังคงมีการควบคุมอยู่ ทำให้การใช้บริการในสถานที่ต่างๆไม่สามารถเข้าไปใช้บริการได้เต็มที่เหมือนปกติ และการโดยสารเครื่องบิน และรถโดยสารก็ไม่สามารถบรรทุกคนได้เต็มที่ ทำให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยวยังคงไม่สามารถเปิดบริการได้อย่างเต็มที่
ขณะเดียวกันการประเมินเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ประกาศออกมาถือว่าติดลบสูงถึง -6.7% มากกว่าประมาณการเศรษฐกิจไทยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ -5.3% และของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ที่ -5% ถึง -6% ซึ่งทำให้ความน่านสนใจในการเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยลดลง เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคที่ IMF ประเมินว่ายังเห็นการเติบโตได้แม้มีแรงกดดันจากโควิด-19 เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโนีเซีย จีน และอินเดีย
สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายคาดว่าในวันพรุ่งนี้ (20 พ.ค. 63) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% มาอยู่ที่ 0.50% ต่อปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 0.75% ต่อปี ซึ่งค่อนข้างมีโอกาสสูงจากภาวะเศรษฐกิจที่เผชิญอยู่ และจากตัวชี้วัดแนวโน้มการลดอัตราดอกเบี้ยของกนง.ที่สะท้อนออกมาจากอัตราผลตอบแทนของพันธบัตร (Bond yield) อายุ 1 ปี ของไทยในช่วงเช้าวันนี้ (19 พ.ค. 63) อยู่ที่ 0.567% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยหากกนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงพรุ่งนี้