โบรกเกอร์เห็นพ้อง"ซื้อ"หุ้นธนาคารกรุงเทพ (BBL) เลือกเป็น Top pick ฐานะทางการเงินแข็งแกร่งที่สุดในกลุ่มแบงก์ เป็นหุ้น"ปลอดภัย"เนื่องจากรับมือกับคุณภาพสินทรัพย์ที่แย่ลงได้ดีที่สุดในยุคโควิด-19 โดยคาดเริ่มเห็นการฟื้นตัวของผลดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังปีนี้ เนื่องจากจะเริ่มรับรู้การรวมงบการเงินของธนาคารพีที เพอร์มาตา ทีบีเค (เพอร์มาตา) ที่อินโดนีเซียเข้ามา รวมถึงราคาหุ้นปัจจุบันน่าสนใจมี upside มากพอควร
ทั้งนี้ หากเศรษฐกิจพลิกกลับมาดีขึ้น BBL ก็จะฟื้นตัวได้เร็ว จากความเชี่ยวชาญในด้านลูกค้าองค์กร เพราะความต้องการสินเชื่อของลูกค้ารายใหญ่ยังมีอยู่ โดยปีนี้คาดว่าสินเชื่อของ BBL จะเติบโต 1% ดีขึ้นจากปีที่แล้ว ที่สินเชื่อหดตัว 1% ขณะที่ตัวเลข NPL ในไตรมาส 1/63 อยู่ที่ 3.5% เพิ่มขึ้นจากปี 62 ที่มี 3.4% แต่คาดว่าปีนี้ NPL ของ BBL น่าจะอยู่ 4-4.84% โดย BBL ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 บ้าง แต่ก็น้อยกว่าแบงก์อื่น เนื่องจากพอร์ตสินเชื่อของ BBL ส่วนใหญ่จะเป็นรายใหญ่ และ BBL ก็มีการตั้งสำรองฯไว้สูงเกินเกณฑ์ที่ธปท.กำหนดไว้ ซึ่งบางส่วนสามารถที่จะคืนกลับมาเป็นรายได้ได้ด้วย
พร้อมคาดการณ์กำไรสุทธิปีนี้ไว้ที่ 3.2-3.44 หมื่นล้านบาท ลดลงจากปีที่แล้ว ที่มีกำไรสุทธิ 3.58 หมื่นล้านบาท
ช่วงบ่ายราคาหุ้น BBL อยู่ที่ 96.50 บาท เพิ่มขึ้น 0.50 บาท หรือ 0.52% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย ลบ 0.14%
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) หยวนต้า (ประเทศไทย) ซื้อ 150 เอเชีย เวลท์ ซื้อ 150 แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ซื้อเก็งกำไร 136 เคทีบี (ประเทศไทย) ซื้อ 130 เมย์แบงก์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย) ซื้อ 130 เอเอสแอล ซื้อสะสม 129 ฟิลลิป (ประเทศไทย) ซื้อ 124
นายอดิสรณ์ มุ่งพาลชล รองผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวว่า หากเศรษฐกิจกลับมา BBL จะฟื้นตัวได้เร็ว จากความเชี่ยวชาญในด้าน Corporate ซึ่งความต้องการสินเชื่อของลูกค้ารายใหญ่ยังมีอยู่ และ BBL จัดได้ว่ามีสถานะที่แข็งแกร่ง ได้ประโยชน์จากการลงทุนในเพอร์มาตา ที่อินโดนีเซียด้วย รวมถึงราคาหุ้นมี upside จากราคาเป้าหมายมากพอควร
ทั้งนี้ ปีนี้คาดว่าสินเชื่อของ BBL จะเติบโต 1% ดีขึ้นจากปีที่แล้ว ที่สินเชื่อหดตัว 1% ขณะที่ตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในไตรมาส 1/63 อยู่ที่ 3.5% เพิ่มขึ้นจากปี 62 ที่อยู่ระดับ 3.4% แต่คาดว่าปีนี้ NPL ของ BBL น่าจะอยู่ใกล้ระดับ 4% โดย BBL ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 บ้าง แต่ก็ได้รับผลกระทบน้อยกว่าที่อื่น เนื่องจากพอร์ตสินเชื่อของ BBL ส่วนใหญ่จะเป็นรายใหญ่ และ BBL ก็มีการตั้งสำรองฯไว้สูงเกินเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดไว้ ซึ่งบางส่วนสามารถที่จะคืนกลับมาเป็นรายได้ได้ด้วย
