นายบุญศักดิ์ เกียรติจรูญเลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.คัมเวล คอร์ปอเรชั่น (KUMWEL) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ยังคงเป้าหมายรายได้ปีนี้เติบโต 15% หลังเริ่มกลับมาส่งสินค้าไปต่างประเทศได้แล้วในเดือนพ.ค. และในเดือนมิ.ย. ก็เริ่มฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามแม้ว่าบริษัทฯ จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ผลกระทบดังกล่าวก็ยังอยู่ในระดับที่พอรับได้
ทั้งนี้ แผนการดำเนินงานในช่วงที่เหลือของปีนี้ ธุรกิจผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ (Product Base) ประกอบด้วย ระบบต่อลงดิน, ระบบป้องกันฟ้าผ่า และระบบป้องกันเสิร์จ บริษัทฯ จะรักษาการเติบโตจากการเพิ่มประสิทธิภาพ ตั้งแต่ฝ่ายขาย ผลิต วิจัยและพัฒนา, กระจายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น และรักษาคุณภาพสินค้าในระดับสากล ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการทำในเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพไปแล้ว เช่น การปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุนของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มหลักดิน (Ground Rod) ก่อนการก่อสร้างโรงงานผลิต Ground Rod แห่งใหม่ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตและลดต้นทุน โดยปัจจุบันการก่อสร้างโรงงานผลิตดังกล่าว อยู่ในขั้นตอนของการถมดิน และปรับพื้นที่, ดำเนินการปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุนการผลิตของระบบป้องกันฟ้าผ่า (LPS) , ระบบป้องกันเสิร์จ (Surge Protection)
อย่างไรก็ตามสิ่งที่บริษัทฯ ได้ดำเนินการไปนั้น ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพและการเพิ่มกำลังการผลิต เพื่อที่จะรองรับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคต และการลดต้นทุนการผลิตก็จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัทในระดับสากล และเติบโตได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้มีการออกสินค้ากลุ่ม Innovation Base ได้แก่ ระบบการจัดการป้องกันฟ้าผ่าอัจฉริยะ และระบบแจ้งเตือนฟ้าผ่า ซึ่งถือว่าเป็นสินค้าที่มีการเติบโตสูง การแข่งขันต่ำ และมีอัตรากำไรสูงกว่า โดยกลยุทธ์การดำเนินงานในปีนี้ บริษัทฯ จะมุ่งเน้นลูกค้าในกลุ่มสำคัญ และเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีสินทรัพย์ปฎิบัติการมีมูลค่าสูงและโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ของรัฐ เนื่องจากโครงการดังกล่าวมีความต้องการสินค้าที่มีคุณภาพสูง รวมถึงพัฒนาระบบให้ตรงกับความต้องการลูกค้า
พร้อมกันนี้บริษัทฯ ก็ได้มีการสำรวจความต้องการสินค้าระบบการจัดการป้องกันฟ้าผ่าอัจฉริยะ พบว่า ได้รับการตอบรับที่ดีในกลุ่มอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ไฟฟ้า, พลังงาน, Building, ICT, Industrial Plant, Military และสนามบิน เป็นต้น ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ถือเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ และตรงตามกลยุทธ์ของบริษัทฯ ซึ่งปัจจุบันก็มีโครงการที่ให้การตอบรับมาแล้ว ได้แก่ ภาคพลังงาน ในโครงการ Solar Plant, โครงการท่อส่งก๊าซฯ-น้ำมัน, ภาคสื่อสารโทรคมนาคม ในโครงการ TV Digital และภาคอาคาร ในโครงการโรงพยายาล (ห้องผ่าตัด) โดยคาดว่าโครงการดังกล่าวจะส่งผลต่อรายได้เข้ามาในบริษัทฯ ในไตรมาส 3/63
ขณะที่หลังจากได้รับคัดเลือกร่วมโครงการต้นแบบรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-โคราช (ช่วงกลางดง - ปางอโศก) แล้วเสร็จเมื่อเดือนม.ค.62 ปัจจุบันโครงการรถไฟความเร็วสูงได้ประมูลครบทั้ง 13 สัญญาแล้ว บริษัทฯ ก็ได้เริ่มการติดตั้งระบบ Integrated Earthing System สัญญาแรก (ช่วงกุดจิก-สีคิ้ว) ร่วมกับผู้รับเหมาก่อสร้าง
"เราได้มีการผลิตสินค้าระบบต่อลงดิน ระบบป้องกันฟ้าผ่า ระบบป้องกันเสิร์จ แจ้งเตือนฟ้าผ่า และตอนนี้เราได้มีการปรับตัวไปสู่ Innovation Base โดยเริ่มจากระบบการจัดการป้องกันฟ้าผ่าอัจฉริยะ เพื่อส่งมอบระบบที่ปลอดภัย สู่สังคมและภาคธุรกิจ รวมถึงโครงการต่างๆของภาครัฐด้วย นอกจากนี้เราก็ยังมีการพัฒนาสินค้าในกลุ่ม Innovation Base อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น Ozone system, DAS/DTS รวมถึง Graphene ด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราก็เชื่อว่าจะสามารถตอบสนองในเรื่องของ Safety และ Security ได้อย่างครบถ้วน" นายบุญศักดิ์ กล่าว