นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ที่ปรึกษาประธานคณะผู้บริหาร บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ (BTS) นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหาร นายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา กรรมการบริหาร ของ BA นายกวิน กาญจนพาสน์ กรรมการบริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร ของ BTS และนายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) ผู้ร่วมทุนในการพัฒนา "โครงการสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก" ภายใต้บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA)
นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ ของ BTS กล่าวว่า กลุ่มบริษัทบีทีเอสจะใช้ประสบการณ์ที่มีมากว่า 20 ปี ต่อยอดให้กับธุรกิจในเครือ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน อสังหาริมทรัพย์ และอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นในด้านระบบขนส่งมวลชนทางราง ด้านการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน และความสามารถในการพัฒนาธุรกิจในด้านต่าง ๆ เพื่อจะมาเป็นแรงผลักดัน ให้โครงการสนามบินนานาชาติอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกประสบความสำเร็จ กลุ่มบริษัทบีทีเอสจึงมีความมั่นใจ 100% ที่จะเดินหน้าลงทุนที่จะพัฒนาระบบภายในสนามบินให้มีความทันสมัยมากที่สุด
บริษัทได้เตรียมแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์และแผนในการสร้างระบบเชื่อมต่อการเดินทางภายในโครงการให้เชื่อมต่อกับระบบการขนส่งภายนอกทุกระบบรวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน และจะมีการพัฒนาระบบรถไฟฟ้า APM (Automated People Mover ) เชื่อมการเดินทางภายในโครงการเพื่อพัฒนาศักยภาพเมืองการบินให้เป็นเขตส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อรองรับการขยายตัวของพื้นที่พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเชื่อมโยงการขนส่งผู้โดยสารกับสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อที่จะก้าวขึ้นสู่การเป็น Aviation Hub ที่สำคัญของระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก
สำหรับโครงการนี้ไม่ได้มีเพียงสนามบิน แต่ยังมีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการบิน โดยเฉพาะเมืองการบิน และ Free Trade Zone ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่มีความท้าทายและสามารถสร้างมูลค่าให้กับโครงการได้มากมายจึงทำให้มั่นใจได้ว่าผลตอบแทนที่เสนอให้รัฐเป็นตัวเลขที่มีพื้นฐานจากข้อเท็จจริง
โครงการนี้หลังจากที่ลงนามสัญญากับรัฐบาลแล้ว ก็สามารถเริ่มงานได้ทันที โดยในเฟสแรก ที่ลงทุนกว่า 30,000 ล้านบาทนั้น เชื่อว่าUTA สามารถลงทุนเองได้ ซึ่งหลังจากนี้ทางกลุ่มจะเจรจาพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศเพื่อชวนให้เข้าร่วมพัฒนาในหลายโครงการ ได้แก่ คาร์โก้ ,Free Trade Zone , DutyFree โรงแรม โรงเรียน ศูนย์แสดงสินค้า เป็นต้น
นายกวิน กาญจนพาสน์ กรรมการบริหาร และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ของ BTS กล่าวว่า พันธมิตรที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ได้แก่ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN) บมจ.แสนสิริ (SIRI) และ บมจ.ยู ซิตี้ (U) เป็นต้น
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร ของ BTS กล่าวว่า สำหรับการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ แบ่งเป็น Commercial Gateway 269 ไร่ หรือ 4.3 แสนตารางเมตร Airport City 654 ไร่ หรือ 1 ล้านตารางเมตร ส่วนคาร์โก้ และ Free Trade zone มี 262 ไร่ หรือ 4.19 แสนตารางเมตร
นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ ของ STEC กล่าวว่า บริษัทมั่นใจในความแข็งแกร่งของพันธมิตร อันได้แก่ BA ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านการบิน มากว่า 50 ปี มีความแข็งแกร่งทั้งในเรื่องบริหารสายการบิน รวมถึงการบริหารสนามบิน และบีทีเอส ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านโลจิสติก ระบบขนส่งทั้งหมด รวมถึงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เมื่อทั้ง 3 องค์กรจับมือร่วมกันบริหารโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ทำให้มั่นใจถึงความสำเร็จในอนาคต
สำหรับการก่อสร้างรันเวย์ 2 ในสนามบินอู่ตะเภา ที่มีมูลค่างาน 13,000-14,000 ล้านบาทนั้น ทางกองทัพเรืออยู่ระหว่างออกแบบ จึงจะเปิดประมูล ดังนั้น ก็จะสอบถามภายในกลุ่ม UTA ว่าจะสนใจเข้าประมูลหรือไม่ ซึ่งหากไม่สนใจทาง STEC ก็จะเข้าประมูลงานเอง
ด้านนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ที่ปรึกษาประธานคณะผู้บริหาร ของ BA กล่าวว่า บริษัทซึ่งมีประสบการณ์ด้านการบินมากว่า 50 ปี และเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างและบริหารสนามบินในประเทศ 3 แห่ง (สมุย สุโขทัย ตราด) มีความมั่นใจและเชื่อมั่นว่า บริษัทและพันธมิตร จะสามารถพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้มีศักยภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และทำให้ประเทศไทยเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไปในอนาคต โดยขณะนี้เตรียมที่จะดึงสายการบินพันธมิตรกว่า 100 แห่งเข้ามาใช้บริการในสนามบินอู่ตะเภา
โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นโครงการที่สำคัญของประเทศและเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ตามนโยบายและกรอบการพัฒนาพื้นที่ EEC ของรัฐบาล ที่ต้องการให้สนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 ของกรุงเทพ เป็นศูนย์อุตสาหกรรมโลจิสติกส์และการบินของ EEC และเป็นศูนย์กลางของเมืองการบินภาคตะวันออก
นายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา กรรมการบริหาร ของ BA กล่าวว่า กรุงเทพมีความจำเป็นต้องมีสนามบินแห่งที่ 3 เพราะสนามบินหลักที่มีอยู่สนามบินสุวรรณภูมิ และดอนเมือง อาจจะไม่เพียงพอโดยทั้ง 2 สนามบิน สามารถรองรับผู้โดยสาร 160 ล้านคน/ปี ในปี 2573 ขณะที่ความต้องการมีถึง 200 ล้านคน/ปี ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่าธุรกิจการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเติบโต 30% จากปัจจุบันเป็นเติบโต 43% ในปี 2573 ยิ่งเห็นว่ามีความจำเป็นต้องเปิดใช้สนามบินแห่งที่ 3
รัฐบาลรุกการลงทุนพื้นที่ EEC มีอุตสาหกรรมต่าง ๆ เข้ามาลงทุนและมีการจ้างงานทำให้มีการเดินทางเพิ่มขึ้น คาดว่าในปี 2573 ไทยจะมีคนเดินทางเข้ามาติดอันดับ Top10 ของโลก แซงหน้ากรุงลอนดอน ของอังกฤษ และจะมีสัดส่วนการเดินทางมากที่สุดในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งตอกย้ำว่ากรุงเทพควรมีสนามบินแห่งที่ 3 เพื่อให้การขนส่งมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้โครงการจะมี Airport City ที่สร้างเมืองรอบพื้นที่สนามบิน ซึ่งจะเป็นการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่ไทยไม่เคยทำมาก่อนด้วย
โครงการสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โดยรัฐจะได้ผลประโยชน์ ด้านการเงิน 305,555 ล้านบาท ได้ภาษีอากรกว่า 62,000 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานเพิ่ม 15,600 ตำแหน่งต่อปีในระยะ 5 ปีแรกของสัมปทาน พร้อมทั้งเกิดการพัฒนาทักษะบุคลากรด้านธุรกิจการบิน เทคโนโลยีองค์ความรู้ด้านธุรกิจการบิน ซึ่งทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของรัฐเมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน 50 ปี
ทั้งนี้ ตามแผนการพัฒนาโครงการจะมีการส่งมอบพื้นที่ใน 18 เดือน แบ่งการพัฒนาเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ใช้เงินลงทุน 31,290 ล้านบาท มีระยะเวลา 3 ปี มีอาคารผู้โดยสารขนาดพื้นที่กว่า 157,000 ตารางเมตร พื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ อาคารจอดรถ ศูนย์ขนส่งภาคพื้นดิน และหลุมจอดอากาศยาน 60 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี 2567 สามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 15.9 ล้านคนต่อปี
ระยะที่ 2 ใช้เงินลงทุน 23,852 ล้านบาท เพื่อสร้างอาคารผู้โดยสารมีพื้นที่เพิ่มขึ้นกว่า 107,000 ตารางเมตร พร้อมทั้งติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) และระบบทางเดินเลื่อน รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 16 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ.2573 โดยประมาณการว่า จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 30 ล้านคนต่อปี
ระยะที่ 3 ใช้เงินลงทุน 31,377 ล้านบาท ซึ่งจะมีการต่อขยายอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติมจากระยะที่ 2 กว่า 107,000 ตารางเมตร เพิ่มจำนวนรถขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) อีก 1 ขบวน รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 34 หลุมจอด คาดว่าจะ แล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ. 2585 ประมาณการรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 45 ล้านคนต่อปี
ระยะที่ 4 หรือระยะสุดท้าย ใช้เงินลงทุน 38,198 ล้านบาท มีพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลังที่สองเพิ่มขึ้นกว่า 82,000 ตารางเมตร พร้อมทั้งติดตั้งระบบ Check-in แบบอัตโนมัติ รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 14 หลุมจอด ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ. 2598 ประมาณการรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 60 ล้านคนต่อปี
นอกจากนี้ยังมีงบปรับปรุงและซ่อมบำรุงโครงการต่อเนื่องตลอดอายุสัมปทาน 61,849 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินลงทุนทั้งหมด 186,566 ล้านบาท โดยยังไม่นับรวมการลงทุนพื้นที่เชิงพาณิชย์ ขณะที่การจ่ายผลตอบแทนให้ภาครัฐ จำนวน 305,555 ล้านบาท จะเริ่มจ่ายในช่วง 4-5 ปีที่ยังไม่ดำเนินโครงการ ซึ่งจะจ่ายเฉพาะค่าเช่าที่ หลังจากนั้นจะจ่ายในรูปส่วนแบ่งรายได้และค่าเช่า ตลอดอายุสัญญาสัมปทาน 50 ปี