PTTGC วางเป้า M&A ปีนี้ เตรียมออกหุ้นกู้ 4 พันล้านเหรียญรองรับลงทุน-คืนหนี้เดิม

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday June 2, 2020 13:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แม้จะทำให้บริษัทต้องทบทวนแผนการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในต่างประเทศเพื่อให้เกิดความรอบคอบ แต่ก็จะยังนับเป็นโอกาสในการเข้าซื้อกิจการ (M&A) ในกลุ่มเคมีภัณฑ์เกรดพิเศษ (Specialty) ที่ตลาดทั่วโลกน่าจะเปิดกว้างมากขึ้น

ขณะที่บริษัทเตรียมความพร้อมเพื่อบริหารสภาพคล่อง รองรับโอกาสการลงทุนใหม่ๆ และชำระคืนหนี้ หลังจากที่ได้ออกหุ้นกู้ไปแล้วในปีนี้ 1.5 หมื่นล้านบาท และมีวงเงินกู้จากธนาคารอีกราว 3 หมื่นล้านบาท ขณะที่ล่าสุดที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2563 ในวันนี้ อนุมัติการออกหุ้นกู้วงเงิน 4 พันล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 5 ปี (ปี 63-67) ส่วนจะออกหุ้นกู้เมื่อใดนั้นขึ้นอยู่กับแผนการลงทุนของบริษัท

"เรื่อง M&A เราสนใจ เราดูธุรกิจที่ผ่านโควิดแล้วยังดูดี เป็นพวก Specialty Chemical ที่เชื่อว่าจะยังใช้งานในอนาคต พวกที่มี Value สูง ๆ พวก Advance Material รอดูให้ชัดอีกในไตรมาส 2 ว่าผ่านพ้นโควิดแล้วเป็นอย่างไร เราก็มีเป้าปีนี้ที่รู้ว่าจะทำ M&A เรามองทั่วโลก ก็เป็นโอกาสในช่วงโควิด"นายคงกระพัน กล่าว

นายคงกระพัน กล่าวอีกว่า สำหรับการได้รับอนุมัติออกหุ้นกู้ในวงเงิน 4 พันล้านเหรียญสหรัฐในวันนี้ ส่วนใหญ่ประมาณ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐจะใช้คืนหุ้นกู้เดิมที่ครบกำหนด ขณะที่อีก 1 พันล้านเหรียญสหรัฐจะใช้ลงทุนในโครงการที่ได้รับอนุมัติแล้ว โดยในช่วง 5 ปีข้างหน้าบริษัทจะต้องชำระคืนเงินกู้ยืมระยะยาวรวมประมาณ 8.57 หมื่นล้านบาท หรือราว 2.78 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีแผนการลงทุนที่ได้รับอนุมัติแล้ว 3.24 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 1.05 พันล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับแผนการชำระคืนเงินกู้ ปี 63 อยู่ที่ 8.16 พันล้านบาท, ปี 64 อยู่ที่ 2.21 หมื่นล้านบาท, ปี 65 อยู่ที่ 3.49 หมื่นล้านบาท , ปี 66 อยู่ที่ 5.96 พันล้านบาท และปี 67 อยู่ที่ 1.47 หมื่นล้านบาท โดย ณ สิ้นเดือน ธ.ค.62 บริษัทมีภาระเงินกู้ยืม 1.05 แสนล้านบาท แบ่งเป็นหนี้สกุลเงินบาท 6.92 หมื่นล้านบาท และสกุลต่างประเทศ 3.58 หมื่นล้านบาท มีต้นทุนทางการเงินเฉลี่ยต่ำกว่า 3.5%

ทั้งนี้ บริษัทมั่นใจว่าสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นบริษัทยังมีความสามารถในการระดมเงินได้ เพราะยังได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับเดิมที่ BBB+

ส่วนการทบทวนแผนลงทุนต่าง ๆ ในช่วงนี้ บริษัทก็มีการทบทวนต่อเนื่องภายใต้ 2 มุมมอง คือ ธุรกิจภายใต้วิถีชีวิตปกติใหม่ และธุรกิจที่เป็นทิศทางของโลกในช่วงของก่อนสถานการณ์โควิด-19 ทั้งในส่วนสังคมผู้สูงวัย การใช้พลังงานสะอาด ถ้าธุรกิจใดยังมีทิศทางที่ดีก็ทำต่อเนื่อง แต่หากผลิตภัณฑ์ใดใช้รองรับในส่วนธุรกิจที่คาดว่าจะไม่เติบโตก็ชะลอออกไป เช่น ธุรกิจด้านการบิน ที่เดิมเคยพิจารณาจะลงทุนผลิตเคมีภัณฑ์เพื่อรองรับอุตสาหกรรมนี้ก็ต้องชะลอออกไป ส่วนการลงทุนผลิตเคมีภัณฑ์เพื่อรองรับในส่วนของผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัย ยังมีทิศทางที่ดี

ขณะเดียวกันบริษัทสามารถปรับแผนการผลิตและการขายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าวได้อย่างรวดเร็ว โดยเพิ่มการผลิตพลาสติกจำพวก Packaging หรือ Consumer products ซึ่งมีความต้องการจากผู้บริโภคมากขึ้น และสามารถเพิ่มสัดส่วนการตลาดได้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงปรับเพิ่มสัดส่วนการผลิตเม็ดพลาสติกที่มีมูลค่าสูงขึ้น (HVP)

สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/63 คาดว่าจะดีขึ้นจากไตรมาสแรกที่มีผลขาดทุนสุทธิ 8.78 พันล้านบาท และรายได้จากการขาย 9.3 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ เป็นผลจากปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น หลังหยุดซ่อมบำรุงโรงโอเลฟินส์ในช่วงไตรมาส 1/63 ทำให้ในไตรมาส 2 จะไม่มีการหยุดซ่อมบำรุงอีก ขณะที่ส่วนต่าง (สเปรด) ผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์ค่อนข้างทรงตัว และสเปรดอะโรเมติกส์ดีขึ้นเล็กน้อย

ด้านธุรกิจโรงกลั่น เดินเครื่องเต็มที่ 100% และแนวโน้มค่าการกลั่น (GRM) ที่ดีขึ้น เนื่องจากในไตรมาสนี้จะไม่มีการผลิตน้ำมันอากาศยาน (JET) จากไตรมาส 1/63 ที่มีสัดส่วนผลิตอยู่ที่ 8% เนื่องจากปัจจุบันมีมาร์จิ้นต่ำตามความต้องการที่ลดลงจากสถานการณ์โควิด-19 จึงหันมาผลิตน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น เพราะยังมีมาร์จิ้นที่ดี นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวขึ้นมาจากสิ้นไตรมาส 1/63 ก็น่าจะทำให้ในไตรมาสนี้ได้รับผลกระทบจากสต็อกน้ำมันน้อยกว่าในไตรมาสแรกที่มีขาดทุนสต็อกรวม 8.9 พันล้านบาท

ขณะที่แนวโน้มผลการดำเนินการปี 63 คาดว่าปริมาณการขายจะปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 7-10 % จากการที่หยุดซ่อมบำรุงตามแผนที่น้อยกว่าปี 62 แต่ในส่วนของรายได้คงต้องพิจารณาถึงผลกระทบจากราคาผลิตภัณฑ์ที่มีการปรับเปลี่ยนตามภาวะเศรษฐกิจและราคาน้ำมันที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก โดยบริษัทได้ดำเนินการลดต้นทุน และทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน และสเปรดผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ขณะที่ปัญหาภัยแล้งในปีนี้มั่นใจว่าไม่มีผลกระทบ แต่เพื่อความไม่ประมาทบริษัทได้ปรับลดการใช้น้ำลง 20% แต่ถ้าจำเป็นจริง ๆ ก็สามารถที่จะบริหารจัดการให้ลดลงได้ถึง 30%

ส่วนการก่อสร้างในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ยังเป็นไปตามแผนการลงทุน โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงไตรมาส 4/63 ไม่ว่าจะเป็น โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต (Olefins Reconfiguration Project :ORP), โครงการโพรพิลีนออกไซด์ (Propylene Oxide : PO) และโครงการโพลิออลส์ (Polyols) ซึ่งปัจจุบันมีความคืบหน้าการดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ 90-93%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