ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) (KGI) ที่ระดับ "A" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งที่มีต่อสถานะของ บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) ในการเป็นบริษัทในเครือเชิงกลยุทธ์ระดับปานกลางของ KGI Securities Co., Ltd. ในไต้หวัน (หรือ KGI Taiwan รวมทั้งบริษัทในเครือรายอื่น ๆ ใน KGI Group) ซึ่งสถานะดังกล่าวเอื้อให้อันดับเครดิตของ KGI ได้รับการยกระดับเพิ่มขึ้นจากสถานะอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทเอง
บนพื้นฐานของอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทนั้น อันดับเครดิตสะท้อนถึงความแข็งแกร่งในธุรกิจตราสารอนุพันธ์ แหล่งรายได้ที่มีความหลากหลาย สถานะเงินกองทุนที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง และความสามารถในการทำกำไรที่ค่อนข้างดีของบริษัทในภาพรวม อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นจากสัดส่วนกำไรจากการค้าหลักทรัพย์และตราสารอนุพันธ์ที่อยู่ในระดับสูงซึ่งอาจกลายเป็นแหล่งกำไรที่ไม่แน่นอนได้ในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนมากยิ่งขึ้น
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นบริษัทในเครือที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ระดับปานกลางของ KGI Group อันดับเครดิตองค์กรของ KGI ได้รับการยกระดับเพิ่มขึ้นจากสถานะในการเป็นบริษัทในเครือเชิงกลยุทธ์ที่มีความสำคัญปานกลางของ KGI Group ทั้งนี้ KGI มี KGI Asia (Holdings) Pte. Ltd. เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในอัตราส่วน 34.97% ในขณะที่ KGI Asia (Holdings) เป็นบริษัทลูก 100% ของ KGI Taiwan ณ เดือนพฤษภาคม 2563 คณะกรรมการของบริษัทจำนวน 3 คนจากทั้งหมด 9 คนได้รับการเสนอชื่อโดย KGI Taiwan
KGI ได้รับการสนับสนุนทางธุรกิจและความรู้จากผู้เชี่ยวชาญของ KGI Taiwan ทำให้บริษัทสามารถเป็นผู้นำในตลาดตราสารอนุพันธ์ในประเทศไทยได้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จเป็นระยะเวลายาวนานและการจ่ายเงินปันผลที่สม่ำเสมอให้แก่กลุ่มเป็นเหตุจูงใจที่ทำให้ KGI Group จะยังคงสัดส่วนผู้ถือหุ้นในบริษัทต่อไปในอนาคตอันใกล้ อย่างไรก็ดี แม้ว่าทริสเรทติ้งจะมองเห็นความสัมพันธ์ในด้านกลยุทธ์และความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างบริษัทกับ KGI Taiwan และบริษัทในเครือที่มีอยู่ในระดับที่ชัดเจน แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานการสนับสนุนทางด้านการเงินที่แน่นอนจากกลุ่ม
สัดส่วนกำไรจากเงินลงทุนและตราสารอนุพันธ์เพิ่มสูงขึ้น KGI มีโครงสร้างธุรกิจที่ค่อนข้างมีความหลากหลายโดยมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ตราสารอนุพันธ์ที่ส่วนใหญ่เป็นใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (Derivative Warrant – DW) ซึ่งนอกเหนือไปจากธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ทริสเรทติ้งคาดว่า KGI จะยังสามารถคงความเป็นผู้นำทางการตลาดรายใหญ่ที่สุดของไทยในการออก DW ต่อไป โดยส่วนแบ่งทางการตลาดของมูลค่าการซื้อขาย DW ที่ออกโดยบริษัทอยู่ที่ระดับ 42% ในปี 2562
ในด้านของรายได้โดยรวมนั้น สัดส่วนของกำไรจากเงินลงทุนและตราสารอนุพันธ์รวมทั้งรายได้ค่าธรรมเนียมมีสัดส่วนประมาณสองในสามของรายได้รวมของบริษัท โดยสัดส่วนของกำไรจากเงินลงทุนและตราสารอนุพันธ์ต่อรายได้รวมเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีสัดส่วนถึง 43% ในปี 2562 จากที่ระดับ 20%-30% ในช่วงก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งมองว่าสัดส่วนรายได้ดังกล่าวที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นไม่เอื้อต่อปัจจัยทางเครดิตเนื่องจากมีความไม่แน่นอนโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้สภาวะตลาดที่มีความผันผวนอย่างหนัก
