SCC ระบุกำไรสุทธิของเครือจะได้รับผลกระทบเชิงลบหากบาทยังแข็งค่าต่อไป

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 25, 2007 14:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ระบุว่า หากค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นต่อไปจะมีผลกระทบต่อกำไรสุทธิของเครือ เนื่องจากปัจจุบันเครือ SCC มียอดส่งออก รวมถึงยอดขายสินค้าที่ราคาอิงตามเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐมากกว่ายอดนำเข้า ซึ่งทำให้ในช่วงครึ่งแรกของปี 50 เครือ SCC ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น 3.58 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ 
ทั้งนี้ ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2549 อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยอยู่ที่ 38.68 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวมาอยู่ที่ระดับ 35.10 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2550 ซึ่งทำให้ EBITDA ของเครือ SCC ลดลง 9% หรือเท่ากับ 26,883 ล้านบาท ลดลง 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ยอดขายสุทธิ เท่ากับ 128,949 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
SCC ระบุว่าครึ่งแรกของปี 2550 ทั้งเครือมีกำไรสุทธิ 17,028 ล้านบาท ลดลง 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และกำไรจากการดำเนินงาน 14,490 ล้านบาท ลดลงต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยลดลง 13% เป็นผลจากในไตรมาสที่ 1/49 รับรู้กำไรจากการเปลี่ยนแปลงสถานะในเงินลงทุนของ BST จำนวน 1,400 ล้านบาท
ประกอบกับในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2550 ธุรกิจซิเมนต์ ธุรกิจผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ธุรกิจจัดจำหน่าย และธุรกิจกระดาษมีผลการดำเนินงานที่ลดลง ตามการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ
สำหรับช่วงไตรมาส 2/50 เครือ SCC มีกำไรสุทธิ เพิ่มขึ้น 7% เนื่องจากมีกำไรสุทธิจาการขายเงินลงทุนในบริษัทเหล็กสยามยามาโตะ จำกัด และ บมจ. อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) (ATC) รวม 2,448 ล้านบาท แม้ว่ากำไรจากการดำเนินงาน 6,367 ล้านบาท จะลดลง 14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากยอดขายสุทธิ 63,612 ล้านบาทใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และ EBITDA ลดลง 6%
SCC เปิดเผยว่า ไตรมาส 2/50 ธุรกิจปูนซีเมนต์มียอดขาย 10,375 ล้านบาท ลดลง 4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 10% จากไตรมาสก่อน โดยมียอดขายในประเทศ 2.4 ล้านตัน ลดลง 9% ราคาเฉลี่ยอยู่ในช่วง 1,735-1,770 บาท/ตัน และมียอดส่งออก 2.0 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 22% เนื่องจากสามารถส่งออกปูนซีเมนต์เม็ด (Clinker) ไปยังประเทศบังคลาเทศเพิ่มสูงขึ้นประกอบกับมีตลาดส่งออกแห่งใหม่ในเคนยา และสเปน
ธุรกิจเคมีภัณฑ์ในไตรมาสนี้ มียอดขาย 31,175 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากราคาผลิตภัณฑ์ PVC ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยมี EBITDA เท่ากับ 5,937 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากเงินปันผลรับจากบริษัทร่วมที่เพิ่มขึ้น แต่ลดลง 24% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากราคา Naphtha (ต้นทุนวัตถุดิบ) ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับเงินปันผลรับจากธุรกิจ PTA ที่ลดลง
อีกทั้งได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท ส่งผลให้ ธุรกิจฯ มีกำไรจากการดำเนินงานในไตรมาสนี้ เท่ากับ 3,137 ล้านบาท ลดลง 20% จากไตรมาสก่อน และลดลง 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากส่วนได้เสียในกำไรของบริษัทร่วมที่ลดลง
สำหรับธุรกิจ PTA ยังคงมี Margin อยู่ในระดับต่ำ และคาดการณ์ว่า Margin ของธุรกิจจะอยู่ในระดับเช่นนี้ตลอดปี 2550 - 2551 เนื่องจากภาวะอุปทานส่วนเกินจากกำลังการผลิตใหม่
ในส่วนธุรกิจกระดาษ ปริมาณขายภายในประเทศของกระดาษบรรจุภัณฑ์ในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้น 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 3% จากไตรมาสก่อน เนื่องจากราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับมี ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงส่งผลให้ Margin ของธุรกิจกระดาษอยู่ในระดับต่ำ
และธุรกิจผลิตภัณฑ์ก่อสร้างมียอดขายสุทธิ เท่ากับ 5,071 ล้านบาท ลดลง 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มี EBITDA 1,191 ล้านบาท ลดลง 15% เป็นผลจาก Margin ที่ลดลงจากราคาวัตถุดิบและต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับการแข่งขันที่สูงขึ้นจากสินค้าราคาถูกและสินค้านำเข้า อีกทั้งธุรกิจฯ มีค่าใช้จ่ายอันเนื่องจากโรงงานแห่งใหม่ที่เริ่มดำเนินการผลิต โดยกำไรจากการดำเนินงานเท่ากับ 149 ล้านบาท ลดลง 71% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากค่าเสื่อมราคาที่เพิ่มสูงขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