TOP คาด Q2/63 มีกำไรสต็อก-GIM ดีขึ้นจาก Q1/63 หวังผนึกกลุ่ม ปตท.ขยายธุรกิจปิโตรฯ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 22, 2020 13:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) เปิดเผยว่า แนวโน้มภาพรวมธุรกิจของบริษัทในไตรมาส 2/63 มีทิศทางที่ดีกว่าไตรมาสแรกที่มีผลขาดทุนสุทธิ 1.38 หมื่นล้านบาท หลังมีผลขาดทุนจากสต็อกน้ำมันสูงถึง 1.08 หมื่นล้านบาท แต่ราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้นมาอยู่ที่ราว 40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในปัจจุบัน จากราว 33 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในสิ้นไตรมาส 1/63 จะส่งผลให้มีกำไรจากสต็อกน้ำมันในไตรมาส 2 นอกจากนี้กำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่ม (GIM) ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของบริษัทลูก และในส่วนของโรงกลั่นน้ำมัน

ทั้งนี้ ในส่วนของโรงกลั่นน้ำมันแม้จะมีอัตราการใช้กำลังการกลั่นลดลงจากไตรมาสแรกเล็กน้อยมาอยู่ที่ 95-97% แต่โรงกลั่นก็มีมาร์จิ้นที่ดีขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการเข้มเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ความต้องการและราคาผลิตภัณฑ์เริ่มดีขึ้น ประกอบกับการมีต้นทุนน้ำมันดิบที่ต่ำ จากการที่ซาอุดีอาระเบียประกาศราคาขายน้ำมันอย่างเป็นทางการ (OSP) สำหรับน้ำมันดิบทุกเกรดแบบมีส่วนลด ขณะที่ในส่วนของบริษัทลูกก็มีมาร์จิ้นที่ดีทั้งในส่วนของการผลิตพาราไซลีน (PX) และการผลิตสาร Linear Alkyl Benzene (LAB) จากต้นทุนที่ลดลงตามราคาน้ำมัน

"ไตรมาส 2 กำลังกลั่นลดลง ราคา products ไม่ดี แต่ไตรมาส 2 มีเรื่องของต้นทุนถูกหน่อย เราได้รับปัจจัยบวกจากเรื่องนี้แม้ราคา products ไม่ดี ส่วน GIM ดีขึ้นทั้งจากบริษัทลูก จาก feedstock ที่ต่ำ และไทยออยล์ได้จาก crude discount"นายวิรัตน์ กล่าว

นายวิรัตน์ กล่าวอีกว่า การที่กระทรวงพลังงานเริ่มใช้หลักเกณฑ์ใหม่ในการคำนวณราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิง ตั้งแต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ส่งผลต่อราคาหน้าโรงกลั่นลดลงเฉลี่ย 0.50 บาท/ลิตรนั้น ในส่วนของโรงกลั่นไทยออยล์ก็ได้รับผลกระทบบ้าง แต่ในความเป็นจริงราคาน้ำมันในประเทศเป็นตลาดเสรี ซึ่งราคาขายหน้าของแต่ละโรงกลั่นก็จะมีความแตกต่างกัน ดังนั้น การปรับหลักเกณฑ์ครั้งนี้ก็น่าจะส่งผลกระทบค่อนข้างจำกัด

ส่วนการใช้กำลังการกลั่นที่ลดลงไปในช่วงไตรมาส 2/63 เป็นผลจากความต้องการใช้น้ำมันที่ลดลง โดยเฉพาะน้ำมันอากาศยานที่บริษัทเป็นผู้ผลิตมากที่สุดของประเทศ คิดเป็นสัดส่วนราว 20% ของกำลังการกลั่นของโรงกลั่น ขณะที่ความต้องการน้ำมันอากาศยานหายไปมากสุดราว 90% ในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย. ทำให้บริษัทปรับตัวด้วยการลดการกลั่นน้ำมันอากาศยานเหลือราว 7-10% ด้วยการปรับมาผลิตน้ำมันดีเซล และบางส่วนใช้เป็นวัตถุดิบในธุรกิจปิโตรเคมีแทน รวมถึงการเลือกรับน้ำมันดิบที่จะสามารถผลิตน้ำมันอากาศยานในสัดส่วนไม่มากเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต โดยปัจจุบันบริษัทรับน้ำมันดิบจากหลายแหล่ง ได้แก่ ตะวันออกกลาง สหรัฐ ตะวันออกไกล และจากในประเทศ

ทั้งนี้ ประเมินราคาน้ำมันหลังจากนี้จนถึงสิ้นปี 63 จะอยู่ในช่วง 40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยราคาน้ำมันคงจะไม่สูงมาก เพราะความต้องการใช้น้ำมันไม่ได้ลดลงเร็วมากนัก แต่ปริมาณน้ำมันทั่วโลกยังมีอยู่มาก ขณะที่การปรับลดของราคาน้ำมันก่อนหน้านี้ไม่ใช่ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากผลของสงครามราคาน้ำมันระหว่างซาอุดีอาระเบียและรัสเซีย ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์สงครามราคาคลี่คลายลงไปบ้างทำให้ราคาน้ำมันดีดกลับขึ้นมา

