บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ของบมจ. อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) (AEONTS) เป็น "แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ" จาก "แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ" และคงอันดับเครดิตที่ 'A-(tha)’
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
"แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ" สะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ที่เชื่อว่าสถาบันการเงินในประเทศไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงที่ปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจที่รุนแรงซึ่งเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส
ในขณะที่การคงอันดับเครดิตแม้ว่าสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานจะมีความท้าทายเพิ่มขึ้น สะท้อนถึงการที่ฟิทช์เชื่อว่าสถานะทางเครดิตของ AEONTS น่าจะสามารถทรงตัวอยู่ในระดับอันดับเครดิตปัจจุบันได้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากเครือข่ายธุรกิจและยังมีฐานะเงินกองทุนและสภาพคล่องที่สามารถรองรับความเสี่ยงได้ในระดับที่เพียงพอเทียบกับอันดับเครดิตปัจจุบัน
AEONTS เป็นหนึ่งในบริษัทที่ประกอบธุรกิจสินเชื่ออุปโภคบริโภค (consumer finance) ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และมีความชำนาญในธุรกิจสินเชื่อบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน (unsecured lending) บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดสำหรับบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลค่อนข้างสม่ำเสมอที่ประมาณ 9%-10% ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ความแข็งแกร่งของเครือข่ายธุรกิจ (franchise) ของ AEONTS ยังได้รับการสนับสนุนจากการที่บริษัทมีเครือข่ายสาขาที่ครอบคลุมทั่วประเทศและมีระบบการบริหารความเสี่ยงที่ดี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบริษัทแม่ในประเทศญี่ปุ่น
ฟิทช์เชื่อว่าการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสจะส่งผลให้สภาพแวดล้อมในการดำเนินงานปรับตัวอ่อนแอลงอย่างมาก โดยเศรษฐกิจไทย (GDP) จะหดตัวลงในอัตรา 5.1% ในปี 2563 ซึ่งจะเป็นระดับที่ต่ำที่สุดตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจในเอเชียปี 2540-2541 อีกทั้งประเทศไทยยังคงมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนในระดับค่อนข้างสูง (ที่ประมาณ 80 % ของ GDP ณ สิ้นปี 2562) ซึ่งจะส่งผลให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในภาวะที่อัตราการจ้างงานหรืออัตราค่าจ้าง (employment and wages) มีการปรับตัวแย่ลงอย่างมากเป็นเวลาต่อเนื่อง
แม้ว่าระยะเวลาของการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มของระดับการฟื้นตัวยังคงมีความไม่แน่นอนในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามฟิทช์คาดว่าสภาพแวดล้อมในอนาคตและแนวโน้มผลประกอบการของสถาบันการเงินไทยได้ปรับตัวอ่อนแอลงไปอย่างมากแล้ว โดยเฉพาะในภาคธุรกิจสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งรวมถึง AEONTS น่าจะต้องเผชิญกับแนวโน้มคุณภาพสินทรัพย์และรายได้ที่ปรับตัวแย่ลง แม้ว่าทางการจะมีมาตรการผ่อนปรนในด้านการจัดชั้นสินเชื่อและการปรับโครงสร้างหนี้ซึ่งอาจช่วยชะลอผลกระทบต่อคุณภาพสินทรัพย์ได้บ้าง แต่มาตรการเหล่านี้ไม่น่าจะป้องกันการปรับตัวด้อยลงของคุณภาพสินทรัพย์โดยรวมที่ได้ และฟิทช์เชื่อว่าสินเชื่อด้อยคุณภาพจะเผชิญแรงกดดันเพิ่มขึ้นในช่วง 2 ปีข้างหน้า
อัตราส่วนทางการเงินในด้านอัตรากำไรของ AEONTS (ซึ่งคำนวนจากกำไรก่อนภาษี/สินทรัพย์รวมเฉลี่ย) อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับค่ามาตรฐาน (benchmark) ของบริษัทอื่นในกลุ่มเดียวกัน ซึ่งน่าจะช่วยรองรับความเสี่ยงจากการปรับตัวลดลงของรายได้ได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ฟิทช์ยังเชื่อว่าบริษัทจะสามารถรักษาฐานะเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่เพียงพอได้ต่อเนื่อง แม้จะได้รับผลกระทบเชิงลบจากรายการพิเศษหลังการใช้มาตรฐานบัญชี TFRS9 AEONTS มีแหล่งเงินทุนที่ค่อนข้างหลากหลายเมื่อเทียบกับสถาบันการเงินที่มิใช่ธนาคารรายอื่น เนื่องจากบริษัทมีความสัมพันธ์ที่ดีกับธนาคาร (เนื่องจากกลุ่มบริษัทแม่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับธนาคาร) และมีประวัติการระดมทุนในตลาดทุนอย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยที่อาจส่งผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
แนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับกลับมาเป็น "แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ" หากความท้าทายจากสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ตัวอย่างเช่น การที่บริษัทสามารถมีความแข็งแกร่งทางการเงินที่เข้มแข็งขึ้น โดย AEONTS สามารถรักษาอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญด้านคุณภาพสินทรัพย์ (เช่น สินเชื่อด้อยคุณภาพ) ในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเหตุการณ์แพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส และการที่บริษัทสามารถเพิ่มส่วนของผู้ถือหุ้นให้ปรับตัวกลับมาสูงขึ้นได้อย่างรวดเร็วหลังจากผลกระทบเชิงลบจากการใช้มาตรฐานบัญชี TFRS9
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
"แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ" สะท้อนถึงความเสี่ยงในการปรับลดอันดับเครดิตหากสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานปรับตัวแย่ลงกว่าที่ฟิทช์คาดการณ์ไว้ ซึ่งจะส่งผลให้คุณภาพสินทรัพย์ รายได้ และฐานะเงินกองทุนของ AEONTS ได้รับผลกระทบในเชิงลบในระดับที่มากกว่าคาดการณ์ โดยตัวอย่างของเหตุการณ์ดังกล่าวอาจบ่งชี้ได้จากการที่บริษัทมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมที่สูงกว่า 5% อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการมีอัตราส่วนรายได้ที่ด้อยลงซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีความสามารถที่จะสะสมเงินกองทุนลดลง (internal capital generation)