นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลท.เตรียมประกาศขยายเวลาการใช้หลักเกณฑ์ราคาเสนอขายชอร์ตเซล (Short Sell) โดยกำหนดให้สมาชิกเสนอขายชอร์ตเซลได้เฉพาะในราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (Uptick) และหลักเกณฑ์ราคาเสนอซื้อขายสูงสุดและต่ำสุด (Ceiling & Floor) ที่ได้ลดอัตราราคาเสนอซื้อขายสูงสุดและต่ำสุดของหลักทรัพย์ลงจาก +/- 30% เป็น +/-15% ตลอดจนเกณฑ์การหยุดการซื้อขายโดยอัตโนมัติ (Circuit Breaker) ที่กำหนดเป็น 3 ระดับ ซึ่งเดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 30 มิ.ย.63
ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์ตลาดหุ้นยังผันผวน และต้องติดตามปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจจะเข้ามากระทบทั้งสถานการณ์โควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจ โดยคาดว่าจะประกาศความชัดเจนการขยายระยะเวลาการใช้มาตรการดังกล่าวภายในสัปดาห์หน้า
นายภากร กล่าวปาฐกถาพิเศษ "ตลาดทุน ฝ่าวิกฤตโควิด" ภายในงานสัมมนาส่องหุ้นไทย ฝ่าวิกฤติโควิด ว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19, ความขัดแย้งทางการเมือง, การอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบของธนาคารกลางทั่วโลก ทำให้เกิดหลายเรื่องที่ไม่เคยเจอทั้งอัตราดอกเบี้ยติดลบ, ราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำ และเศรษฐกิจชะลอตัวลง ส่งผลต่อตลาดทุนทั่วโลกปรับตัวลดลง ขณะที่ตลาดทุนไทยปรับตัวลงไปถึง 37% แต่ในปัจจุบันได้ปรับตัวลดลงเหลือราว 10% แล้ว
ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องติดตามดูต่อ คือ ตลาดทุนไทยจากนี้จะฟื้นตัว หรือเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ซึ่งหากเทียบกับเหตุการณ์ในอดีต หรือวิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 51 ตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงไทยปรับตัวลง 40% และใช้เวลาการฟื้นตัว 10-11 เดือน แต่ปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 สิ่งที่เห็นคือการฟื้นตัวขึ้นได้ค่อนข้างเร็วประมาณ 3-4 เดือน ราว 80-90%
นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมายังพบว่า ตลาดหุ้นไทยมีสภาพคล่องสูง โดยตั้งแต่ต้นปีมีการซื้อขายเฉลี่ยอยู่ที่ 69,000 ล้านบาท/วัน จากปีก่อนอยู่ที่ 53,000 ล้านบาท/วัน นำโดยกลุ่มนักลงทุนรายย่อยที่มีการซื้อขายมากขึ้น เนื่องจากนักลงทุนรายย่อยมองเห็นโอกาสเข้ามาลงทุนในช่วงที่ตลาดปรับตัวลง โดยมีการเปิดบัญชีในช่วงเวลาดังกล่าวถึง 100,000 บัญชี จากปกติจะมีการเปิดบัญชีใหม่ 150,000 บัญชีต่อปี
อย่างไรก็ตามมูลค่าของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯปรับตัวค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับการประเมินกำไรของบริษัทจดทะเบียนในปี 64 จะเห็นว่าค่าเฉลี่ย Forward P/E ข้างหน้า 1 ปี อยู่ที่ 20 เท่า ถือเป็นตัวเลขที่สูง เนื่องจากปกติจะอยู่ที่ 16-17 เท่า ขณะที่ Historical P/E จะอยู่ที่ 19 เท่า แต่ Forward P/E สูงกว่า Historical P/E ทำให้มองว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนในปี 64 อาจถูกกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัวค่อนข้างมาก หากไม่มีข้อมูลที่จะแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วได้ในช่วงครึ่งปีหลัง
พร้อมกันนี้อยากจะฝากถึงนักลงทุนให้ติดตามดูข้อมูล หรือมีเหตุการณ์ใดอีกบ้างที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมต่าง ๆ มีความแตกต่างกันอย่างไร และมีการปรับตัวกันอย่างไร เพื่อเป็นปัจจัยตัดสินใจในการลงทุน
นายภากร กล่าวว่า สำหรับการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่ายปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานปี 63 นั้น มองว่าผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 2/63 จะถูกกระทบจากโควิด-19 มากที่สุด ซึ่งการดูแลการบริหารความเสี่ยงที่ดีสิ่งหนึ่งที่ผู้ทำธุรกิจจะต้องดูแลมากขึ้น คือ มีสภาพคล่อง มีเงินทุนระยะสั้น-ยาวเพียงพอ ในการรองรับความเสี่ยงเหล่านี้หรือไม่ ฉะนั้น การที่ธปท.ออกคำสั่งดังกล่าว ทางตลาดหลักทรัพย์ฯมองว่าเป็นคำสั่งที่ทำให้ภาคธุรกิจสามารถสร้างความเข้มแข็งได้
"การที่ภาครัฐออกกฎแบบนี้ จะทำให้ระบบธุรกิจเข้มแข็งขึ้น เพราะสามารถรักษาการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนได้ ในขณะที่นักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนในระยะสั้น อาจจะต้องปรับการลงทุน และเป็นช่วงที่ต้องใช้ข้อมูลในการลงทุนให้มาก"นายภากร กล่าว