โบรกเกอร์ เห็นพ้อง"ซื้อ"หุ้น บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) หรือ AP เล็งผลดำเนินงานงวดไตรมาส 2/63 โตดีเกินคาด หลังส่งสัญญาณยอดขายในเดือนเม.ย.-พ.ค.63 สูงกว่ายอดขายทั้งไตรมาส 1/63 จากการใช้กลยุทธ์อัดโปรโมชั่นและเพิ่มช่องทางขายออนไลน์ อีกทั้งยังมีลุ้นโตต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง (H2/63) ผลักดันกำไรสุทธิปีนี้มีโอกาสเติบโตสวนกระแสภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์
ขณะเดียวกัน AP ยังได้ปรับลดงบซื้อที่ดินในปี 63 จากเดิมประมาณ 8.5 พันล้านบาท เหลือ 3.5-4.0 พันล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินงานในปีนี้และต่อเนื่องในปี 64
ด้านราคาหุ้น AP ยัง Laggard และคาด Dividend Yield สูงกว่า 6%
ล่าสุด เมื่อเวลา 14.45 น.หุ้น AP อยู่ที่ 5.70 บาท เพิ่มขึ้น 0.25 บาท (+4.59%)มูลค่าซื้อขาย 138.20 ล้านบาท
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) หยวนต้า (ประเทศไทย) ซื้อ 6.55 โนมูระ พัฒนสิน ซื้อ 6.35 ฟินันเซีย ไซรัส ซื้อ 6.20 ทรีนีตี้ ซื้อ 6.30 ทิสโก้ ซื้อ 6.50 ฟิลลิป (ประเทศไทย) ซื้อ 6.60 เอเชีย เวลท์ ซื้อ 6.20 เอเซีย พลัส ซื้อ 6.30 ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ซื้อ 6.45 ธนชาต ซื้อ 6.30
นายภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ให้เหตุผลที่ยังคงคำแนะนำ"ซื้อ"หุ้น AP แม้ว่าจะยังคงน้ำหนักลงทุนหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์น้อยกว่าตลาด (Underweight) เนื่องจากยังไม่เห็นสัญญาณหรือปัจจัยบวกชัดเจนที่จะเข้ามากระตุ้นตลาดอสังหาฯให้พลิกกลับมาเติบโตได้โดดเด่นอีกครั้ง ดังนั้นลงทุนในกลุ่มอสังหาฯควรเน้นกลยุทธ์เลือกหุ้นเป็นรายตัว (Selective Buy) อิงปัจจัยแนวโน้มผลประกอบการที่มีความเสี่ยงต่ำ และมีโอกาสพลิกกลับมาฟื้นตัวในช่วงที่เหลือของปีนี้
ปัจจุบันหุ้น AP เป็นหนึ่งในหุ้นที่เข้าข่ายปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าตลาด (Laggard) หลังจากดัชนีหุ้นไทยไต่ระดับขึ้นมาทะลุ 1,400 จุด และคาดจ่ายเงินปันผลรอบปี 63 ที่ 0.43 บาท/หุ้น คิดเป็น Dividend Yield ที่สูงกว่า 6% นอกจากนั้น มองว่าผลประกอบการไตรมาส 1/63 ของ AP จะเป็นจุดต่ำสุดก่อนจะค่อย ๆ กลับมาดีขึ้นในช่วงไตรมาส 2/63 ต่อเนื่องไปถึงครึ่งหลังของปีนี้ ส่งผลให้ประมาณการกำไรปกติปี 63 อยู่ที่ 3.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน
นายภาดล กล่าวต่อว่า แม้ว่า AP จะมีการปรับแผนการดำเนินงานในปี 63 โดยได้เลื่อนการเปิดตัวโครงการแนวสูงทั้งหมด 4 โครงการไปยังปี 64 รวมมูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท ทำให้เป้าหมายการเปิดตัวโครงการใหม่ทั้งปีนี้อยู่ที่ 33 โครงการ เป็นโครงการแนวราบทั้งสิ้น รวมมูลค่า 3.5 หมื่นล้านบาท ลดลง 26.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่มีมุมมองเป็นบวกต่อยอดเยี่ยมชมโครงการที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์ ส่งผลให้ Presale ในเดือน เม.ย.63 ทำได้สูงกว่า 2.3 พันล้านบาท แบ่งเป็นโครงการแนวราบและแนวสูงที่ 1.8 พันล้านบาท และ 486 ล้านบาทตามลำดับ รวมถึงการเลื่อนการเปิดตัวโครงการแนวสูงทั้งหมด เพื่อลดค่าใช้จ่ายและการเสริมสภาพคล่องของบริษัท