พร้อมคาดการณ์กำไรสุทธิปีนี้ไว้ที่ 3.2 หมื่นล้านบาท หดลง 9.6% จากปีที่แล้ว
ด้านบล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯมีมุมมองเป็นบวกต่อ BBL ที่ซื้อเพอร์มาตา ในอินโดได้ถูกลง โดยของเดิมที่จะซื้อที่ 89.12% ต้องจ่ายที่ 1.77 เท่าของมูลค่าตามบัญชี มีมูลค่าประมาณ 8.1 หมื่นล้านบาท ลดลงมาเหลือ 1.63 เท่า คิดเป็นมูลค่า 7.37 หมื่นล้านบาท ทำให้ BBL ประหยัดเงินให้การเข้าซื้อดีลนี้ได้ 7 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 3.7 บาทต่อหุ้น และเลือก BBL เป็น Top pick โดยยังไม่ได้รวมธนาคารเพอร์มาตาในประมาณการ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะเพิ่ม upside ต่อประมาณการกำไรสุทธิราว 10%
ขณะที่เมื่อวานนี้ (20 พ.ค.) BBL ได้โอนชำระค่าหลักทรัพย์เพอร์มาตา สัดส่วน 89.12% เป็นเงิน 7.37 หมื่นล้านบาท ให้กับ พีที แอสทรา อินเตอร์เนชั่นแนล ทีบีเค และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด เสร็จสมบูรณ์แล้ว
ส่วนบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯมอง BBL เป็นหุ้น"ปลอดภัย" เนื่องจากรับมือกับคุณภาพสินทรัพย์ที่แย่ลงได้ดีที่สุด ด้วยอัตรา LLR/สินเชื่อ ที่ 8.2% เทียบกับค่าเฉลี่ยของกลุ่ม 4.3% ในไตรมาส 1/63 ธนาคารมีสินเชื่อในภาคการท่องเที่ยวและบริการประมาณ 8% ผู้บริหารระบุส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีงบดุลแกร่ง ด้านราคาหุ้นน่าสนใจ P/BV ปี 63 ที่ 0.4 เท่า และ PE 6 เท่า
BBL ปรับเพิ่มคาดการณ์การตั้งสำรองฯปี 63 เป็น 1.5-2 หมื่นล้านบาท จากเดิม 1.2-1.5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และการปิดเมือง กระทบต่อคุณภาพสินทรัพย์ที่จะแย่ลงในไตรมาส 3 นี้แต่เชื่อมั่นว่าระดับ LLR ปัจจุบันน่าจะเพียงพอสำหรับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ดังนั้น จึงคาดการณ์อัตราส่วน NPL จะสูงขึ้น 4.84% และตั้งสำรองเพิ่มเป็น 2.05 หมื่นล้านบาทในปี 63
สำหรับบล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า ชอบ BBL เนื่องจากมีข้อได้เปรียบจากการเร่งตั้งสำรองมาหลายปีจนปัจจุบันมี Coverage Ratio ที่ 204% ทำให้มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งที่สุดในกลุ่ม อีกทั้งราคาปัจจุบันมี Upside จากมูลค่าพื้นฐานที่ 150 บาท และคาดให้ Div. Yield อีก 6.7%
ทั้งนี้ คงมุมมองเชิงบวกต่อ BBL โดยคาดเริ่มเห็นการฟื้นตัวของผลดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังปีนี้ ซึ่งจะเริ่มรับรู้งบการเงินของเพอร์มาตา เข้ามาในงบการเงินรวม อีกทั้งด้วยจุดเด่นของ BBL ที่มีสัดส่วนสินเชื่อภาคธุรกิจสูงถึง 43% ของพอร์ตและให้บริการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับหลายบริษัท จะทำให้ BBL เป็นผู้ได้ประโยชน์มากสุดในกลุ่ม จากการที่ภาคธุรกิจหันมาใช้สินเชื่อเสริมสภาพคล่องในช่วงที่เกิดปัญหาในตลาดตราสารหนี้มากขึ้น ทำให้ยังคงคาดปีนี้ BBL จะมีกำไรสุทธิ 3.44 หมื่นล้านบาท หดตัว 4% จากปีที่แล้วตามประมาณการเดิม