นายบุญชัย ปัณฑุรอัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซาบีน่า (SABINA) กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่บริษัทได้ปรับตัวเป็น New Business จากที่ปรับไลน์การผลิตบางส่วนมาผลิตหน้ากากผ้าแทนการผลิตชุดชั้นใน ทำให้สามารถมีกระแสเงินสดเข้ามาต่อเนื่อง ขณะที่เพิ่มช่องทางขายออนไลน์มากขึ้นหลังจากที่ปิดห้างร้านไป 2 เดือน โดยคาดว่าในไตรมาส 2/63 มีกำไรต่อเนื่องจากไตรมาส 1/63 ที่มีกำไร 70 ล้านบาทลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 95 ล้านบาท หรือลดลง 26%
อย่างไรก็ตามคาดว่า ยอดขายในปีนี้ไม่เติบโตหลังจากที่ผ่านมายอดขายเติบโตมาโดยตลอด
นายบุญชัย กล่าวว่า ตั้งแต่ช่วงเดือนมี.ค.ที่เริ่มมีการแพร่ระบาดโควิด-19 จึงเห็นว่าต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานไม่เช่นนั้นก็จะไม่สามารถอยู่รอดได้ โดยระงับการเดินทางของพนักงานในประเทศกลุ่ม CLMV ที่เป็นตลาดของบริษัท รวมทั้งไม่ให้พนักงานเดินทางท่องเที่ยวไปต่างประเทศ เพื่อไม่ให้พนักงานติดโรค และขอความร่วมมือพนักงานไม่ให้กลับภูมิลำเนาในต่างจังหวัดหลังจากที่ปิดห้างร้านไป เพราะภาครัฐเองไม่ต้องการให้เดินทางเพราะกลัวเชื้อแพร่ระบาดในต่างจังหวัด
สิ่งที่สำคัญคือการรักษากระแสเงินสด การที่ร้านขายทั้งในห้างและนอกห้างมีกว่า 585 สาขาปิดร้านทำให้ยอดขายส่วนนี้ไม่มี แต่โรงงานยังทำงานอยู่ จะทำอย่างไรที่จะหารายได้มาเลี้ยงพนักงานที่มีประมาณ 2,000 กว่าคนซึ่งต้องอยู่รอดและทำงาน ทั้งนี้ เห็นว่าหากบริษัทยังคงผลิตชุดชั้นในต่อไปก็ต้องจัดซื้อวัตถุดิบเข้ามาก็ต้องจ่ายเงินออกไป กระแสเงินสดก็จะมีปัญหาแน่นอน เพราะฉะนั้น สิ่งที่คำนึงถึงว่าทำอย่างไรให้พนักงานได้มีงานทำแล้วต้องปลอดภัย ทำให้ถึงจุดต้องคิดหลายเรื่อง รวมทั้งพนักงานขายก็ยังคงขายสินค้าได้ ซึ่งจะมีรายได้เข้ามาได้
บริษัทเริ่มผลิตหน้ากากผ้าแจกให้พนักงานใช้ก่อนแต่สุดท้ายกลายเป็นโอกาสทางธุรกิจ เพราะหน้ากากเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนต้องใส่ในช่วงเกิดวิกฤติโควิด แต่หลังวิกฤติโควิดก็คาดว่าจะมีการใส่หน้ากากผ้าตลอดเหมือนชุดชั้นในที่ต้องเปลี่ยนทุกวัน โดยช่วงแรกผลิตให้กับโรงพยาบาล หน่วยงานราชการ โดยมีความร่วมมือกับรพ.ศิริราชกับสถาบันวิจัยฯ ซึ่งบริษัทเสนอผลิตให้ฟรี จำนวน 1 แสนชิ้นแรก หลังพอข่าวออกหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ ก็มีการสั่งให้ผลิต ก็ทำให้บริษัทมีเงินก้อนเข้ามาทำให้มีกระแสเงินสดอยู่ได้ ในช่วงที่ห้างยังไม่เปิด
ขณะเดียวกัน บริษัทตัดค่าใช้จ่ายโฆษณาปีนี้ประมาณ 30% และให้ทีมงานตลาดช่วยกันคิดโฆษณาที่จะใช้กับโซเชียลมีเดีย แคมเปญที่ออกมากลายเป็น Talk of The Town
