นายอารักษ์ สุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค (ECF) เปิดเผยว่า บริษัทฯ คาดรายได้ในไตรมาส 2/63 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากไตรมาส 1/63 ที่มีรายได้อยู่ที่ 296.39 ล้านบาท เนื่องด้วยผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้หลายประเทศใช้มาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้บริษัทฯ ไม่สามารถส่งออกสินค้าไปต่างประเทศได้ ขณะที่ปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้ราว 60% มาจากการส่งออกในประเทศต่าง ๆ ได้แก่ ญี่ปุ่น, อินเดีย, สหรัฐฯ และจีน ส่วนที่เหลือเป็นการขายในประเทศผ่านร้านค้าประเภท Hypermarket ซึ่งก็ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์เช่นกัน
แม้ว่าปัจจุบันในต่างประเทศเริ่มผ่อนคลายล็อกดาวน์บ้างแล้ว ทำให้มีคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามาค่อนข้างมากในไตรมาส 2/63 แต่บริษัทฯ ก็ยังไม่สามารถส่งออกสินค้าไปได้ เนื่องจากคำสั่งเคอร์ฟิวในประเทศช่วงที่ผ่านมาได้กระทบต่อการทำงานในช่วงเวลาเคอร์ฟิว จึงทำให้กำลังการผลิตปรับตัวลง
"ไตรมาส 2 โดยธรรมชาติของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์จะเป็นช่วงของโลว์ซีซั่น เพราะมีวันหยุดค่อนข้างมาก และยังมีการเปิดเทอมในเดือนพ.ค.ด้วย แต่สถานการณ์โควิด-19 ก็ไม่ปกติอีก แม้ว่าบริษัทฯ จะยังมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ต้องมีเคอร์ฟิว จึงกระทบกับการทำงานในกะที่สอง ส่งผลให้กำลังการผลิตของเราลดลง"นายอารักษ์ กล่าว
นายอารักษ์ กล่าวว่า บริษัทฯ ยังคงมั่นใจว่ารายได้ปีนี้จะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากปัจจุบันมีงานในมือ (Backlog) เต็มไปจนถึงต้นปีหน้า ซึ่งขณะนี้บริษัทฯ ก็อยู่ระหว่างเร่งผลิตเพื่อส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้า
ส่วนกลยุทธ์การดำเนินงาน (Business Strategy) จากนี้บริษัทฯ ได้วางเอาไว้ 4 ด้าน ได้แก่ 1. Marketing situation ซึ่งในปีที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้มีการดำเนินการไปบ้างแล้ว โดยเฉพาะการกระจายความเสี่ยงการจำหน่ายสินค้าออกไปยังประเทศอื่น ๆ มากขึ้น ทั้งในประเทศอินเดีย สหรัฐฯ และจีน จากเดิมที่มีสัดส่วนการส่งออกอยู่ในประเทศญี่ปุ่นมากถึง 55% และในไทย 27% ที่เหลือเป็นอื่น ๆ ทำให้ในปีนี้เริ่มเห็นสัดส่วนรายได้จากการกระจายความเสี่ยงในประเทศดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น และคาดว่าน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง บริษัทฯ จึงมั่นใจว่าการเติบโตของเฟอร์นิเจอร์ในปีนี้ ทั้งการผลิตและจำหน่ายจะเติบโตดีกว่าปีก่อน
2. เน้นการบริหารจัดการภายในโรงงาน ทั้งฝ่ายขายและฝ่ายโรงงาน เพื่อเพิ่มความสามารถในการทำกำไรให้มากขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา 3.บริษัทร่วมลงทุนในนามของบริษัท พลังงานเพื่อโลกสีเขียว (ประเทศไทย) จำกัด (GEP) ที่ ECF ถือหุ้นในสัดส่วน 20% เพื่อดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาดกำลังการผลิต 220 เมกะวัตต์ ณ เมืองมินบู ประเทศเมียนมา ได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ดังกล่าวในเฟสที่ 2 ขนาด 50 เมกะวัตต์ ในเดือนมิ.ย.นี้ โดยจะมีกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในเดือนเม.ย.64 และจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าฯ ในเฟส ที่ 3 ขนาด 50 เมกะวัตต์ รวมถึงเฟส 4 ขนาด 70 เมกะวัตต์ ต่อเนื่องในเดือนก.ค.นี้ คาด COD ได้ในเดือนพ.ย.64
นายอารกษ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามในธุรกิจพลังงานทางเลือก บริษัทฯ ก็มีแผนที่จะนำ GEP เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยในวันที่ 5 มิ.ย.63 ก็ได้แต่งตั้ง บริษัท คันทรี่ กรุ๊ป แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งหลังจากนี้จะเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างภายใน GEP คาดว่าจะเห็นความชัดเจนมากขึ้นในปี 64 อีกทั้งในส่วนของ ECF ก็ยังมองหาการลงทุนในธุรกิจพลังงานอื่น ๆ คาดว่าหลังจากโควิด-19 คลี่คลายน่าจะเห็นความชัดเจนมากขึ้น
4. การทำ Online Marketing โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าปีนี้จะมีการพัฒนาการขายออนไลน์มากขึ้น โดยคาดหวังให้มีสัดส่วนรายได้จากออนไลน์เกิดขึ้นให้ได้