นายศีลวัต สันติวิสัฎฐ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยในหัวข้อ"ก้าวถัดไปของธุรกิจยุค COVID-19"ว่า ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แตกต่างจากวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 40 เพราะวิกฤติครั้งนี้กระทบเป็นวงกว้างมากตั้งแต่เกิดมาไม่เคยเจอที่ทุกประเทศรับผลกระทบทั่วโลก และระยะเวลานาน และรับผลกระทบทุกระดับชนชั้น กำลังซื้อก็ไม่มี จากผลกระทบดังกล่าวทำให้โอกาสที่เศรษฐกิจจะฟื้นกลับมาได้ค่อนข้างช้า และยังมองว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จะตกต่ำติดลบ 5% และอาจถึงติดลบ8% ก่อนจะกลับมาใช้เวลาฟื้นตัว 2 ปี
โดยภาคท่องเที่ยวได้รับผลกระทบโควิดมาก ซึ่งภาคท่องเที่ยวมีสัดส่วน 18% ของจีดีพี เป็นรายได้หลักของประเทศ และสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือคนตกงานจำนวนมาก ในฐานะธนาคาร ถ้าเศรษฐกิจไม่ค่อยดี ธนาคารก็รับผลกระทบด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามธนาคารก็ได้มีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าเพื่อให้ผ่านวิกฤติไปด้วยกัน
สิ่งที่จะฝากว่าในช่วงเกิดวิกฤติสภาพคล่องเป็นสิ่งสำคัญ การไม่มีรายได้หรือรายได้น้อยลง แต่ยังคงมีรายจ่าย จะทำอย่างไรให้เราอยู่ได้นาน ส่วนกำไรก็เป็นคนละเรื่อง ปีนี้ก็อาจมีผลขาดทุนบ้าง แต่สิ่งสำคัญคือเงินสดในมือ
นายศีลวัต กล่าวว่า หลังโควิดผ่านไปเชื่อว่าทุกอย่างจะกลับมาไม่เหมือนเดิม และสิ่งที่แบงก์ทำ 3-4 ปีที่ผ่านมามีเรื่อง Technology Disruption แต่เมื่อมีโควิด ทำให้การปรับตัวเข้าดิจิทัลเร็วขึ้น ขณะที่ KBANK เตรียมตัวมาดี เช่น การเปิดบัญชีเงินฝากได้ตามออนไลน์ รายการออนไลน์มีสัดส่วน 50-60%
นอกจากนี้กระบวนการทำงานภายในแบงก์หลังปิดเมือง คนที่เข้ามาแบงก์เป็นไปตามความจำเป็นเท่านั้น ส่วนงานสำคัญก็ทำงานแยกกันอยู่แล้ว ซึ่งหากเกิดอะไรขึ้นก็สามารถให้บริการได้ต่อเนื่อง
นายศีลวัต กล่าวว่า สิ่งที่องค์กรคำนึงถึงจากนี้ ได้แก่ Profit การเจริญเติบโตองค์กร , People ดูสังคม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ส่วนรวมไปไม่ได้เราก็อยู่ไม่ได้ และ Planet ดูแลโลก เราในฐานะสมาชิกของสังคมหรือประเทศจะช่วยอะไรได้บ้าง
รวมทั้ง KBANK ดูเพิ่มเติม 2 M ได้แก่ Market Change เราในฐานะผู้ประกอบการ ก็ต้องพิจารณาลูกค้ามีพฤติกรรมเปลี่ยนไปอย่างไร หลังจากเกิดโควิดซึ่งยังไม่มีวัคซีนป้องกันและติดง่าย , Make it happen ต้องทำทันทีเพราะสถานการณ์เปลี่ยนเร็วมาก เมื่อรวมกับการใช้ 6P ได้แก่ Product Price Place Promotion People Produvtivity ก็จะทำให้การทำงานมีความเหมาะสมมากขึ้น
โดยในส่วน People พนักงานมีวิธีการทำงานเปลี่ยนไป เราต้องเข้าใจการทำงานที่ Work from Home หรือ Work from Anywhere ที่มีเครื่องมือสน้บสนุนการทำงาน และ skill ทำอย่างไรให้พ้นวิกฤติครั้งนี้ และ Produvtivity ดูต้นทุนที่ตัดได้ ซึ่งจากพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไป หรือ การปรับเปลี่ยนสาขาซึ่งที่ผ่านมามีคนไปใช้น้อยลง ตรงนี้จะเปลี่ยนอย่างไร
ด้านนายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือเอไอเอส กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ในแง่การให้บริการลูกค้าไม่กระทบ แต่กระทบในแง่รายได้ แต่ก็ยังถือว่ารับปัญหาน้อยกว่า อย่างจีดีพีติดลบ แต่ในส่วนบริษัทรับผลกระทบน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อก็ลดลง ขณะที่บริษัทมีการจัดแบ่งทีมผลัดกันเข้าทำงานในออฟฟิศ กระจายไปตาม พื้นที่ดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีอยู่ 9 แห่ง ทำให้การทำงานมีความยืดหยุ่นสูง ส่วนร้านที่เปิดในห้างสรรพสินค้า ก็ต้องปิดตัวตามห้างฯ ทำให้มองว่าในอนาคตจะมีการเปิดร้านนอกห้างฯมากขึ้น
ทั้งนี้ บริษัทคำนึงถึง 3 R ได้แก่ Response ช่วงปิดทันที เราดูแลพนักงาน ทีมงาน สุขภาพทุกคนปลอดภัยดี ไม่มีความเสี่ยง ที่จะดูแลเน็ตเวิร์ก ไม่ให้รับผลกระทบ , Recovery รายได้ลดลงมากช่วงหนี่งก็ต้องหามาตรการทำอย่างไรให้ธุรกิจเลี้ยงตัวเองได้ ซึ่งมีแผนงานต่าง ๆ และ Reform ในระยะยาว สถานการณ์ยังมีความเสี่ยง เราจะทำอย่างไรให้ยืดหยุ่น รับสภาพการเปลี่ยนแปลงต่อภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้น จากโควิดส่งผลกระทบทั่วโลก เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดได้ เราต้อง Reform เพื่อให้มีการปรับตัวสูง ซึ่งก็พยายามศึกษาจากกรณีบริษัทโทรคมนาคมระดับโลกมาปรับใช้
มุมมองเอไอเอส เห็นว่า เทคโนโลยีมาถูกที่ถูกเวลา อาทิ 5G , Clound , Big Data ซึ่งตอนนี้ การคาดการณ์ที่อุตสาหกรรมการบิน และท่องเที่ยวต้องปรับตัวมาก ส่วนเอไอเอส ต้องปรับตัวเองต้องใช้ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี รองรับความไม่แน่นอน หรือวิกฤติในอนาคต ขณะเดียวกันการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างรายได้ ซึ่งวิถีชีวิตอาจจะไม่เหมือนเดิม เราจะนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างไรให้มีความเหมาะสมแต่ละสถานีที่ เช่น โรงภาพยนตร์
นอกจากจะสร้างผลประกอบการ และพยายามลดต้นทุน และเพิ่ม Productivity การปรับตัวของพนักงาน และสังคม ที่ผ่านมาก็สามารถปรับตัวได้ดีมาก และเห็นว่า จากนี้ไปจะต้องมีการร่วมมือกันมากขึ้นจะอยู่แบบต่างคนต่างอยู่คงไม่ได้