ASP ชี้วอลุ่มตลาดหุ้นดี-ขยายฐานคนรุ่นใหม่ หนุนสัดส่วนรายได้โบรกฯเพิ่ม

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday May 27, 2020 18:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิทเยนท์ อัศวนิก ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน และกรรมการบริหาร บมจ.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (ASP) เปิดเผยว่า แนวโน้มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (Brokerage) ในปี 63 จะช่วยหนุนรายได้ของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากที่สัดส่วนรายได้จากธุรกิจ Brokerage เพิ่มขึ้นมาเป็น 64% จากสิ้นปีก่อนที่ 40% เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลต่อความผันผวนของตลาดหุ้น ทำให้มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นมาในระดับที่สูงกว่าปกติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายของนักลงทุนรายย่อยในประเทศ

ขณะเดียวกันบริษัทยังคงเดินหน้าขยายฐานลูกค้าของธุรกิจ Brokerage เพิ่มขึ้น โดยเน้นขยายตลาดต่างจังหวัดมากขึ้นในปีนี้ พร้อมกับการขยายฐานลูกค้าคนรุ่นใหม่ในกลุ่ม Young Age ที่ทำงานระยะหนึ่งและเริ่มมีรายได้มากขึ้น ก็มีความสนใจลงทุนในตลาดหุ้น และเป็นกลุ่มที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตเป็นประจำ ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่บริษัทเห็นถึงศักยภาพ ส่งผลให้บริษัทมีมาร์เก็ตแชร์เพิ่มขึ้น และทำให้มีรายได้ค่าคอมมิชชั่นเพิ่มขึ้นด้วย โดยกลุ่มลูกค้าของบริษัทส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้ารายย่อยในประเทศ สัดส่วน 93% ลูกค้าสถาบัน 5% และลูกค้าต่างชาติ 2%

ส่วนธุรกิจวาณิชธนกิจ (IB) ในปีนี้ถือว่าได้รับผลกระทบจากความผันผวนของตลาดหุ้นที่ยังเผชิญกับปัจจัยความไม่แน่นอน หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กระทบไปถึงธุรกิจของลูกค้าภาคธุรกิจที่ใช้บริการบริษัท โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่เตรียมเสนอขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนครั้งแรก (IPO) นั้นพบว่าลูกค้าหลายรายขอชะลอการเข้าตลาดหุ้นในปีนี้ เพราะธุรกิจได้รับผลกระทบและยังไม่มีความพร้อม

อย่างไรก็ตามบริษัทคาดว่าหากภาวะตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีหลัง มีแนวโน้มดีขึ้นชัดเจนก็คาดว่าการทำ IPO ปีนี้ก็จะมีความชัดเจนออกมาราว 1-2 ดีล แต่หากภาวะตลาดหุ้นไทยยังไม่ดีขึ้นอาจจะชะลอและเลื่อนไปเป็นปี 64 ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีดีล IPO ในมือทั้งหมด 28 ดีล และมีลูกค้าที่ใช้บริการที่ปรึกษาทางการเงินอยู่ 9 ราย

"จากความผันผวนของตลาดหุ้นในปีนี้ และดัชนีที่ตกลงมา แม้ว่าตอนนี้จะปรับตัวขึ้นมาที่ระดับ 1,300 จุด แล้วก็ตาม แต่ถือว่าระดับดัชนี SET ปัจจุบันถือว่ามีความน่าสนใจลดลง ทำให้ช่วงนี้ตลาดหุ้นไทยดูอืดๆ แม้ดัชนีจะขึ้นมาแล้ว แต่ P/E ที่ 20.7 เท่า ถือว่าเป็นระดับที่แพงแล้ว เพราะกำไรบริษัทจดทะเบียนไตรมาสแรกที่ออกมาลดลงกว่า 50% ที่ระดับ 1.1 แสนล้านบาท ถือว่าน้อยมาก และต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท ทำให้ไม่ดึงดูดความน่าสนใจของนักลงทุนต่างชาติ ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนรายย่อยที่ยังเทรดกันอยู่"นายพิทเยนท์ กล่าว

สำหรับธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ (Asset Management) ถือว่าได้รับผลกระทบจากความผันผวนของตลาดค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในส่วนของกองทุนรวมที่ระดับสินทรัพย์บริหารภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) ลดลงมาอยู่ที่กว่า 3.5 หมื่นล้านบาท จากสิ้นปีก่อนที่ 4.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการไถ่ถอนกองทุนตราสารหนี้ จากความกังวลของนักลงทุนในช่วงเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา และ AUM ของกลุ่ม Private Fund ลดลงมาเล็กน้อยที่ 6 พันล้านบาท จากสิ้นปีก่อนที่ 6.6 พันล้านบาท ซึ่งมาจากมูลค่าและผลตอบแทนจากสินทรัพย์ของลูกค้าที่ลดลงจากความผันผวนของตลาดและโควิด-19

อย่างไรก็ตามบริษัทยังมองหาโอกาสใหม่ๆในการกระจายธุรกิจให้มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งจะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักของบริษัท เพื่อสร้างช่องทางรายได้ใหม่ๆ โดยมองว่ายังเป็นโอกาสในการลงทุนใหม่ๆเพื่อมาต่อยอดธุรกิจ โดยเฉพาะการลงทุนในสตาร์ทอัพ และลงทุนในต่างประเทศ ที่จะเข้ามาช่วยเสริมศักยภาพของธุรกิจและสร้างรายได้ใหม่ๆเข้ามา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