นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการติดตามการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาบมจ.การบินไทย (THAI) เปิดเผยผ่านรายการโทรทัศน์เช้านี้ว่า คณะกรรมการติดตามฯ ได้เรียกนายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองประธานกรรมการ คนที่ 2 ในฐานะรักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ THAI พร้อมทีมที่ปรึกษากฎหมายและทีมที่ปรึกษาทางการเงินมาหารือเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. เพื่อรายงานสถานะคดีการฟื้นฟูกิจการ
รวมทั้งประเด็นสำคัญที่ THAI ต้องการให้คณะกรรมการติดตามฯ ชุดนี้ช่วยเหลือสนับสนุน พบว่ามี 4 เรื่องหลักๆ ได้แก่
1.THAI ต้องการจัดทำ slot เที่ยวบินเพื่อเพิ่มศักยภาพความเป็น Network Airline ซึ่งก็มีผู้แทนจากกระทรวงคมนาคม คือ นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม และนายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะพิจารณาในส่วนของกระทรวงคมนาคมว่าทำได้เพียงใด
ทั้งนี้ เรื่อง Time Slot เป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายการบิน ขึ้นกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ว่าจะจัดs lot อย่างไร หรือมีสิทธิประโยชน์ให้ได้อย่างไร จากเดิมที่ THAI มีอยู่ในฐานะสถานะรัฐวิสาหกิจจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เมื่อพ้นสถานะแล้ว
2.จากการที่ THAI ยื่นคำร้องการฟื้นฟูกิจการและหลังจากศาลล้มละลายกลางรับคำร้องแล้วนั้น ทำให้อยู่ในสภาวะพักชำระหนี้ (Automatic Stay) ซึ่งจะคุ้มครองภายใต้อาณาจักรไทย แต่ก็จะมีปัญหาเรื่องของเครื่องบินที่มีสัญญาเช่า หรือ เช่าซื้อ หากทำการบินไปต่างประเทศ อาจถูกเจ้าหนี้ยึดได้ ดังนั้น ก็ต้องยื่นคำร้องในประเทศที่ THAI ทำการบินไปในประเทศต่างๆ ที่จำเป็น เพื่อให้ประเทศนั้นรู้ว่าขณะนี้บริษัทได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูแล้วที่ศาลไทย โดยคณะกรรมการติดตามฯจะประสานงานไปยังกระทรวงการต่างประเทศเพื่อให้เกิดความสะดวกในส่วนนี้
3.ขอให้คณะกรรมการติดตามฯ ประสานกับคู่ค้าของ THAI โดยเฉพาะคู่ค้าที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) และ บมจ.ปตท (PTT) เพื่อให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายออกระหว่างการฟื้นฟูกิจการ แต่ก็เป็นเรื่องของคู่ค้าที่จะต้องไปพิจารณา เพราะคณะกรรมการติดตามฯ จะไม่เข้าไปก้าวล่วงการเจรจาระหว่างหน่ายงาน แต่หากมีปัญหาหรือติดขัดข้อกฎหมายก็จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ปตท. ซึ่งจะไม่ไปช่วยเจรจาแต่เป็นเพียงแค่คนกลาง
4.สัญญาต่างๆ ที่ THAI ทำไว้กับหน่วยงานต่างๆของภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ เพราะก่อนหน้านี้บริษัทมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ และเมื่อเปลี่ยนสถานะเป็นบริษัทมหาชนทั่วไปก็จะต้องมีการแก้ไขสัญญา รวมทั้งบางกรณีที่หน่วยงานรัฐผิดชอบอยู่ โดยสัญญาแต่ละสัญญาก่อนหน้านี้เป็นเรื่องรัฐวิสาหกิจทำกับรัฐวิสาหกิจ แต่เมื่อเปลี่ยนสถานะเป็นบริษัทมหาชน อาจจะเข้าข่ายกฎหมายเอกชนร่วมลงทุน เพราะฉะนั้นก็ต้องมีการแก้ไขให้สอดคล้องเพื่อจะได้ไม่มีประเด็นการโต้แย้งในศาล
"ทั้ง4 ข้อ จะช่วยการทำแผนฟื้นฟูยื่นต่อศาล ศาลจะได้ไม่มีข้อโต้แย้ง ทำให้กระบวนการพิจารณาในศาลชัดเจนมากขึ้น และก่อนการไต่สวน เราเคลียร์เรื่องได้หมด ก็จะทำให้แผนฟื้นฟูเดินไปได้"นายประภาศ กล่าว
นายประภาศ กล่าวว่า คณะกรรมการติดตามฯ เป็นเพียงโซ่ข้อกลางให้ THAI เพื่อช่วยประสานงานสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการให้ประสบความสำเร็จลุล่วง จากเดิมที่มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีอำนาจผ่านกระทรวงคลัง ฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ และกระทรวงคมนาคม เป็นผู้กำกับดูแล
ทั้งนี้ ในการประชุมเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมา เพื่อให้กรรมการทุกคนได้รับทราบเกี่ยวกับข้อมูลสถานะของ THAI ในปัจจุบัน และแนวทางที่ต้องการให้คณะกรรมการติดตามฯชุดนี้ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนในเรื่องใดบ้าง รวมทั้งติดตามความคืบหน้าสถานะคดีฟื้นฟูเป็นอย่างไร โดยมีบล.ฟินันซ่าเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางกฎหมาย
ส่วนบริษัท คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด เป็นผู้ถูกเสนอเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟู ยังไม่มีอำนาจตามกฎหมายจนกว่าศาลแต่งตั้งเสียก่อน ซึ่งจะรอวันไต่สวนวันที่ 17 ส.ค.นี้ พิจารณาว่าจะเห็นชอบผุ้ทำแผนฟื้นฟู ขณะนี้เป็นเพียงเสนอคำร้องต่อศาลที่ต้องเสนอผู้ทำแผนเข้าไปด้วย ทั้งกรรมการที่เป็นผู้ทำแผน และ EYย ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการทำแผนฯ