กสิกรไทย ซื้อ 7.85 เมย์แบงก์กิมเอ็ง ซื้อ 7.85 ทรีนีตี้ ซื้อ 8.70
นางสาวหมิ่นหลิง หวัง นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า คาดกำไรสุทธิของ RBF ในไตรมาส 2/63 จะเติบโตต่อเนื่อง จากซัพพลายเออร์รายใหม่ และโรงงานผลิตเกล็ดขนมปังในประเทศอินโดนีเซียเริ่มเดินเครื่องผลิตในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา มีกำลังการผลิตเต็มกำลังที่ 7.5-8 ตัน/วัน ปัจจุบันสามารถเดินเครื่องผลิตได้ 2.5 ตัน/วัน เพื่อขายให้กับลูกค้าเดิมในประเทศอินโดนีเซีย โดย RBF ก็มีแผนย้ายฐานลูกค้าอินโดนีเซียทั้งหมด มายังโรงงานผลิตแห่งนี้ เพื่อลดต้นทุนการดำเนินงาน
ขณะที่ในครึ่งปีหลังก็เตรียมเดินเครื่องผลิตโรงงานผลิตเกล็ดขนมปังในประเทศเวียดนาม คาดว่าจะสามารถเริ่มผลิตเต็มกำลังได้ที่ 12-15 ตัน/วัน จากการที่มีโรงงานผลิตทั้ง 2 แห่งนี้ มองว่าจะช่วยหนุนให้อัตรากำไรขั้นต้นของกลุ่มแป้งและซอสปรับตัวเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ บริษัทน่าจะมียอดขายวัตถุแต่งกลิ่น สีและรส สำหรับอาหารสูงขึ้น จากการออกสินค้าใหม่ของลูกค้า ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อยอดขายในเดือน พ.ค.63 ให้ฟื้นตัวขึ้น และเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งบริษัทยังมองหาการเข้าซื้อกิจการในธุรกิจวัตถุแต่งกลิ่นและรส เนื่องจากกลุ่มผลิตภัณฑ์นี้มีอัตรากำไรที่สูงกว่าผลิตภัณฑ์อื่น ๆ และมีหลายบริษัทที่ดำเนินธุรกิจประเภทนี้ในตลาด ทำให้ RBF ยังมีโอกาสที่จะเพิ่มสินค้าแบรนด์ตัวเอง เช่น Best Odour, Uncle Barns, Gob Jung หลังได้รับการติดต่อจากผู้จัดจำหน่ายในต่างประเทศบางราย
"เราคาดว่ากำไรสุทธิในปี 63 ของ RBF จะได้รับผลกระทบเล็กน้อยจากโควิด-19 เนื่องจากอุปสงค์ของสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่มของ RBF ยังแข็งแกร่งซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนอัตรากำไรขั้นต้นให้สูงขึ้น โดยคาดอัตรากำไรขั้นต้นปีนี้จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 40% และยอดขายรวมปีนี้จะเติบโตประมาณ 10%"นางสาวหมิ่นหลิง หวัง กล่าว
ด้านบทวิเคราะห์ บล.ทรีนีตี้ ระบุว่าแนวโน้มกำไรสุทธิในไตรมาส 2/63 จะอยู่ที่ 114 ล้านบาท เติบโต 90.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากฐานที่ต่ำในปีก่อน และการควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้น ภายหลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่หากเทียบกับไตรมาส 1/63 จะลดลงประมาณ 22.4% จากผลกระทบของโควิด-19
ส่วนทั้งปีได้ปรับประมาณการกำไรปี 63 เป็น 502 ล้านบาท และปี 64 มาที่ 579 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% และ 14% ตามลำดับ จากแนวโน้มอัตรากำไรขั้นต้นที่ดีกว่าคาด โดยปรับสมมติฐานปี 63 และ 64 เพิ่มเป็น 39.5% และ 40.4% จากเดิมคาด 38.1% และ 38.0% ตามลำดับ คาดอัตราการเติบโตเฉลี่ยกำไรสุทธิ (CAGR) ปี 62-65 ไว้ราว 23.4%
