บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คง "เครดิตพินิจ" แนวโน้ม "Negative" หรือ "ลบ" สำหรับอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ. ซีพี ออลล์ (CPALL) ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ "AA-"
ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าจะทบทวน "เครดิตพินิจ" ดังกล่าวอีกครั้งหลังจากวิเคราะห์ธุรกรรมการลงทุนใน บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และ Tesco Stores (Malaysia) Sdn. Bhd. ซึ่งรวมเรียกว่า "กลุ่มเทสโก้เอเชีย" (Tesco Asia Group) ว่าจะมีผลกระทบต่อสถานะเครดิตของบริษัทมากน้อยเพียงใดอย่างถี่ถ้วนแล้ว
อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทซึ่งเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ อาทิ การเป็นผู้นำในธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อในประเทศไทย ลักษณะของธุรกิจค้าปลีกที่สามารถสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน การมีเครือข่ายสาขาที่แข็งแกร่งและครอบคลุมทั่วประเทศ และการมีธุรกิจสนับสนุนที่เข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม การพิจารณาอันดับเครดิตดังกล่าวยังคำนึงถึงความกังวลเกี่ยวกับอำนาจซื้อที่อ่อนแอลงของผู้บริโภค ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยยิ่งขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบในด้านลบต่อภาคธุรกิจค้าปลีกอีกด้วย
เครดิตพินิจ (CreditAlert)
ทริสเรทติ้งได้ออกประกาศ "เครดิตพินิจ" แนวโน้ม "Negative" หรือ "ลบ" ให้แก่อันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ทั้งหมดของบริษัทมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2563 อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากประกาศที่ระบุว่าบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นทั้งหมดจะเข้าลงทุนในสัดส่วน 40% ในกลุ่มเทสโก้เอเชีย ด้วยมูลค่าเงินลงทุนในส่วนของบริษัทที่สัดส่วน 40% โดยเทียบเท่ากับ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 9.6 หมื่นล้านบาท) ซึ่งบริษัทจะใช้เงินกู้ทั้งจำนวนสำหรับการลงทุนในครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม การทำธุรกรรมในครั้งนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อบริษัทบรรลุเงื่อนไขบังคับก่อน (Conditions Precedent) ตามที่กำหนดไว้อย่างครบถ้วน ซึ่งรวมถึงการได้รับอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องซึ่งประกอบไปด้วยสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของประเทศไทยและ Ministry of Domestic Trade and Consumer Affairs of Malaysia รวมทั้งยังต้องได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้นของ Tesco PLC อีกด้วย ซึ่งบริษัทคาดว่าหากธุรกรรมดังกล่าวได้รับความเห็นชอบแล้ว กระบวนการซื้อกิจการก็จะแล้วเสร็จภายในปลายปี 2563 นี้
"เครดิตพินิจ" แนวโน้ม "Negative" หรือ "ลบ" สะท้อนถึงความเห็นของทริสเรทติ้งว่าอันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับลดลงหรือยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากระดับในปัจจุบัน ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งมองว่าการซื้อกิจการในครั้งนี้จะช่วยเสริมสถานะความแข็งแกร่งในธุรกิจค้าปลีกของบริษัทผ่านทางการร่วมเป็นเจ้าของธุรกิจค้าปลีกชั้นนำในประเทศไทยและมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าการซื้อกิจการโดยใช้เงินกู้ในครั้งนี้ หากประสบความสำเร็จก็จะส่งผลให้ระดับหนี้สินของบริษัทเพิ่มขึ้นและส่งผลต่อความเสี่ยงทางการเงินของบริษัทเป็นอย่างมาก
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ผลกระทบจากโควิด-19 ธุรกิจค้าปลีกต้องเผชิญกับแรงกดดันจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลทำให้จำนวนลูกค้าลดลงอย่างมากจากมาตรการปิดเมืองและการรักษาระยะห่างทางสังคมเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส
ทริสเรทติ้งปรับลดอัตราแนวโน้มการเติบโตของ CPALL ลงจากประมาณการเดิมเพื่อสะท้อนถึงความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดดังกล่าว ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทจะลดลง 1% ในปี 2563 และจะกลับมาเติบโตในระดับ 6% ต่อปีในช่วงปี 2564-2565 โดยปัจจัยที่ผลักดันการเติบโตของรายได้จะมาจากการขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ยอดขายจากสาขาเดิมคาดว่าจะลดลงอย่างมากในปี 2563 และค่อย ๆ ฟื้นตัวดีขึ้นในปี 2564-2565
ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทอยู่ที่ 1.46 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียง 5.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งน้อยกว่าอัตราเติบโตในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ระดับ 8%-11% ยอดขายในสาขาเดิมของ 7-Eleven หดตัวลง 4% จากผลกระทบของมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสซึ่งรวมถึงการห้ามเดินทางและการลดชั่วโมงการเปิดสาขาในช่วงเวลาเคอร์ฟิว
อย่างไรก็ตาม "แม็คโคร" กลับมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าคู่แข่ง โดยมียอดขายในสาขาเดิมเพิ่มขึ้นถึง 7% เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากการที่ผู้บริโภคแย่งกันกักตุนสินค้าที่จำเป็นในช่วงที่การแพร่ระบาดถึงจุดสูงสุด ซึ่งช่วยชดเชยยอดขายที่ลดลงของกลุ่มธุรกิจร้านอาหารเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ โควิด-19 น่าจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อทั้งร้าน 7-Eleven และห้างแม็คโครในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 แต่ทริสเรทติ้งก็คาดว่าสถานการณ์จะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปี
อัตรากำไรอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ ความสำเร็จในการปรับปรุงประสิทธิภาพและการเพิ่มยอดรายได้ในกลุ่มสินค้าที่มีอัตรากำไรสูงเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ผลกำไรของบริษัทอยู่ในเกณฑ์ที่ดี อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทอยู่ที่ระดับ 9.2%-9.5% ในระหว่างปี 2559 จนถึงไตรมาสแรกของปี 2563 กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นเป็น 5.23 หมื่นล้านบาทในปี 2562 และ 1.37 หมื่นล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2563 จาก 4.2 หมื่นล้านบาทในปี 2559 นอกจากนี้ บริษัทยังมีแหล่งรายได้และกำไรจากการให้บริการใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การเป็นตัวแทนธนาคารพาณิชย์ บริการรับส่งพัสดุ และบริการส่งสินค้าที่บ้าน เป็นต้น จากสมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะเติบโตมาอยู่ที่ระดับ 5.64 หมื่นล้านบาทในปี 2565 จากระดับ 5.23 หมื่นล้านบาทในปี 2562
ภาระหนี้มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้น ภาระหนี้ของบริษัทปรับตัวดีขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จากการที่บริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานได้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งบริษัทยังได้ขายหุ้นของ บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) ออกไปบางส่วนเพื่อนำไปใช้ชำระหนี้ อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทจึงลดลงอย่างมาก โดยอัตราส่วนลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3.6 เท่า (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 จากระดับ 5.5 เท่าในปี 2557
อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีแผนใช้เงินลงทุนประมาณ 1.6-2.0 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า ซึ่งประกอบด้วยการขยายจำนวนร้านค้า 7-Eleven ประมาณ 700 ร้านและห้างแม็คโครอีกประมาณ 6-8 สาขาต่อปีทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนการลงทุนขนาดใหญ่ในอนาคตอีกด้วย หากการลงทุนในกลุ่มเทสโก้ประสบความสำเร็จก็จะส่งผลให้ระดับหนี้สินของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและจะส่งผลต่อความเสี่ยงทางการเงินของบริษัทเป็นอย่างมาก โดยทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทน่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 76% จากระดับ 67.5% ในปี 2562 และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายน่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 5.8 เท่าจากระดับ 3.5 เท่าในปี 2562
สภาพคล่องอยู่ในระดับที่เพียงพอ บริษัทมีสภาพคล่องที่ดี กระแสเงินสดจากการดำเนินงานและเงินสดในมือของบริษัทมีเพียงพอสำหรับใช้ในการชำระหนี้ รวมทั้งเป็นค่าใช้จ่ายตามแผนลงทุนและจ่ายเงินปันผลตามปกติ อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินปรับตัวมาอยู่ที่ระดับ 20.5% ในปี 2562 และ 20.3% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) จากระดับ 19.4% ในปี 2561 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ที่ระดับ 4.9 เท่าในปี 2562 และ 6.5 เท่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 เพิ่มขึ้นจาก 4.8 เท่าในปี 2561
เป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีกประเภทร้านค้าสะดวกซื้อ CPALL มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งจากการเป็นผู้นำในธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อในประเทศไทย บริษัทดำเนินธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อภายใต้เครื่องหมายการค้าสากล "7-Eleven" ที่เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี ทั้งนี้ ร้านค้า 7-Eleven มีจำนวนประมาณ 2 ใน 3 ของร้านค้าสะดวกซื้อทั้งหมดในประเทศไทย โดย ณ เดือนมีนาคม 2563 บริษัทมีร้านค้า 7-Eleven ทั้งหมดจำนวน 11,983 ร้านทั่วประเทศ โดยเกือบครึ่งหนึ่ง (44%) ของจำนวนร้านค้าทั้งหมดอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนที่เหลือ 56% อยู่ในต่างจังหวัด นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการร้านค้าสะดวกซื้อ 7-Eleven ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลกอีกด้วย ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนสาขาของร้านค้า 7-Eleven มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากประเทศญี่ปุ่น
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
- รายได้จากการดำเนินงานของบริษัทจะลดลง 1% ในปี 2563 และจะเติบโตที่ระดับ 6% ต่อปีในช่วงปี 2564-2565
- อัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ที่ระดับประมาณ 25% และอัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะอยู่ที่ระดับประมาณ 9%
- ค่าใช้จ่ายลงทุนจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.6-2.1 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2565 ไม่รวมเงินลงทุนในการซื้อกิจการของกลุ่มเทสโก้เอเชีย