ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร SQ ที่ "BBB-" ปรับลดแนวโน้มเป็น Negative จาก Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 22, 2020 16:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. สหกลอิควิปเมนท์ (SQ) ที่ระดับ "BBB-" พร้อมทั้งปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น "Negative" หรือ "ลบ" จาก "Stable" หรือ "คงที่" โดยแนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" สะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่อ่อนแอกว่าที่คาด รวมถึงภาระหนี้ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง

อันดับเครดิตสะท้อนถึงธุรกิจหลักของบริษัทที่มีความแข็งแกร่งในการเป็นผู้รับเหมาทำเหมืองแร่ ตลอดจนการมีกระแสเงินสดที่มีเสถียรภาพจากการมีสัญญาจ้างงานระยะยาวกับเจ้าของงานซึ่งมีฐานะทางการเงินที่มีความน่าเชื่อถือสูง ทว่าจุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนจากขอบเขตการประกอบธุรกิจที่เฉพาะทาง และความเสี่ยงจากการที่ผลประกอบการของบริษัทจะขึ้นอยู่กับงานไม่กี่โครงการ

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

เป็นผู้เชี่ยวชาญในการรับเหมาทำเหมืองแร่ บริษัทดำเนินโครงการขุดขนดินและถ่านหิน โดยบริษัทเป็นผู้รับเหมาทำเหมืองที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับในการทำเหมืองแร่ อีกทั้งยังมีทีมวิศวกรเหมืองแร่ที่มีประสบการณ์สูง และมีเครื่องจักรที่ใช้ในงานเหมืองที่มีความพร้อม

บริษัทดำเนินโครงการขุดขนดินและถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะมาแล้วหลายระยะตลอดช่วงเวลามากกว่า 30 ปี โดยบริษัทชนะการประมูลงานและมีสัญญาระยะยาวกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อย่างต่อเนื่องทั้งในรูปแบบผู้รับเหมาหลักหรือในรูปแบบผู้ปฏิบัติการร่วม โดย กฟผ. จะระบุชื่อของบริษัทเอาไว้ในรายชื่อของผู้รับเหมาที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติการรับงานซึ่งสะท้อนถึงความสามารถในการรับงานเหมืองของบริษัทได้เป็นอย่างดี

นอกเหนือจากโครงการภายในประเทศแล้ว บริษัทยังได้ลงนามในสัญญาให้บริการทำเหมืองถ่านหินลิกไนต์กับ Hongsa Power Co., Ltd. (HPC) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าระดับแนวหน้าในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ซึ่งโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจนอกประเทศดังกล่าวก็นำมาซึ่งความเสี่ยงของประเทศที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ถือว่าเป็นการเริ่มต้นสู่โอกาสใหม่ในการขยายงานไปในต่างประเทศของบริษัท

กระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากสัญญาระยะยาว อันดับเครดิตของบริษัทสะท้อนถึงการมีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากสัญญาจ้างงานระยะยาวและการมีผู้ว่าจ้างที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตต่ำ ได้แก่ กฟผ. และ HPC ทั้งนี้ บริษัทมีมูลค่างานที่ยังไม่ได้ส่งมอบจำนวนมากพอสมควรซึ่งจะช่วยรักษาระดับรายได้ของบริษัทได้ในระยะปานกลาง บริษัทมีมูลค่างานที่ยังไม่ส่งมอบจำนวน 2.64 หมื่นล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2563 ซึ่งประกอบด้วยโครงการขุดขนดินและถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะ ระยะที่ 8 มูลค่า 1.56 หมื่นล้านบาท โครงการเหมืองหงสาใน สปป. ลาว มูลค่า 8.5 พันล้านบาท และโครงการบริหารจัดการและซ่อมบำรุงระบบสายพานลำเลียงของเสียและเถ้าถ่านหินมูลค่า 2.3 พันล้านบาท ซึ่งโครงการทั้งหมดจะแล้วเสร็จในปี 2568 และปี 2569 ตามลำดับ

ความเสี่ยงสูงจากการกระจุกตัวของธุรกิจ แม้ว่าบริษัทจะมีความแข็งแกร่งในธุรกิจหลัก แต่บริษัทก็มีขอบเขตงานที่ค่อนข้างจำกัดทำให้บริษัทต้องแบกรับความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของธุรกิจ โดยบริษัทมีโครงการเหมืองแม่เมาะเป็นแหล่งรายได้หลักที่คิดเป็นสัดส่วนถึงประมาณ 70%-85% ของรายได้โดยเฉลี่ยของบริษัทในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งบริษัทจะมีความเสี่ยงสูงมากหากไม่สามารถหางานใหม่มาทดแทนงานโครงการปัจจุบันที่กำลังจะเสร็จสิ้น การที่บริษัทไม่ได้งานในโครงการที่เข้าประมูลนั้นได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อรายได้ในอนาคตของบริษัท อีกทั้งโครงการเหมืองภายในประเทศที่จะมีการประมูลใหม่นั้นมีน้อยมาก ดังนั้น บริษัทจึงจำเป็นจะต้องขยายธุรกิจไปในต่างประเทศ แต่กระนั้นบริษัทก็ต้องเผชิญกับความเสี่ยงของประเทศและความเสี่ยงจากผู้ว่าจ้างที่มีสูงกว่าด้วยเช่นกัน