สำหรับธุรกิจของบริษัทลูกในส่วนของ PX และ LAB ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้น่าจะมีมาร์จิ้นที่ลดลงเล็กน้อยจากช่วงครึ่งปีแรก หลังราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวขึ้น ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้นตาม อย่างไรก็ตามในส่วนของ LAB ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและสารซักล้าง ที่ปัจจุบันมีความต้องการของตลาดค่อนข้างมาก ทำให้ปัจจุบันเดินเครื่องมากกว่า 100% ของกำลังการผลิต โดยโครงการคาดว่าจะเริ่มหยุดซ่อมบำรุงตามแผนได้ในช่วงเดือนก.ค. หลังจากที่ล่าช้ามาเล็กน้อยเพราะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผู้เชี่ยวชาญไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศได้

นายวิรัตน์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันไทยออยล์อยู่ระหว่างดำเนินโครงการพลังงานสะอาด (CFP) ซึ่งเป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและขยายกำลังการกลั่นน้ำมันจากเดิม 2.75 แสนบาร์เรล/วัน เป็น 4 แสนบาร์เรล/วัน มูลค่าราว 4.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 66 เชื่อมั่นว่าจะทำให้บริษัทจะยังมีผลการดำเนินงานที่ดีเมื่อเทียบกับรายอื่นจากการมีกำลังกลั่นเพิ่มขึ้นราว 40% และมีโอกาสต่อยอดธุรกิจปิโตรเคมีได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในสายโอเลฟินส์ที่มี Value Chain ค่อนข้างยาวเมื่อเทียบกับสายอะโรเมติกส์ ที่ไทยออยล์มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวนั้น ไทยออยล์มองโอกาสการผนึกกำลังร่วมกับบริษัทในกลุ่มบมจ.ปตท. (PTT) เป็นหลัก แต่หากช่วงเวลาไม่เหมาะสมก็พร้อมที่จะร่วมมือกับผู้ประกอบการรายอื่น เพื่อไม่ต้องการให้มีลักษณะต่างคนต่างทำซึ่งจะเป็นการเพิ่มกำลังการผลิตในอุตสาหกรรมภาพรวม

"ไทยออยล์ค่อนข้างเป็นผู้โดดเด่นการกลั่นน้ำมัน ด้วย capacity ตอนนี้เราใหญ่สุด แต่หลังจาก CFP จะใหญ่ขึ้นอีก 40% ก็เชื่อว่าเราจะยังมีผลการดำเนินงานที่ดีเมื่อเทียบกับคนอื่น เรายอมรับว่าขาดทุนเยอะในไตรมาสแรก แต่เป็นการขาดทุนจากสต็อกน้ำมัน ซึ่งเป็นธรรมชาติของโรงกลั่นอยู่แล้ว เราเก็บสต็อกค่อนข้างเยอะเพราะ size เราใหญ่ ขณะเดียวกันราคาน้ำมันก็ตกมหาศาล แต่เราเชื่อว่าไทยออยล์เป็น last man standing ในธุรกิจการกลั่น คือถ้าใครอยู่ไม่ได้เราอยู่ได้"นายวิรัตน์ กล่าว

นายวิรัตน์ กล่าวว่า กุญแจสำคัญของการที่จะยืนเป็นลำดับสุดท้ายของธุรกิจนั้นมาจาก 5 ด้าน ได้แก่ 1. Competitive Configuration คือการปรับปรุงหน่วยกลั่นให้มี complexity สูง เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน 2. Operation & Commercial optimization & Flexibility คือการปรับเปลี่ยนการผลิตและการซื้อขายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาดและพร้อมรับมือความผันผวนของตลาด เพื่อการทำกำไรสูงสุด 3. Productivity improvement คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์ บริการ การซื้อขาย และรูปแบบการทำธุรกิจ รวมถึงการนำเทคโนโลยีหรือความรู้ใหม่ๆ มาปรับใช้อย่างเหมาะสม

4. Cost control คือ การควบคุมต้นทุนในการดำเนินงานให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อคงความสามารถในการแข่งขันทางด้านต้นทุนและเกิดความคุ้มค่าในการทำธุรกิจ โดยตั้งเป้าลดค่าใช้จ่ายบริษัทให้ต่ำกว่าแผน 20-30% โดยจัดลำดับความสำคัญและทบทวนแผนการใข้จ่ายและการลงทุน ซึ่งในปีนี้บริษัทจะให้ความสำคัญในเรื่องการควบคุมต้นทุนเป็นหลัก และ 5. Risk management คือ การบริหารความเสี่ยงในการดำเนินงาน เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นให้อยู่ในระดับที่รับได้