นอกจากนี้ ยังมอง RBF มีความน่าสนใจลงทุน จากประมาณการรายได้จากการขายสินค้ากลุ่มวัตถุแต่งกลิ่นและสีผสมอาหาร (Flavoring & Food Coloring) เติบโตราว 10-12% ในปี 63 คิดเป็นสัดส่วนรายได้ราว 38-39% ของรายได้รวมจากเดิมอยู่ที่ 36-37% ของรายได้รวม โดยสินค้าในกลุ่มดังกล่าวมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงถึงราว 70% ซึ่งมีปัจจัยหนุนจากฐานลูกค้ารายเดิม มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อตอบสนองและกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภคสม่ำเสมอ เช่น รสใหม่ กลิ่นใหม่ สีใหม่ เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันตลาดอุปโภคบริโภคมีการแข่งขัน การปรับตัวรวดเร็ว จึงเป็นอานิสงส์ให้มีการใช้ผลิตภัณฑ์จาก RBF มากขึ้น
พฤติกรรมการสั่งอาหาร Delivery มีการเติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่มีการสั่งอาหาร Delivery เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ RBF ได้รับอานิสงส์เชิงบวกจากการที่ร้านอาหารมีความจำเป็นต้องพัฒนาสูตรเพื่อให้อาหารยังคงกรอบ อร่อย คงคุณภาพใกล้เคียงกับการรับประทานที่ร้านมากที่สุด จึงเป็นปัจจัยหนุนกลุ่มแป้งและซอส คาดการเติบโตของรายได้กลุ่มดังกล่าวราว 10-12% จากปีก่อน โดยรายได้กลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วนรายได้ราว 36% ณ สิ้นปี 62 โดยมีอัตรากำไรขั้นต้นราว 16-17% เป็นอีกปัจจัยหนุนกำไร
ฐานะการเงินแข็งแกร่ง ระดับ D/E Ratio ต่ำเพียง 0.09 เท่า โดยบริษัทมีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยจ่ายจำนวน 355 ล้านบาทเท่านั้น ประกอบกับเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดในมือราว 1,270 ล้านบาท แสดงให้เห็นถึงฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง รวมถึงทาง RBF ยังมีเป้าหมายในการสร้างความเติบโตจากการ M&A โดยเฉพาะในธุรกิจกลุ่ม Flavor & Fragrance เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีกำไรสูง และมีความต้องการการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากลูกค้าอย่างต่อเนื่อง
บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ โดยคาดว่าคาดผลประกอบการของ RBF ในไตรมาส 2/63 อยู่ที่ 128 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 113% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นฐานที่ต่ำ เนื่องจากมีรายการพิเศษในปีก่อน แต่ลดลง 14% จากไตรมาสก่อน เนื่องจากมีคำสั่งซื้อสะสมในไตรมาสก่อน โดยยังคงชอบการดำเนินงาน และความสามารถในการแข่งขันของ RBF และด้วยการระบาดของโควิด-19 ทำให้ RBF มีโอกาสที่จะทำ M&A ในต่างประเทศ ขณะที่คาดว่าผลประกอบการจะเพิ่มขึ้น 26% CAGR ต่อปีสำหรับปี 63-64
ทั้งนี้ มองว่า RBF ได้ประโยชน์จากการระบาดของโควิด-19 จากความต้องการลดต้นทุนของร้านอาหารที่ต้องการวัตถุดิบที่ถูกลง และเก็บได้นานขึ้น และทำให้ RBF ที่มีเงินสดสูงมีความได้เปรียบจากธุรกิจอาหารในต่างประเทศที่ขาดเงินสด และสำหรับธุรกิจรายย่อยสัดส่วน 6% ของยอดขายมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นได้จากธุรกิจขนาดเล็กที่เพิ่มขึ้น