โบรกเกอร์ แนะนำ"ซื้อ"หุ้นบมจ.โรงพยาบาลจุฬารัตน์ (CHG) หลังงานประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ผู้บริหารยังคงเป้าหมายรายได้และกำไรสุทธิปีนี้เติบโตไม่ต่ำกว่า 10% แม้มีผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่โรงพยาบาล 2 แห่งใหม่ คือ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 304 อินเตอร์ ปราจีนบุรี และโรงพยาบาลรวมแพทย์ ฉะเชิงเทรามีผลขาดทุนลดลง และเริ่มถึงจุดคุ้มทุนก่อนจะทำกำไรได้ในช่วงปลายปี
ขณะเดียวกันยังมีรายได้ประกันสังคมที่เข้ามาช่วยหนุนผลประกอบการ จากการปรับเพิ่มการจ่ายค่าเหมาจ่ายรายหัวเป็น 1,640 บาท จากเดิม 1,500 บาท พร้อมกันนี้ในช่วงไตรมาส 4/63 จะได้รับเงินชดเชยส่วน High cose care เพิ่มเป็น 12,000 บาทด้วย
สำหรับไตรมาส 2/63 แม้ว่ารายได้ในช่วงเดือน เม.ย. จะหดตัวไป 20% แต่อย่างไรก็ตามในช่วงเดือน พ.ค. เริ่มปรับตัวดีขึ้นหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย และเริ่มมีการคลี่คลายมาตรการปิดเมือง (Lockdown) และคาดว่าสถานการณ์ต่างๆ จะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติในเดือน มิ.ย.
หุ้น CHG ช่วงบ่ายอยู่ที่ 2.54 บาท ไม่เปลี่ยนแปลงจากวันก่อน ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย ปรับขึ้น 0.91%
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ซื้อ 2.80
เคทีบี (ประเทศไทย) ซื้อ 3.00
แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ซื้อ 2.90
เอเชีย เวลท์ เก็งกำไร 2.80
ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ซื้อ 2.70
เคจีไอ(ประเทศไทย) ซื้อ 3.10
ไทยพาณิชย์ ซื้อ 2.80
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เปิดเผยว่า ผู้บริหาร CHG ยังคงเป้าหมายการเติบโตของรายได้และกำไรปีนี้ที่มากกว่า 10% แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเป็นผลมาจากการเติบโตของโรงพยาบาล 2 แห่งใหม่ คือ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 304 อินเตอร์ ปราจีนบุรี และโรงพยาบาลรวมแพทย์ ฉะเชิงเทรา ในขณะเดียวกันจะมีรายได้ประกันสังคมจากผู้ประกันตนเพิ่มขึ้น 10,000 ราย ของโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 11 อินเตอร์ รวมไปถึงผลบวกของการปรับขึ้นอัตราค่าเหมารายตัวและค่าบริการของสำนักงานประกันสังคมมีผลตั้งแต่ต้นปีนี้
สำหรับทิศทางกำไรในช่วงไตรมาส 2/63 มีโอกาสที่จะทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แม้ว่าในช่วงเดือน เม.ย. รายได้ผู้ป่วยทั่วไปจะลดลง 20% แต่รายได้ประกันสังคมยังเติบโตได้ดี ตามจำนวนผู้ประกันตนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่แพทย์หยุดพักร้อนจำนวนมากในเม.ย. เนื่องจากผู้ป่วยน้อยกว่าปกติ เป็นการช่วยประหยัดต้นทุน อย่างไรก็ตามเดือน พ.ค. หลังวิกฤติโควิด-19 ผ่อนคลาย คนไข้เริ่มมีความมั่นใจกลับมารับการบริการรักษาเพิ่มขึ้น และเริ่มเห็นการเติบโตของรายได้ผู้ป่วยทั่วไปแล้ว เชื่อว่าสถานการณ์จะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ อีกทั้ง CHG ยังไม่มีรายจ่ายพิเศษเหมือนกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีรายจ่ายพิเศษราว 34 ล้านบาท
