(เพิ่มเติม) ก.ล.ต.คาด กม.ทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุนมีผลบังคับใช้ภายในต้นปี 51

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 24, 2007 15:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นางจันทิมา เพียรเวช ผู้ช่วยผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ในขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ทรัสต์เพื่อธุรกรรมตลาดทุน อยู่ในกระบวนการแปรญัตติ หลังจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับหลักการวาระแรกแล้ว และคาดว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ราวปลายปีนี้หรืออย่างช้าต้นปีหน้า
นอกจากนี้ยังมีกฎหมายอีก 2 ฉบับทึ่คาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ทันปีนี้ได้แก่ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ปี 2535 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม และ พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่ดำเนินการร่วมกับก.คลัง
ส่วน พ.ร.ก.นิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ คาดว่าจะไม่สามารถบังคับใช้ได้ทันภายในปีนี้
"กม.ทรัสต์ฯ ตอนนี้แปรญัตติผ่านไปกว่า 50% แล้ว คาดว่าไม่เกินปลายปีนี้น่าจะเห็นกฎหมายนี้ได้ลงราชกิจจานุเบกษาแต่จะมีผลบังคับใช้ทันปลายปีหรือเปล่าขึ้นอยู่กับระยะเวลาหลังจากลงในราชกิจจานุเบกษาซึ่งอาจจะทันปลายปีนี้ ถ้าไม่ทันก็คงมีผลต้นปีหน้า" นางจันทิมา กล่าว
ร่าง พ.ร.บ.ทรัสต์เพื่อธุรกรรมตลาดทุน จะให้ความสำคัญกับเรื่องการจัดการทรัพย์สินตามสัญญาทรัสต์ที่จะให้ขอบเขตในการนำทรัสต์ไปใช้ทำธุรกรรมในตลาดทุนเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งสร้างหลักประกันความมั่นใจให้กับผู้รับผลประโยชน์ โดยจะมีการจัดตั้งกองทรัสต์ที่จะเป็นนิติบุคคลเป็นผู้ดูแลทรัพย์สิน โดยที่ผู้ออกหุ้นกู้หรือบริษัทที่ออก Securitization หรือการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์จะมีการโอนทรัพย์สินมาให้กองทรัสต์ซึ่งมีทรัสตีเป็นผู้ดูแล
"แต่เดิมเรื่องทรัสต์เรามาปรับใช้ในการเป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ และ ผู้ดูแลผลประโยชน์กองทุนรวม สำนักงาน ก.ล.ต.จึงมีแนวคิดใช้ทรัสต์เต็มรูปแบบมาใช้ในตลาดทุน ต่อไป ทรัสตีก็จะทำอะรได้มากขึ้น" นางจันทิมา กล่าว
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ทรัสต์ฯ มีหลักสำคัญคือจะมีกองทรัสต์ (Trust Property) ที่ไม่อาจจะนำมาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ส่วนตัวของทรัสตีได้ และไม่นำมารวมเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลาย หรือ การชำระบัญชี เมื่อทรัสตีล้มละลาย หรือเลิกกิจการ เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้กับผู้รับผลประโยชน์ และคุ้มครองทรัพย์สิน โดยขอบเขตการนำทรัสต์ไปใช้การออกหลักทรัพย์ , การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ และกรณีอื่นที่ประกาศเพิ่มเติมภายหลัง ได้แก่ การออกตราสารหนี้ การออก Covered warrant การออกหุ้นตามโครงการ ESOP การออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิ เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