สำหรับรายได้ค่าธรรมเนียมนั้น บริษัทยังคงสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียมที่ดีและมีความมั่นคงจากการออกผลิตภัณฑ์ของ บลจ.วรรณ ซึ่งเป็นบริษัทลูก โดยรายได้ค่าธรรมเนียมในส่วนนี้มีสัดส่วนกว่า 18% ของรายได้รวมในปี 2562 และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ระดับ 5% ในขณะเดียวกัน สัดส่วนรายได้จากธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ก็ลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 21% ในปี 2562 จากระดับ 30%-40% ในอดีต ซึ่งสอดคล้องกับส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทที่ลดลงจากการมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ตราสารอนุพันธ์และหุ้นกู้อนุพันธ์ (Structured Note) มากกว่า
ความผันผวนของผลกำไรระยะสั้น ทริสเรทติ้งคาดว่าความสามารถในการทำกำไรโดยรวมของ KGI จะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งและมีเสถียรภาพจากการมีรายได้ค่าธรรมเนียมที่เติบโตขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้กระนั้น ความเสี่ยงจากการมีกำไรจากเงินลงทุนและตราสารอนุพันธ์ในระดับสูงก็อาจทำให้ผลประกอบการของบริษัทได้รับผลกระทบจากสภาวะความผันผวนที่เพิ่มสูงขึ้นได้ โดยบริษัทรายงานผลขาดทุนจากตราสารทางการเงินเป็นมูลค่ารวม 619 ล้านบาทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 ด้วยสาเหตุหลักที่เกิดจากมาตรการป้องกันความเสี่ยงสำหรับธุรกิจตราสารอนุพันธ์ของบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากตลาดที่มีความผันผวนอย่างหนัก ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนกำไรก่อนหักภาษีต่อสินทรัพย์เสี่ยงของบริษัทลดลงจนติดลบโดยมาอยู่ที่ระดับ -3.77% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 จากระดับ 3.7% ตลอดช่วงปี 2562 โดย KGI มีผลขาดทุนสุทธิ 507.5 ล้านบาทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563
จากสถานการณ์ดังกล่าวซึ่งทริสเรทติ้งมองว่าเป็นเหตุการณ์ระยะสั้น บริษัทก็ได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ให้รองรับความผันผวนของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าผลประกอบการของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังประมาณการอัตราส่วนกำไรก่อนหักภาษีต่อสินทรัพย์เสี่ยงของบริษัทว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 3% ต่อปีในช่วงปี 2564-2565 อีกด้วย สำหรับในด้านบวกนั้น KGI ยังคงสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้เป็นอย่างดีซึ่งช่วยลดทอนผลกระทบที่จะเกิดกับผลการดำเนินงานของบริษัทได้ โดยบริษัทมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้สุทธิอยู่ที่ระดับ 48% ในปี 2562 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ระดับ 66%
เงินกองทุนเพียงพอรองรับความผันผวนของผลการดำเนินงาน ฐานเงินกองทุนที่ค่อนข้างแข็งแกร่งของ KGI ได้ช่วยรองรับผลขาดทุนจากธุรกิจตราสารอนุพันธ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากสู่ระดับ 32% ณ เดือนมีนาคม 2563 จากระดับ 16.5% ณ สิ้นปี 2562 ซึ่งเป็นผลมาจากกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยงที่เข้มงวดโดยการลดขนาดของธุรกิจ DW ลงในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนสูง ซึ่งนำไปสู่ขนาดของเงินลงทุนในตราสารหุ้นที่ลดลงภายใต้กลยุทธ์การป้องกันความเสี่ยงแบบ Delta-Neutral อย่างไรก็ตาม หลังจากการปรับกลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ ทริสเรทติ้งคาดว่าขนาดธุรกิจของบริษัทจะกลับคืนสู่ระดับปกติ โดยทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงซึ่งเพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับ 32% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 นั้นจะเป็นเพียงปรากฏการณ์ชั่วคราวและคาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 16%-18% ซึ่งเป็นระดับปกติในช่วงปี 2563-2565
ยอมรับความเสี่ยงได้ลดลง ในความเห็นของทริสเรทติ้งมองว่าการบริหารความเสี่ยงของ KGI ยังคงอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยบริษัทยังคงได้รับการสนับสนุนและแนวทางการบริหารความเสี่ยงจาก KGI Group ทั้งในด้านความรู้ความเชี่ยวชาญในผลิตภัณฑ์ ระบบการซื้อขาย และการจัดการความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจตราสารอนุพันธ์ KGI ยังมีการพัฒนานโยบายและกระบวนการบริหารความเสี่ยงของบริษัทเองโดยได้กำหนดระดับความเสี่ยงที่รับได้และตัวชี้วัดความเสี่ยงของตลาดตามเวลาจริง (Real Time) ที่ชัดเจนอีกด้วย
