โบรกเกอร์ แนะนำ"ซื้อ"หุ้นบมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล (BCH) หลังมองกำไรปี 63 ยังเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลักแม้จะเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กระทบให้ลูกค้าต่างชาติหายไป แต่ก็ได้รับผลบวกจากการปรับกลยุทธ์ทั้งบริการตรวจเชื้อโควิด รวมถึงบริการเชิงรุกกับลูกค้าประจำที่เป็นโรคเรื้อรังผ่าน Telemedicine และ Home Service
นอกจากนี้ การที่มีฐานลูกค้ากลุ่มประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น และการปรับเพิ่มค่าบริการรายหัวของสำนักงานประกันสังคมตั้งแต่ต้นปีนี้ ก็จะทำให้รายได้ส่วนนี้จะเข้ามาช่วยหนุนผลการดำเนินงานด้วย
ขณะเดียวกันราคาหุ้น BCH ที่ยังคง laggard หลังเทรดด้วย P/E ราว 27 เท่า ต่ำกว่ากลุ่มโรงพยาบาลที่เทรด P/E สูงถึง 42 เท่า และยังมีโอกาสจะเพิ่มลูกค้ากลุ่มประกันสังคมได้อีก รวมถึงแนวโน้มสถานการณ์โควิดที่คลี่คลายและไทยอาจจะกลับมาเปิดประเทศในเร็ววันนี้ก็จะช่วยให้กลุ่มลูกค้าต่างชาติกลับเข้ามาใช้บริการ ส่งผลดีต่อแนวโน้มผลประกอบการให้ฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี จากจุดต่ำสุดในไตรมาส 2/63
ปิดเที่ยง ราคาหุ้น BCH อยู่ที่ 14.30 บาท บวก 0.20 บาท หรือ +1.42% ขณะที่ SET +0.67%
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) โนมูระ พัฒนสิน ซื้อ 16.50 ดีบีเอส วิคเคอร์สฯ ซื้อ 17.00 หยวนต้า (ประเทศไทย) ซื้อ 17.50 ทรีนีตี้ ซื้อ 19.90 ฟิลลิป (ประเทศไทย) ซื้อ 19.00 แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ซื้อ 18.00 เคทีบี (ประเทศไทย) ซื้อ 20.00 ฟินันเซีย ไซรัส ซื้อ 16.00 เอเซีย พลัส ซื้อ 18.70
นายอำนาจ โงสว่าง ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานของ BCH ในปีนี้ยังคงเติบโตได้ดี โดยคาดว่ากำไรสุทธิปีนี้จะเติบโตได้ราว 18% มาที่ 1.34 พันล้านบาท จากการรับรู้รายได้ประกันสังคมที่เพิ่มขึ้นจากการปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายรายหัวอีก 9% ประกอบกับมีรายได้จากการให้บริการตรวจคัดกรองโควิด-19 เข้ามาช่วยชดเชยรายได้จากลูกค้าต่างชาติที่หายไปจากสถานการณ์โควิด
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา BCH มีเคสตรวจโควิด-19 มากกว่า 9 หมื่นตัวอย่าง จากเคสที่ตรวจในโรงพยาบาลเอกชนทั่วไประเทศที่มีทั้งหมด 1.6 แสนตัวอย่าง หรือคิดเป็นสัดส่วน 54% ซึ่งจะช่วยหนุนรายได้ในช่วงไตรมาส 2/63 ด้วย นอกจากนี้ BCH ยังได้ร่วมมือกับ 6 โรงแรมเพื่อสร้างเป็น Alternative State Quarantine รองรับการกักตัวของผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ซึ่งก็จะเป็นช่องทางสร้างรายได้เสริมเข้ามาเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นมองว่าผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/63 ของ BCH จะอ่อนแอสุดในรอบปี นอกเหนือจากเป็นไปตามช่วงฤดูกาลของธุรกิจโรงพยาบาลแล้ว ยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เต็มที่ แต่มองว่าน่าจะเป็นช่วงทยอยสะสมหุ้น BCH เนื่องจากผลการดำเนินงานจะเข้าสู่ไฮซีซั่นในช่วงไตรมาส 3/63 หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ผู้ป่วยกลับมาใช้บริการโรงพยาบาลอีกครั้ง โดยเฉพาะการผ่าตัดซึ่งก็จะช่วยหนุนรายได้มากขึ้น
ขณะที่หากรัฐบาลเปิดน่านฟ้าตั้งแต่เดือนก.ค. ก็จะทำให้ลูกค้าต่างชาติน่าจะเริ่มกลับเข้ามา ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในกลุ่มจีน,ญี่ปุ่น,เกาหลีใต้ ก็จะส่งผลดีต่อการให้บริการศูนย์ผู้มีบุตรยาก (IVF) ของ BCH ด้วย
นอกจากนี้ BCH ยังมีโอกาสที่จะรับลูกค้ากลุ่มประสังคมได้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับโรงพยาบาลเอกชนอื่น จากขีดความสามารถของเครือโรงพยาบาลที่รองรับลูกค้ากลุ่มนี้ได้ราว 1 ล้านคน ขณะที่มีลูกค้าประกันสังคมที่ลงทะเบียนอยู่ที่ราว 8.8 แสนคนเท่านั้น
