ภาวะตลาดหุ้นไทยแนวโน้มดัชนีเช้าแกว่งเชิงอ่อน ตลาดตปท.ไม่สดใส-การประท้วงกดดัน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 23, 2007 09:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นางภรณี ทองเย็น ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัยหลักทรัพย์ บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นเช้านี้ทิศทางตลาดแกว่งตัวในเชิงอ่อนเพราะตลาดต่างประเทศไม่ค่อยดีถ้าดูจากหุ้นตลาดสหรัฐปรับตัวลดลง และบ้านเราเมื่อวานมีปัญหาเรื่องการประท้วงเป็นประเด็นกดดันตลาด แต่ในเชิงผลประกอบการของกลุ่มธนาคารที่ออกมาถือว่าสะท้อนสิ่งที่ตลาดคาดหวัง เช่น การตั้งสำรองตาม IAS39 ไปแล้ว
"ประเด็นแบงก์จบแล้วถ้าปรับลงคงจะมีแรงซื้อกลุ่มแบงก์ แต่วันนี้จะมีปัจจัยต่างประเทศกดดันอยู่ กรอบการเคลื่อนไหววันนี้ประมาณ 845-860 จุด การชุมนุมคงมีผลต่อตลาดบ้าง" นางภรณี กล่าว
ประเด็นของการพิจารณาการลงทุน :
- ตลาดหุ้นนิวยอร์คเมื่อวันศกร์(20 ก.ค.) ดัชนีดาวโจนส์ ปิดที่ 13,851.08 จุด ลดลง 149.33 จุด(-1.07%) ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปิดที่ 1,534.10 จุด ลดลง 18.98 จุด(-1.22%) และดัชนีแนสแด็ก ปิดที่ 2,687.60 จุด ลดลง 32.44 จุด (-1.19%)
- นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 64.52 ล้านบาทเมื่อวันศุกร์ (20 ก.ค.)
- ราคาน้ำมันดิบส่งมอบเดือน ส.ค.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการเมื่อวันศุกร์(20 ก.ค.)ที่ 75.57 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลง 0.35 ดอลลาร์
- คณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฯ ประชุมวันนี้ เวลา 14.30 น. จะหารือถึงมาตรการในการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทแข็ง โดยเฉพาะ 6 มาตรการของคณะกรรมการภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร.ที่นายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบ รวมทั้ง 6 มาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย
- นักธุรกิจ เมินฝากเงินสกุลต่างประเทศ เหตุทิศทางค่าเงินบาทแข็งต่อเนื่อง หลังพบสัญญาณ ออฟชอร์แตะ 29 บาท ด้านแบงก์ประเมินผู้ฝากเงินไปลงทุนหรือฝากในต่างประเทศผลตอบแทนสูงกว่า ด้านเครือเจริญโภคภัณฑ์ ยอมรับมาตรการช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น เมินแปลงเป็นดอลลาร์ เชื่อบาทแข็งต่อเนื่อง
- "ไพบูลย์" สั่งเกษตรฯ เตรียมแผนรองรับแรงงานภาคอุตสาหกรรมไหลกลับคืนภาคเกษตรจากสาเหตุปัญหาทางการเงิน "โฆสิต" จี้สมาคมธนาคารปล่อยสินเชื่ออุ้มภาคธุรกิจด่วน เอกชนร้องขาดสภาพคล่องหนักหลังแบงก์หวั่นเอ็นพีแอลย้อนกลับ เข้มงวดสินเชื่อ เชือดกลุ่มสิ่งทอ รองเท้าก่อน
- นักวิชาการชี้คนไม่ต้องการถือดอลลาร์สหรัฐที่มีทิศทางอ่อนตัวลง แนะธปท.ดูแลความผันผวน เตือนอย่าฝืนตลาด นักเศรษฐศาสตร์ระบุมาตรการแบงก์ชาติเพิ่มความคล่องตัวกับภาคธุรกิจเป็นผลดีระยะกลางและยาว แต่อาจจะไม่ช่วยแก้ปัญหาค่าเงินบาทระยะสั้นเหตุคนไม่ต้องการถือดอลลาร์ สหรัฐที่ทิศทางอ่อนค่าลง เสนอปล่อยค่าเงินบาทไปตามกลไกแล้วช่วยเหลือเฉพาะภาคธุรกิจรายอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