ทั้งนี้ คาดว่ากำไรในช่วงไตรมาส 4/63 จะเติบไตได้อย่างโดดเด่น หลังคาดว่าโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 304 อินเตอร์ ปราจีนบุรี และโรงพยาบาลรวมแพทย์ ฉะเชิงเทรา จะเริ่มกลับมาทำกำไรแล้ว ขณะที่ประกันสังคมมีการปรับเพิ่มงบประมาณจ่ายเงินผู้ป่วยในขึ้นจาก 640 บาท เป็น 746 บาท และปรับลดการจ่ายเงินและบันทึกบัญชีเหลือ 1.2 หมื่นบาท/1 Relative weight ตั้งแต่ต้นปี ทำให้มั่นใจว่าปีนี้จะไม่มีการลดการจ่ายเงินผู้ป่วยในของโครงการประสังคมเหมือนปีก่อนหน้า
บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า จากงานประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ล่าสุด ผู้บริหารCHG ยังคงเป้ารายได้และกำไรสุทธิ ในปี 63 จะเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก จากรายได้ประกันสังคมที่เข้ามาช่วยหนุนผลประกอบการจากการปรับเพิ่มการจ่ายค่าเหมาจ่ายรายหัวเป็น 1,640 บาท จากเดิม 1,500 บาท แต่ CHG ยังไม่มีแผนขอขยายเพิ่มโควตาผู้ประกันตน แม้จำนวนผู้ประกันตนใกล้เต็มโควตาที่สามารถรับได้ที่ 450,000 คน ปัจจุบันมีผู้ประกันตนที่ลงทะเบียน 443,000 คน คิดเป็นสัดส่วน 98% ของโควตา
นอกจากนี้ในช่วงปลายเดือน พ.ค. CHG เริ่มเห็นการกลับมาใช้บริการโรงพยาบาลที่ดีขึ้นจากการเริ่มกลับมาให้บริการการผ่าตัดทั่วไป ส่งผลให้มีผู้เข้าใช้บริการเพิ่มขึ้น 70% จากช่วงล็อกดาวน์ และคาดว่าผลประกอบการในไตรมาส 2 จะได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์น้อยที่สุดในกลุ่ม เนื่องจากมีสัดส่วนรายได้ผู้ป่วยต่างชาติเพียง 3% ของรายได้รวม ขณะที่โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 304 อินเตอร์ ปราจีนบุรี และโรงพยาบาลรวมแพทย์ ฉะเชิงเทรา มีผลขาดทุนลดลง และคาดว่าจะสามารถทำกำไรได้ในช่วงปลายปี
ด้าน บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ผลประกอบการของ CHG ที่คาดว่าจะเติบโตในปีนี้ มีปัจจัยหนุนจากโรงพยาบาลเปิดใหม่ 2 แห่ง คือโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 304 อินเตอร์ ปราจีนบุรี และโรงพยาบาลรวมแพทย์ ฉะเชิงเทรา ถึงจุดคุ้มทุนในปีนี้
นอกจากนี้สำนักงานประกันสังคมปรับเพิ่มเงินชดเชยให้กับโรงพยาบาล และจำนวนคนไข้ประกันสังคมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ในช่วงไตรมาส 4/63 จะได้รับเงินชดเชยส่วน High cose care เพิ่มเป็น 12,000 บาท จาก 7,100 บาทในไตรมาส 4/62
สำหรับไตรมาส 2/63 แม้ว่ารายได้ในช่วงเดือน เม.ย. จะหดตัวไป 20% แต่อย่างไรก็ตามในช่วงเดือน พ.ค. เริ่มปรับตัวดีขึ้นหลังจากสภานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย และเริ่มมีการคลี่คลายมาตรการล็อกดาวน์ และคาดว่าสถานการณ์ต่าง ๆ จะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติในเดือน มิ.ย.
--อินโฟเควสท์ โดย สมบูรณ์เกียรติ พานิชเจริญ/วิลาวัลย์ โทร.02-2535000 อีเมล์: wilawan@infoquest.co.th--