นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า บริษัทวางเป้าหมายปรับสัดส่วนพอร์ตธุรกิจใหม่ในระยะยาว ด้วยการเพิ่มพอร์ตธุรกิจก๊าซธรรมชาติเป็น 80% จาก 70% ในปัจจุบันตามความต้องการใช้ก๊าซฯของตลาดโลกที่จะเพิ่มมากขึ้น ขณะที่พอร์ตน้ำมันจะปรับลดลงเหลือ 20% จาก 30% ในขณะนี้ เนื่องจากมองว่าบทบาทของน้ำมันจะลดลงในอนาคต
ทั้งนี้ ปตท.สผ.มีแผนขยายการลงทุนธุรกิจก๊าซฯให้ครบวงจรมากขึ้น โดยเฉพาะการนำก๊าซฯไปใช้ผลิตไฟฟ้าเพื่อสร้างตลาดของผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ ตามโครงการ Gas to Power ในเมียนมา ขนาด 300 เมกะวัตต์ (MW) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจากรอบการพัฒนาเชิงพาณิชย์กับรัฐบาลเมียนมา และรอการนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของรัฐบาลเมียนมา ซึ่งหลังจากได้รับอนุมัติแล้วก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการศึกษาด้านวิศวกรรมเบื้องต้นเพื่อประเมินงบประมาณการลงทุน หลังจากนั้นจึงจะเจรจารายละเอียดสัญญาซื้อขายไฟฟ้าต่อไป
"ปตท.สผ.ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคาน้ำมันตกต่ำพอควร อย่างไรก็ตามเราคิดว่าเรายังพอที่จะตั้งรับกับสถานการณ์นี้ได้ เพราะเป็นบริษัทที่ทำก๊าซฯเป็นหลัก การที่ทำธุรกิจก๊าซฯมีสัญญาซื้อขายก๊าซฯระยะยาวรองรับ ซึ่งมีการกำหนดสูตรราคาชัดเจนและมี Lag time) การปรับราคาด้วย มีโครงสร้างการลงทุนต่ำและแข่งขันได้ พอร์ตของเราจะเน้นก๊าซฯเป็นหลัก ตอนนี้อยู่ในสัดส่วน 70:30 ก็จะไปเป็น 80:20 ในระยะยาว"นายพงศธร กล่าวในที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2563 ในวันนี้
นายพงศธร กล่าวอีกว่า แผนการดำเนินงานหลักในปีนี้ ปตท.สผ.จะมุ่งเน้นการเปลี่ยนผ่านการดำเนินการโครงการที่ได้เข้าซื้อมาในปีที่ผ่านมา ทั้งโครงการในมาเลเซีย และโครงการพาร์เท็กซ์ รวมถึงการเปลี่ยนผ่านสิทธิการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณและบงกชในอ่าวไทยให้มีความราบรื่น ตลอดจนสร้างมูลค่าเพิ่มจากโครงการที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงเร่งกิจกรรมการสำรวจ เพื่อเพิ่มปริมาณสำรองในระยะยาว และการต่อยอดโครงการไปยังธุรกิจใหม่ เช่น Gas to power และธุรกิจปัญญาประดิษฐ์ผ่านบริษัท AI & Robotics Venture (ARV)
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ซึ่งในส่วนของ ปตท.สผ.ก็ได้รับผลกระทบบ้างแต่ไม่มากนัก เพราะเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจก๊าซฯเป็นหลัก และมีพอร์ตธุรกิจก๊าซฯถึง 70% ขณะที่พอร์ตธุรกิจน้ำมัน 30% ประกอบกับการซื้อขายก๊าซฯมีสัญญาระยะยาวรองรับ และการกำหนดสูตรราคาก๊าซฯก็เป็นไปตามสัญญา รวมถึงราคาก๊าซฯก็มีความยืดหยุ่น โดยมีระยะเวลาในการปรับราคา (Lag time) กับราคาน้ำมันย้อนหลัง ตลอดจนมีโครงสร้างต้นทุนอยู่ในระดับต่ำที่แข่งขันได้ โดยมีต้นทุนต่อหน่วย (unit cost) ที่ 30-31 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และมีค่าใช้จ่ายส่วนเงินสดที่ใช้จริงต่อบาร์เรล (cash cost) ประมาณ 15 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หนี้ต่อทุน (D/E) ค่อนข้างต่ำที่ 0.29 เท่า ขณะที่มีสถานะการเงินมั่นคง โดยมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานอยู่ที่กว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ
