นายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สายการเงินและบัญชี บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) เปิดเผยว่า บริษัทปรับคาดการณ์ปี 63 จำนวนผู้โดยสารต่อกิโลเมตร (Revenue Passenger-Kilomete : RPK) และ จำนวนที่นั่งต่อกิโลเมตร (Available. Seat-Kilometers : ASK) จะลดลง 60% โดยจำนวนผู้โดยสารจะลดลง 58-60% ส่วนราคาบัตรโดยสารเฉลี่ยคาดลดลง 4% จากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
ทั้งนี้ ผลประกอบการของบริษัทในไตรมาส 2/63 โดยปกติจะเป็นผลประกอบการที่ไม่ค่อยดี และจากผลกระทบของโควิด-19 ด้วยทำให้คาดว่าอาจจะไม่สามารถทำกำไรได้
แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทเชื่อว่าผลประกอบการครึ่งปีหลังจะฟื้นตัวดีขึ้นจากครึ่งปีแรก เนื่องจากสามารถให้บริการเที่ยวบินได้มากขึ้นหลังจากมีการคลายล็อกมาตรการต่าง ๆ ตามสถานการณ์โควิดที่คลี่คลายลง โดยคาดว่าตลาดในประเทศจะเริ่มฟื้นตัวหลังจากทยอยเพิ่มเที่ยวบินในประเทศตั้งแต่เดือนมิ.ย.63 เป็นต้นไป พร้อมกันนี้บริษัทยังมีแผนทยอยเพิ่มเที่ยวบินระหว่างประเทศตั้งแต่สิ้นเดือน ต.ค.63 เป็นต้นไปเพื่อรับฤดูกาลท่องเที่ยวปลายปี แต่การขายตั๋วแบบเว้นที่นั่งคาดว่าจะยังมีต่อไปจนถึงเดือน ต.ค.63 เช่นกัน ทำให้คาดว่าผลประกอบการจะเริ่มดีขึ้นชัดเจนในไตรมาส 4/63
บริษัทยังมีแผนทยอยปรับขนาดฝูงบินให้เล็กลง โดยเตรียมจำหน่ายเครื่องบินออกไป 3 ลำ แบ่งเป็น การคืนเครื่องบินที่ครบกำหนดสัญญาเช่า 1 ลำ และขายเครื่องบิน ATR72-500 จำนวน 2 ลำ จากเดิมมีอยู่ 6 ลำ ส่งผลให้สิ้นปีนี้จะเหลือเครื่องบินในฝูงบิน 37 ลำ จากปัจจุบัน 40 ลำ โดยบริษัทมีแผนเน้นการใช้เครื่องบินใบพัด ATR72-500 และ ATR72-600 มาให้บริการผู้โดยสารในระยะนี้ เนื่องจากสามารถลดต้นทุนน้ำมันได้และมองว่าเหมาะสมกับตลาดที่ความต้องการบินจะค่อย ๆ ฟื้นตัวกลับมา
นอกจากนี้ บริษัทยังจะเดินหน้ามองหาโอกาสร่วมมือกับพันธมิตรสายการบินร่วม (Codeshare) ทั้งในไทยและเอเชียเพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถนำผู้โดยสารจากต่างประเทศเข้ามาใช้บริการในเส้นทางบินของบริษัทได้มากขึ้น และเพื่อลดการพึ่งพิงนักท่องเที่ยวยุโรปและตะวันออกกลางเนื่องจากมองว่าอาจต้องใช้ระยะเวลาฟื้นตัวมากกว่า 1 ปี โดยคาดว่าภายในช่วงที่เหลือของปีนี้จะได้ข้อสรุปการทำข้อตกลงไม่น้อยกว่า 1 สายการบิน จากปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้จากสายการบิน Codeshare ประมาณ 27%
นายอนวัช กล่าวอีกว่า บริษัทยอมรับว่าการเพิ่มทุนเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถเพิ่มสภาพคล่องให้กับบริษัทได้ แต่ปัจจุบันยังไม่มีแผนจะพิจารณาแนวทางดังกล่าว เนื่องจากยังมีกระแสเงินสดอยู่พอสมควรและมีวงเงินกู้ยืมที่สามารถเบิกใช้จากสถาบันการเงินได้ ดังนั้น หากไม่มีความจำเป็นจริง ๆ บริษัทก็จะไม่นำเสนอผู้ถือหุ้นให้พิจารณาแผนเพิ่มทุน