ยิ่งไปกว่านั้น งานที่ยังไม่ส่งมอบก็เป็นโครงการขนาดใหญ่จำนวนไม่กี่โครงการเท่านั้น ในขณะที่โครงการที่มีมูลค่าสูงสุดคือโครงการขุดขนดินและถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะ ระยะที่ 8 ซึ่งคิดเป็น 59% ของมูลค่างานที่ยังไม่ส่งมอบทั้งหมด ดังนั้น หากงานที่เหมืองแม่เมาะมีปัญหาหรือผลการดำเนินงานต่ำกว่าคาดก็จะส่งผลกระทบต่อสถานะการเงินโดยรวมของบริษัทโดยตรง

ความเสี่ยงในการขยายธุรกิจไปต่างประเทศ บริษัทและหุ้นส่วนของบริษัทในประเทศเมียนมาร่วมกันตั้งกิจการร่วมค้าเพื่อรับสัญญาสัมปทานเหมืองถ่านหินโดยมีสัญญา 28 ปีในรัฐฉานฝั่งตะวันออกของประเทศเมียนมา บริษัทลงทุนในสัดส่วน 70% ในกิจการร่วมค้า โดยกิจการร่วมค้าได้รับสิทธิจากรัฐวิสาหกิจเมียนมาในสัมปทานเหมืองถ่านหินและก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน บริษัทคาดว่าจะสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องจากการดำเนินการเหมืองถ่านหินและขายถ่านหิน ขณะที่กิจการร่วมค้ายังอยู่ระหว่างดำเนินการขอใบอนุญาตที่จำเป็น

ในมุมมองของทริสเรทติ้ง โครงการนี้ยังคงต้องใช้เวลานานเมื่อพิจารณาจากความล่าช้าของรัฐบาลเมียนมา ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทยังต้องกู้เงินอีกจำนวนมากจากการที่บริษัทจะต้องใช้เงินลงทุนในโครงการจำนวน 2.5 พันล้านบาท ซึ่งทริสเรทติ้งมองว่าการลงทุนจำนวนมากนี้เกินกว่าที่สถานะการเงินของบริษัทจะทำได้ ดังนั้น ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจำเป็นต้องเพิ่มทุนเพื่อรักษาโครงสร้างทางการเงินไม่ให้มีภาระหนี้สูงจนเกินไป และให้บริษัทสามารถดำรงอัตราส่วนทางการเงินให้เป็นไปตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของหุ้นกู้ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังกังวลกับการที่บริษัทต้องเผชิญกับความเสี่ยงของประเทศและความเสี่ยงจากผู้ว่าจ้างที่มีสูงกว่าอีกด้วย เนื่องจากโครงการนี้ยังไม่มีความชัดเจน ทริสเรทติ้งจึงยังไม่รวมเข้าไปในประมาณการพื้นฐาน

ผลการดำเนินงานอ่อนแอกว่าคาด ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทมีผลการดำเนินงานที่ฟื้นตัวกลับมาล่าช้ากว่าที่คาด ผลการดำเนินงานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาตกต่ำอย่างมาก หลังจากเหตุดินถล่มที่โครงการเหมืองแม่เมาะ ระยะที่ 8 เหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความเสียหายให้กับระบบสายพานลำเลียงและเครื่องจักรบางส่วนของบริษัท ผลการดำเนินงานของบริษัทยังได้รับผลกระทบจากต้นทุนดำเนินงานที่เกินงบประมาณในโครงการเหมืองแม่เมาะ ระยะที่ 7 อีกด้วย ส่งผลให้โดยรวมแล้วอัตราส่วนกำไร (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับ 25% ในปี 2561 จากระดับ 37%-41% ในช่วง 3 ปีก่อนหน้า

บริษัทวางแผนจะกู้คืนความเสียหายทั้งหมดของระบบสายพานลำเลียงในโครงการเหมืองแม่เมาะ ระยะที่ 8 แต่ก็ล่าช้ามาจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนกำไรเพิ่มขึ้นเป็น 33% ในปี 2562 และ 35% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 ซึ่งต่ำกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดไว้ที่ 35%-40%

จากการฟื้นตัวของผลการดำเนินงานที่ช้ากว่าคาด ทริสเรทติ้งจึงปรับประมาณการความสามารถในการทำกำไรของบริษัทลง ภายใต้ประมาณการของทริสเรทติ้ง คาดว่ารายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ 4.2-4.6 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2565 อัตราส่วนกำไรจะรักษาระดับอยู่ที่ 35% จากการมีภาระดอกเบี้ยจ่ายจำนวนมาก เงินทุนจากการดำเนินงานคาดว่าจะอยู่ในช่วง 1.0-1.2 พันล้านบาทต่อปี

โครงสร้างการเงินมีภาระหนี้อยู่ในระดับสูง บริษัทมีภาระหนี้จำนวนมากจากความต้องการเงินทุนหมุนเวียนและค่าใช้จ่ายลงทุนที่สูง อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 78% ในปี 2561 และ 2562 ซึ่งภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากนั้นมาจากการลงทุนใหม่ในโครงการเหมืองแม่เมาะ ระยะที่ 8 ซึ่งบริษัทต้องลงทุนประมาณ 7.2 พันล้านบาท ในขณะที่ภาระหนี้ของบริษัทอยู่ที่ 7.5 พันล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2563 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 76.7% ณ เดือนมีนาคม 2563 เนื่องจากกระแสเงินสดที่ต่ำกว่าคาดจากโครงการเหมืองแม่เมาะ ระยะที่ 7 และระยะที่ 8

ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 77% ในปี 2563 และลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 70%-74% ในช่วง 2 ปีถัดไป อัตราส่วนดังกล่าวสะท้อนภาระหนี้ที่ยังคงอยู่ในระดับสูงแม้ว่าบริษัททยอยชำระคืนหนี้จากกระแสเงินสดจากความก้าวหน้าของงานก็ตาม อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 15% เทียบกับประมาณการก่อนหน้าของทริสเรทติ้งที่ระดับ 15%-20%

สภาพคล่องและข้อกำหนดทางการเงินอยู่ในระดับตึงตัว บริษัทมีสภาพคล่องที่ตึงตัว โดยบริษัทมีเงินสดจำนวน 182 ล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2563 และมีวงเงินกู้ยืมระยะยาวที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกจำนวน 115 ล้านบาท ในขณะที่ภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้ามีจำนวน 2.4 พันล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยเงินกู้ยืมระยะสั้นจำนวน 946 ล้านบาทและเงินกู้สัญญาเช่าและเงินกู้ยืมโครงการอีกจำนวน 1.5 พันล้านบาท บริษัทจะชำระคืนเงินกู้ยืมโครงการด้วยเงินสดที่ได้รับตามความก้าวหน้าของโครงการ ทริสเรทติ้งคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจะอยู่ที่ประมาณ 1 พันล้านบาท ในขณะที่เงินกู้ยืมระยะสั้นนั้นบริษัทจำเป็นจะต้องต่ออายุต่อไปซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นเงินกู้ยืมจากธนาคาร

ตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของหุ้นกู้ บริษัทจะต้องรักษาอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 3.5 เท่า ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 อัตราส่วนนี้อยู่ที่ 3.32 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ตึงตัว สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

ทริสเรทติ้งตั้งสมมติฐานกรณีพื้นฐานสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2563-2565 ดังนี้

  • รายได้ของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 4.2-4.6 พันล้านบาทต่อปี
  • อัตราส่วนกำไรคาดว่าจะอยู่ในช่วง 30%-35%
  • เงินลงทุนคาดว่าจะอยู่ที่ 1.7-1.9 พันล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้า

แนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" หรือ "ลบ" สะท้อนถึงความกังวลของทริสเรทติ้งต่อผลการดำเนินงานของบริษัทที่อ่อนแอกว่าคาด ภายหลังจากอุบัติเหตุดินถล่ม ภาระหนี้ของบริษัทยังคงอยู่ระดับสูงในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ในขณะที่ผลการดำเนินงานของบริษัทยังคงได้รับแรงกดดันอย่างมาก

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตอาจปรับลดลงได้หากผลการดำเนินงานของบริษัทต่ำกว่าที่คาดไว้จนส่งผลให้อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานอยู่ในระดับต่ำกว่า 35% และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินต่ำกว่า 15% ยิ่งไปกว่านั้น อันดับเครดิตจะได้รับผลกระทบในด้านลบหากบริษัทก่อหนี้จำนวนมากในการลงทุนซึ่งเป็นเหตุให้สถานะการเงินของบริษัทอ่อนแอลง

ในขณะที่ แนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกเปลี่ยนกลับไปเป็น "Stable" หรือ "คงที่" ได้หากบริษัทสามารถปรับปรุงผลการดำเนินงานให้ดีขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งความสามารถในการทำกำไรและระดับของกระแสเงินสดที่เพียงพอกับภาระหนี้ตลอดสัญญาโครงการ ตัวอย่างเช่น มีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานอยู่ในระดับ 35-40% และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินเกินกว่า 20% อย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