นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า กรณีของบมจ.การบินไทย (THAI) ที่ยื่นศาลล้มละลายเพื่อเข้าสู่กระบวนการแผนฟื้นฟูกิจการนั้น ส่งผลให้ธนาคารต้องทยอยตั้งสำรองฯหนี้ของ THAI ที่มีมูลหนี้ราว 6 พันล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ธนาคารได้มีการตั้งสำรองฯ ไปบ้างแล้ว และหลังจาก THAI เข้าแผนฟื้นฟูฯ ธนาคารต้องทยอยตั้งสำรองฯ ให้ครบทั้งหมดภายในไตรมาส 2/63
สำหรับเงินที่จะนำมาตั้งสำรองฯหนี้ของ THAI นั้น ธนาคารมีเงินจากการชนะคดีความกับลูกหนี้เก่ารายหนึ่งเมื่อไม่นานนี้ ทำให้จะได้รับเงินก้อนดังกล่าวเข้ามากว่า 8 พันล้านบาท สามารถชดเชยในส่วนของการตั้งสำรองของ THAI ทำให้ผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของธนาคารไม่ได้รับผลกระทบมากอย่างมีนัยสำคัญจากกรณีที่ธนาคารจะต้องตั้งสำรองฯหนี้ของไทยครบในไตรมาส 2/63
ขณะที่แนวโน้มผลการดำเนินในไตรมาส 2/63 ของธนาคารคาดว่าจะมีแนวโน้มลดลงจากไตรมาส 1/63 เนื่องจากเป็นไตรมาสที่รับผลกระทบจากโควิด-19 เข้ามาเต็ม เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/63 ซึ่งจะมีผลกระทบต่อรายได้ของธนาคาร โดยเฉพาะรายได้จากดอกเบี้ย หลังจากมีมาตรการการพักชำระหนี้และปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้าเพื่อช่วยเหลือช่วงวิกฤตโควิด-19 อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลงมาต่ำในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้รายได้จากดอกเบี้ยรับของธนาคารลดลงตามไปด้วย
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารได้มีการช่วยเหลือลูกค้าในการพักชำระหนี้ และการปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้วสำหรับกลุ่มลูกค้ารายย่อย เอสเอ็มอีขนาดเล็กและกลาง ในวงเงินรวม 3 แสนล้านบาท และได้ช่วยเหลือลูกค้ารายใหญ่ในวงเงินครึ่งหนึ่งของกลุ่มลูกค้ารายย่อย เอสเอ็มอีขนาดเล็กและกลางด้วย เพื่อช่วยประคองให้ลูกค้าสามารถอยู่รอดและดำเนินธุรกิจไปต่อได้
นายผยง กล่าวว่า สิ่งที่ธนาคารยังคงต้องจับตาและติดตามอย่างต่อเนื่องในช่วงที่มีการพักชำระหนี้ให้กับลูกค้า คือความสามารถในการกลับมาชำระหนี้หลังจากสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือไปแล้ว โดยที่ธนาคารจะดำเนินการในเชิงรุกเพื่อเข้าไปพูดคุยและหาแนวทางช่วยพลิกฟื้นธุรกิจของลูกค้าให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปได้ด้วยกัน เพื่อให้ลูกค้ายังคงชำระคืนหนี้ได้เมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ
อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังคงต้องทยอยตั้งสำรองฯเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2/63 เป็นต้นไปเพื่อป้องกันความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ จากภาวะเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มชะลอตัว และโควิด-19 ยังมีความไม่แน่นอนว่าจะกลับมาระบาดอีกครั้งหรือไม่ แม้ว่าปัจจุบันสถานการณ์ในประเทศจะเริ่มคลี่คลายลงบ้างแล้ว และเริ่มมีการผ่อนคลายเฟสที่ 3 ธนาคารจึงยังคงต้องระมัดระวังการดำเนินธุรกิจในภาวะที่เผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลให้แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้น
"เรายังคงต้องรักษาเสถียรภาพของธนาคารให้ดี ในภาวะที่เผชิญกับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่เข้ามากระทบ มาตรการการพักชำระหนี้และช่วยเหลือลูกค้าตามกรอบของธนาคารแห่งประเทศไทยถึงสิ้นปีนี้ ก็ยังไม่แน่นอนว่าลูกค้าที่เข้ามาตรการจะยังคงเป็น Performing Loan อยู่หรือไม่ ซึ่งเราประเมินว่าจะเห็นแนวโน้ม NPL ของระบบสูงขึ้นหลังสิ้นสุดมาตรการมาที่ 7-9% และเงินกองทุนของระบบที่มีอยู่ทั้งหมดในปัจจุบันสามารถรับกับ NPL ได้ไหวที่ระดับ10-11% ทำให้ธนาคารจะต้องมีการทดเลข เพื่อทยอยตั้งสำรองฯมาป้องกันความเสี่ยงที่เกิดขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพของธนาคารไว้ โดยที่ปัจจุบัน Coverage Ratio ของธนาคารอยู่ที่ 130%"นายผยง กล่าว
นายผยง กล่าวอีกว่า ภาพรวมของผลการดำเนินงานของธนาคารในปีนี้คาดว่าจะลดลงจากปีก่อน จากผลของสถานการณ์โควิด-19 ที่กระทบเศรษฐกิจ และกระทบมาถึงลูกค้าของธนาคาร ทำให้รายได้จากดอกเบี้ยลดลง ซึ่งรายได้จากดอกเบี้ยมีสัดส่วนสูงถึง 70% ของรายได้ทั้งหมดของธนาคาร ซึ่งการที่ธนาคารมีมาตรการพักชำระหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงการปรับอัตราดอกเบี้ยลงตามดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้รายได้จากดอกเบี้ยได้รับผลกระทบไปด้วย
ขณะที่ยังมีปัจจัยกดดันให้ต้องตั้งสำรองฯที่เพิ่มขึ้น จากแนวโน้ม NPL ที่เพิ่มขึ้นตาม และการลดต้นทุนของธนาคารยังไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับการลดลงของรายได้ ส่งผลกดดันผลการดำเนินงานของธนาคารในปีนี้
ทั้งนี้ ธนาคารยังอยู่ระหว่างการทบทวนแผนงานในปีนี้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ จากเดิมตั้งเป้าสินเชื่อเติบโต 3-5% พร้อมรักษาระดับ NPL ให้ใกล้เคียงปีก่อนที่ 4.3% และมี Coverage ratio ที่ 130% โดยธนาคารจะมีการทบทวนแผนงานดังกล่าวอีกครั้งหลังจากมองภาพสถานการณ์ในขณะนี้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เคยประเมินไว้
นอกจากนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้ธนาคารต้องมองถึงการหา Business Model ใหม่ๆ เข้ามาเสริม และกระจาย Cost of revenue ให้เปลี่ยนไปจากโครงสร้างเดิมที่มีต้นทุนสูง และอัตรากำไร (มาร์จิ้น) ค่อนข้างผันผวน ซึ่งการหันมาพัฒนาด้านเทคโนโลยีและพัฒนาโซลูชั่นใหม่ๆผ่าน 5 Ecosystem ของธนาคารเป็นส่วนหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยเสริมการพัฒนาไปสู่ Business Model ใหม่ๆ ซึ่งในช่วงไตรมาส 3 และ 4 นี้จะเห็นการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ออกมาใช้เพิ่มมากขึ้น โดยธนาคารได้วางงบลงทุนด้านไอทีในปีนี้ไว้ราว 2 หมื่นล้านบาท