นายถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิจัย บล.กรุงไทย ซีมิโก้ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้ปรับขึ้นในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียที่เช้านี้ต่างปรับตัวขึ้นกันทั่วหน้า หลังจากที่ช่วงนี้ไม่ค่อยมีปัจจัยลบ แต่ปัจจัยบวกก็เป็นเรื่องเดิมในการผ่อนคลายล็อกดาวน์ทำให้เศรษฐกิจฟื้น และคาดหวังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมาตรการเศรษฐกิจเพิ่มหลังเศรษฐกิจสหรัฐฯยังไม่ค่อยดี อีกทั้งให้ติดตามการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน ที่จะเริ่มมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (22 พ.ค.) ซึ่งจะมีการประชุม 2 วัน ก็คาดว่าจะน่าจะพูดในเชิงบวกในการเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจจีน
ส่วนบ้านเราในทางเทคนิคยังไม่ Overbought ทำให้ยังเห็นทิศทางที่จะปรับขึ้นไปได้อีก ซึ่งขณะนี้คนก็เริ่มสนใจที่จะซื้อหุ้นที่ปรับตัวลงไปแรงและดีดตัวขึ้นเร็ว ซึ่งเป็นลักษณะของ Quiz return เป็นหุ้นขนาดกลาง-เล็ก เพราะช่วงนี้ข่าวร้ายมีน้อย เทคนิคหนุน ก็น่าจะทำให้เกิดแรงเก็งกำไรได้ โดยอาจจะอิงเรื่องผลประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามตลาดคาดไว้ ซึ่งเป็นผลดีต่อกลุ่มเช่าซื้อ, พวกกอง REIT เป็นต้น ทำให้ต้นทุนถูกลง โดยนักลงทุนช่วงนี้คงจะเล่นไปตามตลาดมากกว่า อย่างไรก็ดี ต้องระวังในเรื่องการเพิ่มทุนที่น่าจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะพวกท่องเที่ยว
พร้อมให้แนวรับ 1,306-1,300 จุด ส่วนแนวต้าน 1,327-1,337 จุด
ประเด็นพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (20 พ.ค.63) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 24,575.90 จุด เพิ่มขึ้น 369.04 จุด (+1.52%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,971.61 จุด เพิ่มขึ้น 48.67 จุด (+1.67%) ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 9,375.78 จุด เพิ่มขึ้น 190.67 จุด (+2.08%)
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 97.44 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน เพิ่มขึ้น 6.98 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง เพิ่มขึ้น 128.96 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน เพิ่มขึ้น 25.41 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 13.56 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 17.58 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย เพิ่มขึ้น 2.37 จุด
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (20 พ.ค.63) 1,322.20 จุด เพิ่มขึ้น 12.25 จุด (+0.94%))
- นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 2,673.43 ล้านบาท เมื่อวันที่ 20 พ.ค.63
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ก.ค. ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (20 พ.ค.63) ปิดที่ 33.49 ดอลลาร์/บาร์เรล พุ่งขึ้น 1.53 ดอลลาร์ หรือ 4.8%
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (20 พ.ค.) อยู่ที่ 0.07 ดอลลาร์/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 31.87/89 อ่อนค่าเล็กน้อยจากวานนี้ มองกรอบวันนี้ 31.75-31.95 จับตา Fund Flow
- มติ กนง. 4 ต่อ 3 เสียง "ลด" ดอกเบี้ยนโยบายสู่ 0.5% ต่ำสุดในประวัติการณ์ หวังลดภาระครัวเรือน-ภาคธุรกิจ พร้อมจี้แบงก์เร่งปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุก ห่วง "บาทแข็ง" รั้งการเติบโตเศรษฐกิจ ด้านศูนย์วิเคราะห์ทีเอ็มบี ชี้เดือนพ.ค. บาทแข็งค่าสุดในภูมิภาค เผยแรงเก็งกำไรจากห้องค้าเงิน หลังประเมินแนวโน้ม ท่องเที่ยวไทยอาจกลับมาได้เร็ว ด้านแบงก์กรุงเทพหั่นดอกเบี้ยเงินกู้ 3 ประเภท มีผลวันนี้