และบริษัทยังขายออนไลน์จากที่เริ่มทำมา 3 ปีที่แล้ว และมีสัดส่วน 10% เมื่อปี 62 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวในไตรมาส 2/63 โดยส่วนหนึ่งพนักงานขายและพนักงานแผนกอื่นก็ใช้ช่องทางโซเชียลเป็นช่องทางขาย และในส่วนของบริษัทได้จัดพนักงานมาทำหน้าที่ดูแลเพิ่มขึ้น ทั้งรับออร์เดอร์ การรับส่ง การบรรจุสินค้า โดยโยกพนักงานบางส่วนที่ลดการผลิตชุดชั้นใน เป็นการเปลี่ยนมาทำในสิ่งที่ไม่เคยทำก็ต้องมาทำ
ที่สำคัญที่จะฝ่าวิกฤตินี้ไปเป็นเรื่องการสื่อสาร โดยพูดคุยกับพนักงานสัปดาห์ละครั้ง และมีเสียงตามสาย โดยให้ความร่วมมือภาครัฐในการดูแลสุขภาพ ขอความร่วมมือเหลื่อมเวลา แยกกันทานข้าว เป็นต้น หรือทำงานดึกก็ทำ การทำงานที่บ้านมีการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยหลังวิกฤติก็จะยังคงขายออนไลน์ ขณะที่ร้านสาขาและ ห้างเปิดแล้ว จะทำให้มียอดขายที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ บริษัทมีการขายหน้ากากผ้า โดยมีการขายหน้ากากผ่านตู้กดสินค้าด้วย และเมื่อกลาง พ.ค.ได้ออกหน้ากาก 3 ชั้น เพื่อให้การป้องกันเชื้อโรค และฝุ่นPM2.5 ได้ ซึ่งเป็นการพัฒนาสินค้าผ่านการเรียนรู้ช่วงโควิด
รวมทั้งในเวลาเกิดวิกฤติบริษัทจะเปิดรายได้ของบริษัทให้พนักงานดู จะได้เกิดความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องร่วมมือกัน โดยบางบริษัทลดเงินเดือน จ้างออก หรือหยุดงานแบบไม่จ่ายเงิน ฝ่ายบุคคลเสนอแนวคิดดังกล่าวแต่ตนไม่เลือกวิธีดังกล่าว เพราะตราบใดที่บริษัทยังมีกำไร บริษัทก็จะไม่ลดเงินเดือนพนักงานเพื่อให้มีกำไรดูสวย สิ่งเหล่านี้เป็นวัฒนธรรมองค์กรจากผู้ก่อตั้ง และทายาทได้ส่งต่อกันมา
"เราก็จะมีการพูดคุย สื่อสาร มีการประชุมผ่านออนไลน์ หรือเดินทางไปโรงงานไปสัมผัสกับพนักงาน เป็นตัวอย่างที่ดี โดยคาดว่า ยอดขายปีนี้ไม่โตเพราะหยุดไป 2 เดือน จากที่ผ่านมายอดขายเติบโตทุกปี"
ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนธุรกิจมาทำแบรนด์ตัวเองจากเดิมรับจ้างผลิต (OEM) ซึ่งค่อยๆลดน้อยลง เหลือ 8% จากเดิม 90% ทำให้บริษัทไม่ค่อยได้รับผลกระทบ โดยปัจจุบันมีลูกค้า OEM ที่อังกฤษและฝรั่งเศส ก็หยุดออร์เดอร์ไปแล้ว และคาดว่าจะมีออร์เดอร์กลับมาในต.ค. และกว่าจะรับรู้รายได้เป็นปีหน้า แต่ผลกระทบไม่มากเพราะมีเพียง 8%
การที่ SABINA หันมาทำแบรนด์ตัวเองทำให้อัตรากำไรขั้นต้นในปัจจุบันสูงขึ้นเป็น 54% จากเดิมอยู่ที่ 15% และอัตรากำไรสุทธิน้อยมาก 2%
SABINA ได้ผ่านวิกฤติมาก่อนหน้าทั้งวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 40 และน้ำท่วมในปี 54 และสามารถฝ่าวิกฤติมาได้
"เวลาบริหารองค์กร คำเดียว ซื่อสัตย์ ทั้งพนักงาน จะไม่ตัดเงินถ้าไม่จำเป็น ซัพพลายเออร์ ห้างร้านเล็กๆ เขาไม่ไหวยอมให้ดึงเงิน ความจริงใจต้องให้ทุกคนรับรู้"นายบุญชัย กล่าว