นายวิรัตน์ กล่าวว่า ภายลังจากที่โครงการ CFP แล้วเสร็จบริษัทจะมีผลพลอยได้ที่เป็นแนฟทา (naphtha) ออกมาค่อนข้างมาก ซึ่งจะนำไปต่อยอดในโครงการ Beyond CFP โดยจะมี Heavy naphtha ราว 9 แสนตัน/ปี ซึ่งจะใช้เป็นวัตถุดิบในสายอะโรเมติกส์ และ Light naphtha ราว 7 แสนตัน/ปี ซึ่งจะใช้เป็นวัตถุดิบในสายโอเลฟินส์ และมีก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ออกมา 6 แสนตัน/ปี ซึ่งหากไทยออยล์ไม่นำผลพลอยได้เหล่านี้ไปต่อยอดธุรกิจปิโตรเคมีก็สามารถจำหน่ายออกไปยังตลาดได้

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไทยออยล์อยู่ระหว่างหารือร่วมกับกลุ่ม ปตท.เพื่อร่วมกันดำเนินการโครงการ Beyond CFP เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ โดยมองการดำเนินการในระดับ world scale อย่างกำลังการผลิตโพลีเอทิลีน (PE) ควรอยู่ที่ 1.2 ล้านตัน/ปี และ PX อยู่ที่ 1.5 ล้านตัน/ปี จากปัจจุบันที่ไทยออยล์มีการผลิต PX อยู่แล้วในระดับ 5 แสนตัน/ปี ขณะเดียวกันก็ต้องศึกษาตลาดควบคู่กันไปด้วย

"เรายังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะไปแน่ กำลังศึกษาอยู่ มีหลาย option ถ้าทำเป็นขนาดใหญ่ก็ต้องไปดูตลาดเหมาะสมเป็นอย่างไร จะส่งไปขายที่ไหน เป็นเรื่องความเสี่ยงต่าง ๆ ถามว่าศึกษาร่วมกับกลุ่มปตท.หรือไม่ ก็ต้องตอบว่าใช่ ถ้าทำร่วมกันได้ก็จะมีพลังร่วม แต่วันนี้ยังไม่ได้สรุปทั้งเรื่องอะโรเมติกส์ โอเลฟินส์ แต่ก็ต้องบอกว่าระยะกลางถึงยาวเราไปแน่นอน แต่ถ้าทำเร็วเราก็จะได้ benefit เร็ว"นายวิรัตน์ กล่าว

นายวิรัตน์ กล่าวอีกว่า สำหรับระยะยาวถึงปี 73 บริษัทกำหนดเป้าหมายตามแผนเดิมที่จะมีกำไรสุทธิแตะระดับ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายใต้โครงการ CFP ที่แล้วเสร็จ ขณะที่บริษัทเคยทำกำไรสุทธิสูงสุดราว 800 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อปี 60 รวมถึงจะกระจายพอร์ตรายได้และกำไรให้หลากหลายมากขึ้นเป็นธุรกิจปิโตรเลียม 40% ,ปิโตรเคมี 40% ,ไฟฟ้า 15% และอื่น ๆ 5% เมื่อเทียบปัจจุบันที่มีสัดส่วนกำไร จากธุรกิจกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม 70-80% ส่วนที่เหลือมาจากธุรกิจอะโรเมติกส์และโรงไฟฟ้า

โดยพอร์ตธุรกิจไฟฟ้าส่วนใหญ่ในปัจจุบันมาจากการถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมใน บมจ.โกลบอลเพาเวอร์ซินเนอร์ยี (GPSC) ราว 25% แต่ในอนาคตเห็นว่า GPSC อาจจะเติบโตเร็วมากกว่าปัจจุบันไม่ได้มากนัก เพราะธุรกิจของกลุ่มปตท.อาจจะมีขนาดใหญ่กว่ากำลังการผลิตของ GPSC ทำให้ในกลุ่มปตท.ร่วมกันพิจารณาที่จะช่วยกันดำเนินการเพื่อร่วมกันขยายพอร์ตธุรกิจไฟฟ้าให้เติบโต

สำหรับแผนทางการเงินที่ล่าสุดไทยออยล์ได้ออกหุ้นกู้วงเงิน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ และเมื่อรวมกับวงเงินที่มีอยู่เดิมราว 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ปัจจุบันมีวงเงินรวม 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเพียงพอที่จะใช้ลงทุนถึงปี 64 ทำให้ในปีนี้ไม่มีแผนที่จะออกหุ้นกู้เพื่อรองรับการลงทุน แต่อาจจะพิจารณาเรื่องการรีไฟแนนซ์ หรือซื้อหุ้นกู้คืนหากเห็นว่าตลาดมีความเหมาะสม โดยการออกหุ้นกู้รอบล่าสุดครั้งนี้ส่งผลให้ต้นทุนดอกเบี้ยเฉลี่ยของบริษัทอยู่ที่ราว 4%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