- สมช.จ่อประชุมพิจารณาขยาย "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน - มาตรการคลายล็อกเฟส 3" คาดเริ่มช่วงเดือน มิ.ย. ยึดความปลอดภัยควบคู่เศรษฐกิจ ขณะที่ กทม.ถกมาตรการวางแนวปฏิบัติ "หน่วยงานขนส่ง" ล่าสุดไทยพบติดเชื้อใหม่เพิ่ม 1 ราย
- บอร์ด รฟม.อนุมัติขยายเวลาก่อสร้าง โมโนเรล "สายสีชมพู" ออกไปอีก 1 ปี เหตุส่งมอบพื้นที่ล่าช้า เผยจุดสถานีวัดพระศรีฯ หนักสุด ยันแผนเปิดเดินรถช่วงแรก ต.ค. 64 จากมีนบุรี-ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ สั่งประเมินผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ก่อนเคาะต่อเวลาลดค่าตั๋ว "สีม่วง"
- ส.อ.ท.เปิดดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เม.ย.ลดต่ำสุดในรอบ 11 ปี ลุ้นคลายล็อกเฟส 2 ดัน พ.ค.ปรับตัวดีขึ้น ด้านยอดผลิตรถยนต์ลดลง 83.55% ต่ำสุดรอบ 30 ปี ชี้ประชาชนอยู่บ้าน ไม่อยากใช้เงิน โชว์รูมแทบจะไม่มีคนไปซื้อ ห่วงทั้งปีไม่ถึง 1 ล้านคัน
- นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยไตรมาส 1 ปี 2563 เป็นช่วงเวลาที่สะท้อนผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ต่อการลงทุนในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และการซื้อขายที่อยู่อาศัยอย่างเป็นรูปธรรม โดยภาพรวมชะลอตัวลงทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทาน ซึ่งเป็นการปรับสมดุลของตลาด ลดความเสี่ยงปัญหาอุปทานส่วนเกิน โดยพบว่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศในช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 มีหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์จำนวน 89,024 ยูนิต ลดลงจากไตรมาส 4/62 ประมาณ 16.7% แต่เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปี 2562 จะเพิ่มขึ้น 2.5% โดยมีมูลค่ารวม 210,294 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 4/62 ที่ 20.6% แต่เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปี 2562 จะเพิ่มขึ้น 6.4% โดยการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยประเภทห้องชุดมีสัดส่วนใกล้เคียงกับบ้านเดี่ยว แต่มูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์บ้านเดี่ยวมีสัดส่วนสูงที่สุด
*หุ้นเด่นวันนี้
- HANA (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"อยู่ระหว่างปรับราคาเป้าหมายขึ้น เบื้องต้น 34-36 บาท กลุ่มอิเล็คทรอนิกส์เป็นหนึ่งในไม่กี่กลุ่มที่กำไรปกติ Q1/63 โตแรง โควิด-19 กระทบขนส่งในช่วง ก.พ.-เม.ย. ชั่วคราว เชื่อว่าเป็นกลุ่มที่ฟื้นตัวได้เร็วหลัง reopen ส่วนกำไรปกติของ HANA Q1/63 ดีกว่าฟินันเซีย และตลาดคาดมาก +11% Q-Q, +66% Y-Y จากอัตรากำไรขั้นต้นที่ 15.4% สูงสุดในรอบ 6 ไตรมาส แนวโน้ม Q2/63 อาจชะลอ Q-Q เพราะ Lock down แต่มี demand สินค้า Consumer products สูง โดยอยู่ระหว่างปรับประมาณการไปใช้เป้าปีหน้า
- AP (กรุงศรี) "ซื้อ"เป้า 8.5 บาท ได้ Sentiment บวกจากอัตราดอกเบี้ยลดลง ราคาหุ้นยัง Laggard และจ่ายปันผลสูงประมาณ 8% ด้านผลประกอบการคาดกำไรสุทธิของ AP จะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเพราะมี Backlog รอโอนมากที่สุด สวนทางกับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ในกลุ่มที่กำไรสุทธิน่าจะหดตัวแรงในปีนี้ เบื้องต้นคาดกำไรสุทธิปีนี้ประมาณ 3,334 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 8.7%yoy