"แม้จะมองว่าไตรมาส 2 จะแย่เพราะได้รับผลกระทบจากโควิด ซึ่ง BCH มีรายได้จากลูกค้าต่างชาติราว 10% แต่ปีนี้ BCH ก็จะมีรายได้จากประกันสังคมมากขึ้น และมีรายได้จากการตรวจเคสโควิดเพิ่มเข้ามาชดเชยรายได้จากลูกค้าต่างชาติที่หายไป...เมื่อเทียบ Valuation ของ BCH ยัง laggard เทรดที่ P/E ราว 27 เท่า เทียบกับ CHG ที่เทรด P/E 34-35 เท่า และเมื่อเทียบกับกลุ่มโรงพยาบาลที่เทรด P/E 42 เท่า นับว่า laggard ที่สุด"นายอำนาจ กล่าว
ด้าน บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ผลกำไรของ BCH ในไตรมาส 2/63 แม้คาดว่าจะลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน แต่เชื่อว่าจะลดลงไม่มากนัก เนื่องจากมีแผนรับมือสถานการณ์โควิด-19 โดยหันมาให้บริการเชิงรุกกับลูกค้าประจำที่เป็นโรคเรื้อรัง ผ่านบริการ Telemedicine และ Home Service รวมถึงบริการฉีดวัคซีนแบบ Drive Thru ซึ่งได้ให้บริการดูแลผู้สูงอายุที่เป็นโรคเรื้อรัง แบบ Home Service อย่างใกล้ชิด
รวมถึงการลดต้นทุน ทั้งนโยบายลด minimum guarantee แก่แพทย์ และนโยบาย Zero OT รวมถึงชะลอการลงทุนใหม่ และการปรับปรุงโรงพยาบาลออกไป ตลอดจนเพิ่มช่องทางรายได้ โดยให้มีห้องแล็ปตรวจเชื้อโควิด-19 ที่ได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาตร์การแพทย์ถึง 9 โรงพยาบาล และกำลังการดำเนินการเพิ่มอีก 2 โรงพยาบาล โดยผลการตรวจจำนวนผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ในส่วนของ BCH มีจำนวนถึง 9 หมื่นราย ทำให้คาดว่าในไตรมาส 2/63 จะมีรายได้จากการตรวจแล็ปโควิด-19 จากภาครัฐเข้ามาชดเชยรายได้จากลูกค้าต่างชาติที่ลดลง รวมถึงรายได้จากประกันสังคมยังเติบโตได้จากจำนวนผู้ประกันตนที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งตั้งแต่กลางพ.ค. เริ่มเห็นจำนวนคนไข้กลับมาใช้บริการแล้วราว 70% จากปกติ
ส่วนบทวิเคราะห์ บล.เอเชีย เวลท์ ระบุว่าแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2/63 ของ BCH มีทิศทางอ่อนตัว จากผลกระทบของโควิด-19 เนื่องจากการล็อกดาวน์เมืองทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตามเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีในเดือน พ.ค. จากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้โรงพยาบาลเพิ่มการให้บริการเกี่ยวกับโควิด-19 ทั้งการตรวจคัดกรองแบบเชิงรับและเชิงรุก และการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 รวมถึง Alternative State Quarantine ที่ร่วมมือกับผู้ประกอบการโรงแรม ซึ่งคาดจะช่วยชดเชยรายได้บางส่วน
ขณะเดียวกันโรงพยาบาลยังมีการลดค่าใช้จ่ายบุคลากร และชะลอการลงทุนต่าง ๆ อีกด้วย ทั้งนี้ ประเมินการเติบโตของรายได้ปี 63 อย่างอนุรักษนิยมที่ 8.8% มาที่ 9.66 พันล้านบาท และประเมินกำไรสุทธิอยู่ที่ 1.26 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.7% จากปีก่อน โดยคาดว่ารายได้จะฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ หลังสถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น รวมถึงมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ช่วยหนุนธุรกิจ
ทั้งนี้ BCH ปรับตัวตามสถานการณ์ โดยเพิ่มบริการ Home Service ส่งเจ้าหน้าที่ให้บริการถึงบ้าน อาทิ กายภาพบำบัด ตรวจสุขภาพ ทำแผล ฉีดวัคซีน เป็นต้น รวมถึงบริการส่งยาทางไปรษณีย์ เนื่องจากผู้ป่วยมีความกังวลการติดเชื้อและหลีกเลี่ยงการเดินทางมายังโรงพยาบาล ทำให้คาดว่าธุรกิจจะยังเติบโตได้ดีในระยะยาว
บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์โดยเลือก BCH เป็นหุ้นเด่นในกลุ่มโรงพยาบาล จากแนวโน้มการเติบโตในปีนี้ และ Valuation ไม่แพง โดยประเมินว่าในไตรมาส 2/63 BCH มีกำไรปกติเติบโตเล็กน้อยเมื่อเทียบกับงวดปีก่อน และไตรมาสก่อน ซึ่งนับว่าดีกว่ากลุ่ม มีปัจจัยบวกการเติบโตของรายได้ และอัตรากำไรดีขึ้นจากการให้บริการตรวจโควิด-19 ซึ่งมีมาร์จิ้นที่ดีกว่าการรักษา นอกจากนี้หุ้น BCH ปัจจุบันซื้อขาย P/E ปีนี้ถูกสุดเมื่อเทียบกับกลุ่ม