นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยว่า ในช่วงภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบแบบวงกว้างต่อทุกกลุ่มธุรกิจตั้งแต่กลุ่มใหญ่ไปจนถึงกลุ่มเล็ก รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกค้าของธนาคารเองด้วย ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารได้เร่งการออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกค้าออกมาอย่างเร็วที่สุด เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้าและลดต้นทุนให้ได้มากที่สุดในช่วงวิกฤติ จากการที่ต้องหยุดการดำเนินกิจการชั่วคราวทำให้ไม่มีรายได้เข้ามา โดยที่ธนาคารได้ออกมาตรการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้ลูกค้าทั้งลูกค้ารายย่อย เอสเอ็มอี และรายใหญ่ ไปแล้วเป็นมูลค่ารวมกว่าหลายแสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การที่ธนาคารได้ช่วยเหลือลูกค้าในการลดภาระค่าใช้จ่ายและต้นทุนลงแล้วนั้น ธนาคารยังจำเป็นต้องหันมาหาวิธีการลดต้นทุนของธนาคารลงตามไปด้วย หลังจากที่ลูกค้าได้รับผลกระทบส่งผลมาถึงรายได้ของธนาคารที่จะหายตามไปด้วย ธนาคารจึงเดินหน้าลดต้นทุนเพื่อทำให้ธนาคารตัวเบาขึ้น โดยนำโซลูชั่นและเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้เพื่อลดต้นทุน โดยเฉพาะด้านการบริการลูกค้า และการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมทั้งเพื่อทำให้การดำเนินงานคล่องตัวมากที่สุด
นายอาทิตย์ กลาวว่า สถานการณ์โควิด-19 คงจะยังไม่จบลงโดยเร็ว และกว่าเศรษฐกิจจะกลับแข็งแรงแบบที่เคยเป็นมาคงต้องใช้เวลาพอสมควร ทำให้ธนาคารใช้ช่วงเวลาดังกล่าวมาเป็นโอกาสในการพัฒนาองค์กรและเปลี่ยนแปลงตัวเองผ่านยุทธศาสตร์ "SCB New Normal" ซึ่งจากรากฐานที่แข็งแรงด้วยการทำ Digital Transformation ทำให้ธนาคารมีขีดความสามารถในการเป็นองค์กรที่มีความตัวเบา และสามารถกำหนดรูปแบบการทำธุรกิจ (Business Model) การปรับต้นทุนการให้บริการ แนวทางการสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Engagement) การให้บริการกับลูกค้าในทุกๆกลุ่ม และนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆมาช่วยพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์และบริการ การสร้างคุณค่าใหม่ (Core Value) โดยมีความเข้าใจ (Empathy) เป็นแกนหลัก เพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีๆให้เกิดขึ้นและสำเร็จ
พร้อมกับการสร้างวัฒนธรรมองค์กรและวิถีการทำงานรูปแบบใหม่ (New Way of Work) ที่มีความคล่องตัว รวดเร็ว ทำงานจากที่ไหนก็ได้ (SCB work from anywhere) กล้าที่จะลองผิดลองถูกเพื่อนำผลไปปรับปรุงและพัฒนาจนได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด อันเป็นรากฐานสำคัญที่จะนำพาองค์กรให้สามารถฝ่าคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงที่กำลังโหมกระหน่ำจากทุกทิศทางได้
"ท่ามกลางภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้น ธนาคารตระหนักและให้ความสำคัญต่อบทบาทหน้าที่ที่มีต่อลูกค้าและสังคม ด้วยการมุ่งให้ความช่วยเหลือลูกค้าในทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเอสเอ็มอี เพื่อบรรเทาปัญหาและความเดือดร้อนในส่วนที่ธนาคารสามารถทำได้อย่างเต็มความสามารถ โดยมาตรการช่วยเหลือทางด้านสินเชื่อ การพักหนี้ หรือการลดดอกเบี้ย เป็นการช่วยเหลือในระยะสั้นที่ช่วยให้ธุรกิจของลูกค้าผ่านช่วงเวลายากลำบาก เพราะถ้าลูกค้ารอด SCB ก็รอดได้"นายอาทิตย์ กล่าว
โดยในช่วงโควิด-19 ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.ที่ผ่านมาจะเห็นความต้องการใช้สินเชื่อจากกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการรายใหญ่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากจากโควิด-19 คือ กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจโรงแรมที่ต้องการนำสินเชื่อไปใช้เพื่อเสริมสภาพคล่องของธุรกิจในช่วงที่ธุรกิจต้องหยุดชะงักไป และมีลูกค้ารายใหญ่บางส่วนนำสินเชื่อมาใช้ในการชำระคืนหน่วยลงทุนหุ้นกู้และตราสารหนี้ต่างๆ หลังจากที่ตลาดตราสารหนี้ในช่วง 2-3 เดือนทีผ่านมาเกิดการชะลอตัว