บริษัทมีการบริหารความเสี่ยงน้ำมันที่มีความยืดหยุ่น โดยในปีนี้ได้ทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันแล้วประมาณ 40% ของวอลุ่ม เพื่อลดความผันผวนของสถานการณ์ราคา โดยปัจจุบันการทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันยังไม่มากเท่ากับปีที่แล้วที่ได้ทำประกันความเสี่ยงที่ราว 80% ของวอลุ่ม เนื่องจากปีนี้ทิศทางราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตามด้วยพอร์ตธุรกิจที่เป็นก๊าซฯค่อนข้างมาก แม้ราคาน้ำมันจะลดลงมามากก็อาจจะกระทบต่อยอดขายของบริษัทให้ลดลง 7-10% แต่ยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ แต่หากราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานอาจจะกระทบต่อปริมาณสำรองได้ เพราะอาจจะทำให้บริษัทชะลอหรือลดการลงทุนในโครงการใหม่ ๆ
"เรามีการบริหารความเสี่ยงน้ำมันที่ยืดหยุ่น ทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันแล้วประมาณ 40% ของวอลุ่ม และเรายังได้ทำแผนบริหารจัดการ โดยได้ปรับแผนการลงทุนและปรับลดค่าใช้จ่ายลงทุน 15-20% ตลอดจนทบทวนแผนงานและเลื่อนการเจาะสำรวจบางโครงการออกไป และทบทวนแผนผลิตบางโครการเพื่อให้ถึงจุดคุ้มทุนได้ ตลอดจนบริหารจัดการซัพพลายเชนให้เกิดการประสานงานกันมากขึ้นส่งผลต่อค่าใช้จ่ายลดลง ทำให้มั่นใจว่าสผ.จะบริหารจัดการสภาวการณ์เช่นนี้ได้อย่างเป็นผลเช่นเดียวกับที่เราเคยบริหารจัดการวิกฤติในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมา"นายพงศธร กล่าว
นายพงศธร กล่าวอีกว่า เดิมบริษัทตั้งใจว่าในปีนี้จะให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านของโครงการที่ได้มาคือเอราวัณและบงกช เพื่อเตรียมพร้อมการเป็นผู้รับดำเนินการต่อ รวมถึงโครงการเมอร์ฟี่ ออยล์ และพาร์เท็กซ์ ที่ได้มาเมื่อปีที่แล้ว ก็ต้องทำให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น แต่ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำให้เริ่มมองแนวทางกลยุทธ์ที่อาจจะต่างไปจากที่ตั้งใจว่าจะเน้นการเปลี่ยนผ่านโครงการที่ได้มา และการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่โครงการที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงการสำรวจโครงการมากขึ้น เนื่องจากสถานกาณ์ในปัจจุบันเชื่อว่าจะมีหลายบริษัทที่อาจจะประสบกับปัญหาจากราคาปิโตรเลียมที่ปรับตัวลดลงค่อนข้างรุนแรง และความต้องการปิโตรเลียมที่หายไปอย่างรวดเร็ว ทำให้บริษัทที่ไม่มีวินัยทางการเงิน หรือไม่มีเงินสำรองเพียงพอจะได้รับผลกระทบ ซึ่งก็เป็นโอกาสในการเข้าซื้อกิจการ (M&A) ได้
"ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบัน เชื่อว่าจะมีหลาย ๆ บริษัทที่อาจจะประสบกับปัญหา ไม่ใช่บริษัทไม่ดี หรือโครงการไม่ดี แต่การที่ราคาตกลงมาค่อนข้างรุนแรง รวดเร็ว ประกอบกับ demand หายไปรวดเร็ว บริษัทที่ไม่มีวินัยทางการเงิน และไม่มีเงินสำรองเพียงพอ อาจจะส่งผลกระทบได้ เรามองว่าช่วงนี้อาจจะเป็นโอกาสของบริษัทที่จะขยายการลงทุนได้ เราก็เปิดตามอง แต่อย่างไรก็ตามแม้จะมีโอกาสถ้าไม่อยู่ในพื้นที่เป้าหมายของเรา ซึ่งเราได้บอกชัดแล้วว่าจะอยู่รอบ ๆ บ้าน ไทย พม่า มาเล โอมาน และยูเออี ถ้าไม่มีความชัดเจนจากกลุ่มประเทศเหล่านี้ หรือมั่นใจจริง ๆ เราก็ไม่ไป เราโฟกัสในกลุยทธ์อย่างนี้"นายพงศธร กล่าว