ทั้งนี้ สิ้นไตรมาส 1/63 บริษัทมีเงินสดและวงเงินกู้ระยะสั้นจากสถาบันการเงินที่ 1.2 หมื่นล้านบาท มากกว่าเมื่อเทียบกับหุ้นกู้ระยะยาวและตั๋ว B/E ที่จะครบกำหนดในปี 63 ทั้งสิ้น 8.1 พันล้านบาท ทำให้บริษัทมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่อยู่ในระดับต่ำ ขณะเดียวกัน AP ยังได้ปรับลดงบซื้อที่ดินในปี 63 จากเดิมประมาณ 8.5 พันล้านบาท เหลือเป็น 3.5-4.0 พันล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินงานในปี 63 และต่อเนื่องในปี 64
"แม้ว่าปัจจุบันฝ่ายวิจัยฯคงน้ำหนัก "Underweight" หุ้นกลุ่มอสังหาฯ แต่กลยุทธ์ยังเน้นเลือกหุ้นลงทุนเป็นรายตัว โดยยังคงคำแนะนำซื้อหุ้น AP เพราะมีอัพไซด์เมื่อเทียบกับราคาพื้นฐาน มีธุรกิจแนวราบที่แข็งแกร่ง นอกจากนั้นยังเป็นหุ้นเข้าข่าย Laggard มี P/E ต่ำเพียง 5 เท่า และ Dividend Yield กว่า 6% ขณะที่แนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 2/63 ต่อเนื่องไปถึงครึ่งหลังมีโอกาสกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น หลังจากคาดการณ์ว่าผลประกอบการไตรมาส 1/63 เป็นจุดต่ำสุดแล้วจากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจากการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19"นายภาดล กล่าว
ด้าน บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์ฯมีมุมมองเป็นบวกหุ้น AP แนวโน้มยอดขายไตรมาส 2/63 มีโอกาสดีกว่าคาด สะท้อนจากยอดขายเฉพาะในเดือน เม.ย.-พ.ค.63 อยู่ที่ 6.25 พันล้านบาท มากกว่ายอดขายทั้งไตรมาส 1/63 ที่ทำได้ 6 พันล้านบาทไปแล้ว แม้ว่าจะเผชิญกับผลกระทบสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงเดือน เม.ย.ก็ตาม นับว่าการใช้โปรโมชั่นทางการตลาดประสบความสำเร็จหลังจากโครงการใหม่และโครงการเดิมมีผลตอบรับที่ดีจากลูกค้า
โดยเฉพาะยอดขายคอนโดมิเนียมในเดือน เม.ย.-พ.ค.อยู่ที่ 1 พันล้านบาท มากกว่ายอดขายทั้งไตรมาส 1/63 ที่ทำได้ 900 ล้านบาท ทั้งหมดมาจากการระบายสต็อกเดิมจากกลยุทธ์อัดโปรโมชั่นและเพิ่มช่องทางขายออนไลน์ อย่างไรก็ตาม แม้ว่า AP จะยังไม่มีแผนโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ แต่แนวโน้มยอดขายคอนโดมิเนียมประเภท Low-Rise ยังคงเติบโต 4% YoY เป็นหนึ่งตัวแปรช่วยสนับสนุนศักยภาพของกำไรสุทธิในปี 2563
สำหรับบทวิเคราะห์ของ บล.กรุงศรี ระบุว่า AP ได้รับอานิสงส์จากแนวโน้มดอกเบี้ยลดลง และมีปัจจัยพื้นฐานสนับสนุนทั้งแนวโน้มกำไรช่วงที่เหลือของปีน่าจะฟื้นตัวดีขึ้น หลังจากมียอดขายที่รอรับรู้เป็นรายได้ (Backlog) มีมูลค่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกัน ส่งผลให้ผลประกอบการ AP ในปี 63 จะเติบโตสวนทางกับผู้ประกอบการรายอื่นที่กำไรสุทธิมีโอกาสหดตัวแรง ทั้งนี้ ประมาณการกำไรสุทธิของ AP ในปี 63 จะเติบโต 8.7% YoY หรืออยู่ที่ 3.33 พันล้านบาท