นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์และการตลาดสินเชื่อ ผู้บริโภค ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) คาดว่า ปีนี้ธนาคารอาจจะปล่อยสินเชื่อบ้านได้สูงถึง 2.4 หมื่นล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ที่ 1.8 หมื่นล้านบาท เนื่องจากในช่วงครึ่งปีแรกทำได้สูงกว่าเป้าถึง 5 พันล้านบาท
"มีแนวโน้มที่จะได้ 2.4 หมื่นล้านบาท หากครึ่งปีหลังทำได้ 1.1 หมื่นล้านบาทเท่ากับ H2/49" นายชาติชาย กล่าว
ในช่วงครึ่งแรกของปี 50 ธนาคารปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้แล้ว 1.3 หมื่นล้านบาท จากเป้าหมาย 8 พันล้านบาท คาดว่าเป็นผลมาจากการที่ธนาคารได้ปรับโครงสร้างการขายภายใน และการร่วมมือกับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ที่ทำให้คนตัดสินใจซื้อบ้านได้เร็วขึ้น เนื่องจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีผลต่อจิตวิทยา แม้ว่าค่าเงินบาทที่จะแข็งค่าจะส่งผลต่อภาคส่งออก แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการบริโภคภายใน อีกทั้งมาตรการภาครัฐในการเพิ่มค่าลดหย่อนภาษีเงินกู้จากการซื้อบ้านก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนให้ตลาดสินเชื่อบ้านโตได้ดี
ทั้งนี้ คาดว่าสินเชื่อบ้านทั้งระบบในปีนี้จะเติบโต 12-13% จาก 10.7% ในปี 49
นายชาติชาย กล่าวถึง การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในวันที่ 18 ก.ค.นี้ คาดว่าจะตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม เพื่อรอดูสถานการณ์ เพราะขณะนี้ทิศทางดอกเบี้ยของประเทศอื่นเป็นขาขึ้น
ขณะที่ดอกเบี้ยเงินกู้ MLR มองว่าน่าจะลงได้อีก 0.25-0.50% ขึ้นกับสภาพการแข่งขันด้วย ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากคงทรง ๆ แล้ว เพราะปรับลดลงไปแล้วก่อนหน้านี้
นายชาติชาย กล่าวว่า โดยปกติมาร์จินสินเชื่อบ้านไม่สูงมากนัก มี NIM ประมาณ 1-2% แต่ที่แข่งขันกันสูงมาก เนื่องจาก Product สินเชื่อบ้านจะทำให้ขาย Product อื่นได้ด้วย ซึ่งหากเทียบมาร์จินกับสินเชื่อเอสเอ็มอี หรือสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ถือว่าต่ำกว่า โดยลักษณะเด่นคือเป็นสินเชื่อที่มีการแข่งขันสูงแต่มีความเสี่ยงต่ำ จึงทำให้ NIM ไม่สูงนัก
ในระยะกลางต่อจากนี้มาร์จินคงขยับขึ้นได้ยาก เนื่องจากการปล่อยสินเชื่ออื่นๆ ทั้งเอสเอ็มอี และสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ต่างชะลอตัว ทำให้สถาบันการเงินหันมาให้น้ำหนักกับการทำตลาดสินเชื่อบ้าน จึงทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคา
KBANK มีมาร์เก็ตแชร์ในตลาดสินเชื่อบ้านเป็นอันดับ 4 รองจาก ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) ธนาคารกรุงไทย(KTB) และธนาคารกรุงเทพ(BBL)
"สินเชื่อบ้านมี NIM ต่ำ จึงเน้นการขายวอลุ่มให้มากเพื่อสร้างมาร์เก็ตแชร์ และ Product Holding ต่างๆ ให้ตามมา ทำให้ธนาคารมีรายได้จากค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น"นายชาติชาย กล่าว
นายชาติชาย กล่าวต่อว่า สำหรับสินเชื่อบ้าน และ Product Holding สำหรับบุคคลธรรมดา โดยปกติธนาคารจะขายผลิตภัณฑ์ได้ 2 products ต่อลูกค้า 1 ราย แต่หากเป็นลูกค้าใหม่จะได้ประมาณ 4-5 products ต่อราย เป้าหมายในอนาคตจะทำให้ได้ 3-4 products ต่อราย ซึ่งจะส่งผลต่อรายได้ค่าธรรรมเนียมที่เพิ่มขึ้นในอนาคตด้วย
"ที่เน้นขยายรายได้ค่าธรรมเนียม เนื่องจากความเสี่ยงต่ำ และเพิ่มการขยายฐานลูกค้าได้มากขึ้น" นายชาติชาย กล่าว
ขณะที่สินเชื่อบ้านทั้งระบบปีนี้คาดว่าจะปล่อยได้ 1.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 1.35 ล้านล้านบาทในปีก่อน แต่ขณะนี้ครึ่งปีแรกน่าจะปล่อยได้แล้ว 1.4 ล้านล้านบาท
แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ สินเชื่อบ้านเมื่อเทียบกับ GDP ของไทยคิดเป็น 16-17% ขณะที่มาเลเซีย เน้นการปล่อยสินเชื่อบ้านประมาณ 35% ของ GDP สิงคโปร์ที่ 67% ของ GDP สวิสเซอร์แลนด์ 90% ของ GDP
--อินโฟเควสท์ โดย อภิญญา วุฒิเมธากุล/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--