ทั้งนี้ การมีวินัยในการบริหารความเสี่ยงที่เข้มแข็งได้ส่งผลให้บริษัทสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้ในเกือบทุกกรณีแม้ว่าความเสี่ยงที่บริษัทยอมรับได้จะอยู่ในระดับค่อนข้างสูงก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา KGI มีผลกำไรจากเครื่องมือทางการเงินค่อนข้างต่อเนื่องพร้อมทั้งยังสามารถคงต้นทุนทางเครดิตจากเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ให้อยู่ในระดับต่ำได้
KGI สามารถบริหารเงินลงทุนของบริษัท (Proprietary Trading) ได้เป็นอย่างดีโดยไม่มีผลขาดทุนจากตลาดที่มีความผันผวนสูงในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 ทริสเรทติ้งพิจารณาว่าผลขาดทุนจากการบริหารความเสี่ยงของบริษัทที่เกิดขึ้นนั้นมาจากสถานการณ์ความเสี่ยงของตลาดที่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก ซึ่งไม่นับเป็นปัจจัยในการคำนวณราคาของ DW ที่มีอยู่ ดังนั้น เพื่อเป็นมาตรการแก้ไขปัญหาระยะสั้น ผู้บริหารของ KGI จึงเข้ามาช่วยเหลือด้วยการลดขนาดของ DW ที่ออกโดยบริษัทซึ่งมีการซื้อขายในตลาดลง ส่วนมาตรการแก้ไขปัญหาในระยะยาวก็คือการปรับลักษณะและราคาของผลิตภัณฑ์เพื่อให้สามารถรองรับระดับความเสี่ยงที่มีขอบเขตกว้างขึ้น
แหล่งเงินทุนและสภาพคล่องยังคงแข็งแกร่ง แหล่งเงินทุนและสภาพคล่องของ KGI น่าจะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ทริสเรทติ้งประมาณการอัตราส่วนแหล่งเงินทุนที่มีเสถียรภาพของบริษัทว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 170% ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าซึ่งถือว่าแข็งแกร่งตามเกณฑ์ของทริสเรทติ้ง
จากข้อมูล ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 บริษัทมีวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินหลายแห่งซึ่งเพียงพอสำหรับการดำเนินงานในระดับปัจจุบันและการขยายธุรกิจในอนาคต ทริสเรทติ้งยังคาดว่าอัตราส่วนความครอบคลุมของสภาพคล่องของบริษัทจะยังคงอยู่ในเกณฑ์แข็งแกร่งที่ระดับประมาณ 1.8-1.9 เท่าในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าอีกด้วย ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิต่อหนี้สินทั่วไปอยู่ที่ระดับ 62% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563
ทริสเรทติ้งตั้งสมมติฐานกรณีพื้นฐานสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2563-2565 ดังนี้
-อัตราค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับประมาณ 0.06%-0.07%
-อัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้สุทธิจะอยู่ที่ระดับปกติประมาณ 50% ในปี 2564-2565
-อัตราส่วนกำไรก่อนหักภาษีต่อสินทรัพย์เสี่ยงจะอยู่ที่ระดับปกติประมาณ 3% ในปี 2564-2565
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงเพิ่มความหลากหลายของแหล่งที่มาของรายได้ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจที่สร้างรายได้จากค่าธรรมเนียมและรักษาความสามารถในการทำกำไรให้อยู่ในระดับที่ดีได้ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะรักษาฐานเงินกองทุนที่แข็งแกร่งจากการมีระดับกำไรที่มีเสถียรภาพและการจ่ายเงินปันผลในระดับที่เหมาะสมโดยที่ในขณะเดียวกันบริษัทจะยังคงมีวินัยในการบริหารความเสี่ยงที่เข้มแข็งอีกด้วย
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทมีจำกัด อย่างไรก็ตาม หากบริษัทยังคงมีสัดส่วนกำไรจากเงินลงทุนและตราสารอนุพันธ์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงจุดที่ทริสเรทติ้งเชื่อว่าจะกระทบอย่างมีนัยสำคัญอย่างต่อเนื่องต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทก็อาจส่งผลต่อการประเมินความมั่นคงทางธุรกิจของบริษัทได้ ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจส่งผลกดดันต่ออันดับเครดิตของบริษัทถึงแม้ว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงที่แข็งแกร่งก็ตาม
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่มีต่อสถานะเครดิตของ KGI Group หรือความเห็นของทริสเรทติ้งในเรื่องระดับความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของบริษัทที่มีต่อกลุ่มเปลี่ยนไปก็อาจมีผลต่ออันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทได้