โบรกเกอร์ แนะ"ซื้อ"หุ้นธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) แม้ว่าแบงก์ชาติออกนโยบายให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่ายปันผลกลางปี ส่งผลต่อ Sentiment เชิงลบระยะสั้น แต่เชื่อมั่นสิ้นปีนี้ KKP จะสามารถทำกำไรแตะ 5.6 พันล้านบาท ติดโผหุ้นจ่ายปันผลสูงสุดในกลุ่มธนาคารประมาณ 8% เป็นจังหวะซื้อเมื่อราคาหุ้นพักฐาน
ด้านผลงานไตรมาส 2/63 คาดกำไร 1.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.80% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 14.80% จากไตรมาสก่อน ตามแนวโน้มรายได้ค่าธรรมเนียมที่คาดเพิ่มขึ้นจากธุรกิจตลาดทุนที่มูลค่าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯสูงขึ้น ด้านกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงขั้นที่ 1 อยู่ที่ 14.5% สูงกว่าเกณฑ์ Basel 3 และ Basel 4 สะท้อนความแข็งแกร่งสถานะทางการเงินรับมือความผันผวน
พักเที่ยงราคาหุ้น KKP อยู่ที่ 41.75 บาท ลดลง 0.50 บาท หรือ 1.18% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย เพิ่มขึ้น 1.12%
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) ฟิลลิป (ประเทศไทย) ซื้อ 50.00 เคจีไอ (ประเทศไทย) ซื้อ 64.00 กรุงศรี ซื้อ 52.00 บัวหลวง ซื้อ 57.25 ฟินันเซีย ไซรัส ซื้อ 50.00
นายวิกิจ ถิรวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.บัวหลวง กล่าวว่า แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะออกคำสั่งให้ธนาคารพาณิชย์งดปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานปี 63 และงดซื้อคืนหุ้น อาจจะกระทบ Sentiment ช่วงสั้น แต่มีมุมมองเชิงบวกกับหุ้น KKP เนื่องจากประเมินว่าคำสั่งของ ธปท.เป็นเพียงการเฝ้าระวังเพื่อเตรียมรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่อาจชะลอตัวในระยะถัดไปเท่านั้น ไม่ได้ส่งสัญญาณเชิงลบรุนแรงว่าอัตราหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) จะเร่งตัวขึ้นจนกระทบถึงสถานะการเงินของธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางยุโรปได้ใช้นโยบายในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ กรณี KKP ไม่ได้ปันผลระหว่างกาลจะเหลือจ่ายเงินปันผลครั้งเดียวรอบผลประกอบการปี 63 เบื้องต้นประเมินว่าจะจ่ายเงินปันผลหุ้นละ 3.50 บาท คิดเป็นอัตราผลตอบแทนสูงถึง 8% นับเป็นอัตราจ่ายเงินปันผลที่สูงสุดเมื่อเทียบกับหุ้นในอุตสาหกรรมเดียวกัน
แม้ว่าความเสี่ยงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอาจกระทบราคารถยนต์มือสองที่เป็นพอร์ตสินเชื่อหลัก แต่เชื่อว่าราคารถยนต์มือสองจะไม่ได้ลดลงอย่างหนักเหมือนกับเหตุการณ์รัฐบาลในอดีตออกนโยบายรถยนต์คันแรก ขณะที่เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงขั้นที่ 1 อยู่ที่ 14.5% สูงกว่าเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงิน Basel 3 และ Basel 4 เป็นสิ่งสะท้อนความแข็งแกร่งสถานะทางการเงินที่รองรับกับความผันผวนทางเศรษฐกิจไม่มีผลกระทบต่อประมาณการกำไรปีนี้
นอกจากนี้ ธุรกิจหลักทรัพย์ผ่าน บล.ภัทร มีความโดดเด่นเกี่ยวกับโอกาสเติบโตของกำไร ส่วนหนึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นจากเงินลงทุนเบื้องต้นคาดว่าจะนำเงินไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลมีอัตราดอกเบี้ยประมาณ 2% ต่อปีคาดวงเงินลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาทส่งผลต่อกำไรจากเงินลงทุนอย่างน้อย 2 พันล้านบาทต่อปี ขณะเดียวกันยังมีรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจวาณิชธนกิจ ในการนำบริษัทขนาดใหญ่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นเหตุผลให้ฝ่ายวิจัยฯยังคงประมาณกำไร KKP ปีนี้ที่ระดับ 5.6 พันล้านบาท และเพิ่มเป็น 5.8 พันล้านบาทในปี 64
"เป็นโอกาสซื้อสะสมหุ้น KKP ในจังหวะที่ราคาหุ้นปรับตัวลง เพราะยิ่งได้รับปันผลในอัตราสูง เบื้องต้นประเมินอัตราปันผลของปีนี้อยู่ราวๆ 8% สูงสุดในกลุ่มธนาคาร และความแข็งแกร่งด้านเงินกองทุน และแนวโน้มรายได้และกำไรยังเติบโตได้ดี แม้ว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัว แต่ก็ยังไม่เห็นปัจจัยลบแรง ๆ ที่จะต้องถึงขั้นปรับประมาณการกำไรปีนี้และปีถัดไป"นายวิกิจ กล่าว
นักวิเคราะห์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า แม้ว่าแนวโน้ม NPLs ในไตรมาส2/63 จะเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว สวนทางกับตัวเลขสินเชื่อรวมจะเติบโตลดลงเหลือ 3% จากไตรมาสก่อนที่เติบโต 4.2% เนื่องจากทิศทางยอดขายรถยนต์ในประเทศอยู่ในภาวะซบเซา
แต่อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยฯคาดว่าแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2/63 ยังสามารถเติบโต เบื้องต้นประเมินกำไร 1.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.80% เมื่อเทียบกับปีก่อน และเพิ่มขึ้น 14.80% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ตามแนวโน้มรายได้ค่าธรรมเนียมที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากธุรกิจตลาดทุนที่มูลค่าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯเพิ่มขึ้นสูงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนั้น ผลขาดทุนจากทรัพย์สินรอการขายยังลดต่ำลง รวมไปถึงค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยปรับลดลงด้วย
ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยฯยังคงประมาณการกำไรปี 63 ของ KKP ไว้ที่ 6.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.2% จากปีที่แล้ว ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการปรับลดดอกเบี้ยของ ธปท.เนื่องจากสินเชื่อเช่าซื้อซึ่งเป็นสินเชื่อหลักของ KKP นั้นมีเพียงการเลื่อนการผ่อนชำระออกไปเท่านั้น ไม่มีการลดอัตราดอกเบี้ยเหมือนข่าวก่อนหน้านี้
บล.กรุงศรี ประเมินแนวโน้มผลประกอบการ KKP ในไตรมาส 2/63 มีโอกาสเติบโตแข็งแกร่งมากที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มธนาคารขนาดกลาง เนื่องจากธุรกิจหลักทรัพย์ที่ถือหุ้นผ่านบล.ภัทร มีแนวโน้มกำไรเติบโตโดดเด่น ตามทิศทางมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่เพิ่มขึ้นช่วยชดเชยรายได้จากธุรกิจธนาคารที่ชะลอตัวจากดอกเบี้ยที่ลดลง และการเติบโตของสินเชื่อที่ชะลอตัว