นายภูมิพัฒน์ ฉัตรนรเศรษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินและนักลงทุนสัมพันธ์ บมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล (BCH) เปิดเผยว่า ผู้ใช้บริการที่เข้ามารักษาในเครือโรงพยาบาลของบริษัท เริ่มเห็นการฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพ.ค หลังจากชะลอตัวลงในช่วงไตรมาส 1/63 และในช่วงเดือนเม.ย. จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงมากในช่วงก่อนหน้านี้ แต่หลังจากการแพร่ระบาดในประเทศไทยเริ่มลดลง และภาครัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการสกัดการแพร่ระบาดที่เข้มงวดลง ทำให้เริ่มเห็นการกลับเข้ามาใช้บริการของลูกค้าในประเทศเพิ่มขึ้น และคาดว่าจะค่อย ๆ เห็นการฟื้นตัวขึ้นของลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง หากสถานการณ์เริ่มดีขึ้นตามลำดับ
อย่างไรก็ตามในบริษัทได้หาช่องทางการสร้างรายได้เข้ามาเสริมในช่วงโควิด-19 จากบริการตรวจเชื้อโควิด-19 โดยร่วมมือกับภาครัฐในการช่วยคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 ในชุมชนต่าง ๆ ตามเกณฑ์การเฝ้าระวังและสอบสวนผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 (Patient Under Investigation : PUI) ซึ่งปัจจุบันมียอดผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจกว่า 60,000 ราย ทำให้บริษัทคาดว่าจะมีรายได้เข้ามาทดแทนจากการตั้งเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลจากงบประมาณของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตามรายได้ของคนไข้ทั่วไปลดลง
ขณะที่รายได้ในปี 63 บริษัทยังคงเป้าหมายเติบโต 10% แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วงไตรมาส 1/63 ทำให้ผู้ใช้บริการมีจำนวนลดลง โดยเฉพาะผลกระทบของโรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล ที่ลูกค้าชาวต่างชาติหายไปอย่างมาก เนื่องจากมีการล็อกดาวน์ป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ซึ่งกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการในโรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล มีสัดส่วนสูงถึงกว่า 70% แต่บริษัทยังมองในมุมมองเชิงบวกต่อสถานการณ์ที่เริ่มดีขึ้น ทำให้ลูกค้าน่าจะเริ่มกลับมาใช้บริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามบริษัทยังต้องมีการควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยได้เจรจาขอลดค่าธรรมเนียมการแพทย์ และจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์ตามปริมาณงาน พร้อมกับการจัดตารางแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากขึ้น และพยายามลดการจ่ายโอที ส่วนการลงทุนใหม่ ๆ บางรายการที่ยังไม่ได้เริ่มลงทุนบริษัทจะพักแผนการลงทุนไปก่อน เพื่อรอดูจังหวะการลงทุนที่เหมาะสมอีกครั้ง
นายภูมิพัฒน์ คาดว่าภายในครึ่งหลังของปี 63 จะมีความชัดเจนเกี่ยวกับความคืบหน้าในการลงทุนศูนย์มะเร็งของบริษัท เพื่อรองรับคนไข้ประกันสังคมของโรงพยาบาลในเครือที่เข้ามารักษาโรคมะเร็ง โดยที่สัดส่วนคนไข้ประกันสังคมที่รักษามะเร็งมีสัดส่วนราว 90% จากจำนวนคนไข้ประกันสังคมที่ลงทะเบียนรักษาในเครือโรงพยาบาลของบริษัทในปัจจุบันที่ 888,000 ราย ซึ่งใกล้ระดับ 1 ล้านราย ทำให้บริษัทเล็งเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีในการลงทุนศูนย์มะเร็งของบริษัทเอง
ส่วนโครงการโรงพยาบาลที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คือ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ปราจีนบุรี คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มเปิดให้บริการในช่วงไตรมาส 4/63 ก็จะทำให้มีคนไข้ประกันสังคมเพิ่มเข้ามาอีก 100,000 ราย ส่วนโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ เวียงจันทน์ สปป.ลาว ปัจจุบันการก่อสร้างได้ล่าช้าออกไป 2 เดือน จากการล็อกดาวน์ทั้งไทยและลาว ทำให้ทีมงานก่อสร้างไม่สามารถเดินทางเข้าไปก่อสร้างโรงพยาบาลได้ ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้างานก่อสร้างอยู่ที่ 57% ทำให้อาจต้องเลื่อนเปิดให้บริการไปในช่วงปลายไตรมาส 1/64 หรือต้นไตรมาส 2/64 จากเดิมที่จะเปิดต้นไตรมาส 1/64