ส่วนโครงการสินเชื่อซอฟต์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารออมสินนั้น ธนาคารได้มีการอนุมัติให้กับกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี และเอสเอ็มอีขนาดเล็กที่มีความต้องการใช้สินเชื่อเพื่อทำให้ธุรกิจยังสามารถดำเนินต่อไปได้ และผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไป ซึ่งขณะนี้ธนาคารได้ปล่อยสินเชื่อซอฟท์โลนให้กับกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีและเอสเอ็มอีขนาดเล็กไปแล้ววงเงินรวมกว่า 3 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ ธนาคารยังได้คิดโซลูชั่นในระยะยาว โดยการผนึกความสามารถทางด้านเทคโนโลยีมาผสานเข้ากับวิถีองค์กรรูปแบบใหม่เพื่อช่วยเหลือลูกค้า สังคมและประเทศชาติ โดยพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มใหม่ขึ้นมาในเวลาเพียง 3 เดือน ภายใต้ชื่อ "Robinhood" (โรบินฮู้ด) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่สัญชาติไทย โดยไม่เก็บค่า GP ไม่มีชาร์จเพิ่ม เพื่อช่วยเหลือและแก้ปัญหาผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อยที่ต้องเจอเมื่อนำร้านขึ้นสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งค่า GP นับเป็น Pain Point หลักของผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดเล็กในปัจจุบัน
"ธนาคารหวังว่า Robinhood จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยกลุ่มร้านอาหารขนาดเล็กไปจนถึงเชนร้านอาหารต่างๆ ตลอดจนกลุ่มลูกค้าและคนขับ เพื่อให้เกิดเป็น Ecosystem ที่แข็งแรงและยั่งยืนต่อไป โดยมีภารกิจแรก คือ การเป็นแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่สัญชาติไทย มุ่งมั่นตั้งใจให้เป็นช่องทางการขายที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม ไม่หักค่าจีพีสำหรับร้านอาหารรายย่อย สมัครฟรี ไม่มีชาร์จเพิ่ม เจ้าของร้านได้เงินเร็วภายใน 1 ชั่วโมง รวมถึงการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนธุรกิจ ตั้งเป้าพร้อมเปิดให้บริการปลายเดือนก.ค. 63"นายอามิตย์ กล่าว
ทั้งนี้ธนาคารตคาดหวังจะมีจำนวนร้านค้าที่เข้าร่วมในแพลตฟอร์ม Robinhood ช่วงแรกราว 20,000 ร้านค้า และคาเว่าจะเพิ่มเป็น 40,000-50,000 ร้านค้าในช่วงสิ้นปีนี้ ในส่วนของผู้ใช้บริการผ่านแพลตฟอร์ม Robinhood ธนาคารคาดหวังสร้างประสบการณ์ที่ดี และความคุ้มค่าในรูปแบบใหม่ให้กับผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะในช่วงเปิดตัว 3 เดือนแรก เพื่อให้ผู้ใช้งานมีประสบการณ์ใหม่ๆในการใช้บริการนอกเหนือจากแพลตฟอร์มรายใหญ่ที่มีอยบู่ในตลาด อย่างไรก็ตามแม้ว่าธนาคารจะเป็นพันธมิตรกับ GOJEX จากอินโดนีเซีย ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม GET ในประเทศไทย ซึ่งธนาคารเป็นพันธมิตรที่สนับสนุนทางด้านการเงิน (Financial Partner) ให้กับ GOJEX ได้มีการพูดคุยและทำความเข้าใจกับพันธมิตรมาก่อนหน้านี้ถึงการทำแพลตฟอร์ม Robinhood และทาง GOJEX ไม่ได้มีข้อติดขัดอะไรกับทางธนาคาร ทำให้ธนาคารสามารถพัฒนาแพลตฟอร์มดังกล่าวได้อย่างเต็มที่
โดยแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ ภายใต้ชื่อ Robinhood จะดำเนินการภายใต้บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด (Purple Ventures) บริษัทน้องใหม่ในเครือเอสซีบี เท็นเอกซ์ (SCB 10X) ที่ตั้งขึ้น โดยมีงบการลงทุนต่อปีราว 100 ล้านบาท จากความต้องการช่วยเหลือคนไทยให้สามารถทำธุรกิจต่อไปได้อย่างยั่งยืน Robinhood จึงไม่ใช่เพียงแค่แพลตฟอร์มที่เชื่อมระหว่างคนกับร้านค้า แต่เป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมความสัมพันธ์ เชื่อมเศรษฐกิจ เป็นแพลตฟอร์มที่สื่อถึงการช่วยเหลือกัน การแบ่งปันความสุขซึ่งกันและกัน ซึ่งการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในยามยาก คือ จุดแข็งที่ทำให้คนไทย สังคมไทย และประเทศไทยสามารถรอดพ้นทุกวิกฤตที่เผชิญได้