บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ(BECL) คาดว่าปี 52 จะกลายเป็นปีทองของบริษัททั้งในแง่รายได้และกำไรสุทธิโดดเด่น จากการได้ปรับค่าผ่านทางในปลายปีหน้า และปริมาณการใช้ทางด่วนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการติดตั้งเครื่องเก็บเงินอัตโนมัติ ขณะที่ด้านรายจ่ายได้ fix ดอกเบี้ยจ่ายไว้ด้วยการออกหุ้นกู้มารีไฟแนนซ์
อย่างไรก็ตาม ในปี 50-51 คาดว่ากำไรสุทธิจะยังไม่เติบโตมากนัก แม้ว่ารายได้โตกว่า 4% ในปีนี้และปีหน้ายังโตต่อเนื่องประมาณมากกว่า 3% เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายค่าปรับการจ่ายหนี้คืนก่อน 3% หรือเป็นเงิน 225 ล้านบาท จากการออกหุ้นกู้ตามแผน 1.5 หมื่นล้านบาทเพื่อนำมาชำระหนี้เดิม
"ในระยะยาวมูลค่าบริษัทเพิ่มขึ้นเพราะสามารถปิดความเสี่ยงด้านการเงินจากการคงต้นทุนทางการเงินไว้ได้ และไม่ต้องเผชิญอัตราดอกเบี้ยลอยตัวในอีก 2 ปีข้างหน้า ส่งผลดีบริษัทจะมีภาระดอกเบี้ยลดลงจนถึงหนี้หมดอายุในปี 59 ที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยจะเป็นขาขึ้น"นางพเยาว์ มริตตนะพร กรรมการผู้จัดการ BECL กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
*ตู้เก็บเงินอัตโนมัติเริ่มใช้ต้นปี 52 เชื่อทำให้คนใช้ทางด่วนเพิ่มขึ้น
นางพเยาว์ กล่าวว่า ในปี 52 บริษัทจะได้รับผลดีจากการเริ่มใช้เครื่องจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติที่สามารถจัดเก็บได้เร็วเท่ากับ 3 ตู้คน ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณจราจรเพิ่มมากขึ้นกว่า 4% และมีรายรับค่าผ่านทางที่ได้ปรับขึ้นในช่วงปลายปี 51 เข้ามาเต็มปี ขณะที่กำไรสุทธิจะเห็นการเติบโตชัดเจนจากการที่บริษัทไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราลอยตัว แต่มาจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้แทนที่ fix ไว้ที่ประมาณ 5%
"ปี 52 จะเป็นปีที่แข็งแรงมาก ปริมาณจราจรเพิ่มขึ้น และได้ปรับประโยชน์จากการออกหุ้นกู้ ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายก็จะลดลง เพราะฉนั้น 52 จะเป็นปีทอง" นางพเยาว์กล่าว
บริษัทจะลงทุนติดตั้งเครื่องจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติทุกด่านในทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน sector A,B,C และ D ในปีนี้ จำนวนเงินลงทุน 400 ล้านบาท โดยจะเริ่มใน ธ.ค.50 และแล้วเสร็จในธ.ค.51 จากนั้นจะเริ่มเปิดใช้ในเดือน ม.ค.52 ขณะเดียวกันการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.)ก็ลงทุนเครื่องจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติทุกด่านเช่นก้นในส่วนทางด่วนขั้นที่ 1 และทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งจะทำให้การจราจรบนทางด่วนคล่องตัวมากขึ้น ส่งผลให้มีผู้ใช้ทางด่วนเพิ่มขึ้น
*ขอขึ้นค่าทางด่วนเป็นกว่า 45 บาท
การปรับค่าผ่านทางที่จะมีขึ้นปลายปีหน้าเป็นไปตามสัญญาสัมปทานที่กำหนดให้ปรับขึ้นได้ทุก 5 ปี บริษัทจะขอปรับตามอัตราเงินเฟ้อในช่วง 5 ปี (ก.พ.46- ก.พ.51) หรือประมาณ 16.5% เมื่อคิดจากฐานที่เก็บ ณ วันนี้ที่ 40 บาท บริษัทจะสามารถปรับเพิ่มค่าผ่านทางได้เป็น 46.6 บาท หรือปรับขึ้นอย่างน้อย 5 บาท
อย่างไรก็ตาม ในการขอปรับขึ้นในช่วง 5 ปีก่อนในรัฐบาลชุดที่แล้วไม่อนุญาตให้ปรับขึ้นในอัตรา 5 บาทนั้น ขณะนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาชั้นศาล และเชื่อว่าการขอปรับขึ้นค่าผ่านทางในครั้งนี้จะได้รับการอนุมัติ
"คิดว่ารัฐบาลไม่ใช่นึกจะทำอะไรก็ทำ เพราะจะต้องอิงสัมปทาน และในเนื้อหานั้นก็เขียนไว้ คิดว่าการปรับขึ้นครั้งนี้ไม่น่าจะถูกเบรก โดยหนก่อนที่ขอปรับขึ้นคิดจากอัตราเงินเฟ้อ เมื่อคำนวนแล้วไม่ถึง 5 บาท รัฐบาลเห็นว่ายังไม่ถึง 5 บาทจึงยังไม่กล้าปรับขึ้นค่าผ่านทาง แต่คราวนี้มันล้น ยังไงก็น่าจะได้ 45 บาทได้แน่" นางพเยาว์ กล่าว
*ครึ่งแรกปี 50 โต 5.6% แต่ทั้งปีคาดโตกว่า 4%
นางพเยาว์ กล่าวว่า รายได้ของ BECL ในช่วงครึ่งแรกของปี 50 เติบโตตามปริมาณการจราจรบนทางด่วนที่เป็นไปตามเป้า โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 980,133 คัน/วัน หรือเพิ่มขึ้น 5.6% เทียบกับ 6 เดือนแรกของปีก่อน และในเดือนมิ.ย.ปริมาณผู้ใช้ทางด่วนเพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 1 ล้านคัน/วัน
สำหรับอัตราการเติบโตของปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้นมากในครึ่งปีแรกเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากในช่วงครึ่งปีแรกของปีก่อนยังไม่มีการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิ และจะทำให้ไตรมาส 3/50 ก็ยังคงอัตราเติบโตสูงอย่างนี้อยู่ แต่ในไตรมาส 4/50 อัตราการเติบโตจะไม่สูงเหมือน 3 ไตรมาสแรก
ดังนั้น คาดว่าทั้งปี 50 ปริมาณจราจรจะเติบโตประมาณ 4% กว่า โดยทั้งปีจะมีปริมาณจราจรเฉลี่ยอยู่ที่ 998,439 คัน/วัน เพิ่มจากปีก่อนที่มีปริมาณจรจาจรเฉลี่ยอยู่ที่ 944,583 คัน/วัน ส่วนใหญ่มาจากการใช้ทางด่วนไปสนามบินสุวรรณภูมิที่มีรายได้วันละประมาณ 1 ล้านบาท
และรายได้บริษัทในปีนี้จะเติบโต 4% กว่าเช่นกันจากปีก่อนที่มีรายได้ 7,013 ล้านบาท
"ปกติทุกปีเราจะมี normal growth 3-4% พอมามีสุวรรณภูมิเราก็โตขึ้นเป็น 4%กว่า แต่ในแง่ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเราก็เพิ่มมากเป็น 5% พร้อมกับการเปิดสุวรรณภูมิเลย ผลกระทบแง่ลบคืออัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นอีก 1% จากหนี้ 2.8 หมื่นล้านบาทเท่ากับเพิ่มขึ้นอีก 280 ล้านบาท ในแง่บวกเราได้เพิ่มวันละ 1 ล้านบาทหรือ 365 ล้านบาท" นางพเยาว์กล่าว
ในส่วนกำไรสุทธิ ยังต้องพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายปีนี้ที่เกิดขึ้น ได้แก่ ค่าปรับจากการจ่ายหนี้คืนก่อนกำหนด 3% จากที่มีการออกหุ้นกู้ หรือคิดเป็นเม็ดเงินราว 225 ล้านบาทเพื่อรีไฟแนนซ์ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนอีก 1% เป็น 5% อย่างไรก็ดี บริษัทจะสามารถประหยัดรายจ่ายดอกเบี้ยประมาณ 16 ล้านบาทหลังออกหุ้นกู้ และยังมีกำไรพิเศษจากการขายหุ้นบมจ.น้ำประปาไทย(TTW) ที่จะเข้าตลาดหุ้นในไตรมาส 4 ปีนี้
ส่วนในปี 51 คาดว่าปริมาณจราจรของบริษัทจะโตต่อเนื่อง หรือ มากกว่า 3% เพราะบริษัทได้มีการปรับปรุงการจราจรด้านล่างให้มีความสะดวกมากขึ้น ได้สร้างทางขึ้นลงทางด่วนให้มากขึ้น ประกอบกับการได้ปรับค่าผ่านทางในช่วงก.ย.51 อย่างไรก็ตาม จะมีค่าใช้จ่ายจากค่าปรับ 3% จากการออกหุ้นกู้มารีไฟแนนซ์อีกครั้ง
*ออกหุ้นกู้ 1.5 หมื่นลบ.ปิดความเสี่ยงการเงิน
นางพเยาว์ กล่าวว่า การใช้แนวทางออกหุ้นกู้เป็นครั้งแรกและล็อตใหญ่จำนวน 7.5 พันล้านบาท ถือเป็นการบริหารจัดการความเสี่ยง เพราะเงินกู้ของบริษัทจะปรับไปใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัวในช่วงอีก 2 ปีข้างหน้า หรือ MLR-2% ขณะที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น
"คำว่า float ต้องถือว่าเป็นความเสี่ยง เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถออกตราสารหนี้ได้ แล้ว fix ดอกเบี้ยไว้ ก็จะปิดความเสี่ยงเรื่อง floating rate...ตอนที่ลุกขึ้นมาทำก็คิด คิด คิด เพราะมันมีต้นทุน แต่ในระยะยาวจะดี" นางพเยาว์กล่าว
แต่เนื่องจากบริษัทก็ต้องมีค่าใช้จ่ายในการบริหารความเสี่ยงดังกล่าว คือต้องเสียค่าปรับจากการจ่ายคืนหนี้ก่อนกำหนดในอัตรา 3% ของวงเงินคือ 7.5 พันล้านบาทตามวงเงินที่ออกหุ้นกู้ล็อตแรก เท่ากับต้องมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ 225 ล้านบาท ซึ่งจะต้องชั่งน้ำหนักกับผลในการช่วยลดรายจ่ายดอกเบี้ยที่ดอกเบี้ยจากการออกหุ้นกู้ต่ำกว่าดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายให้เจ้าหนี้ในอัตรา 5%ปีนี้ และในระยะต่อไป
"ผลที่ได้ไม่ใช่แค่ปีนี้แต่จะได้ไปจนถึงตลอดอายุหนี้ที่เหลือทั้งหมด เมื่อคูณกลับมาแล้วมูลค่าบริษัทสูงขึ้น เราออกหุ้นกู้ 1.5 หมื่นล้านของหนี้ทั้งหมด 2.8 หมื่นล้านบาท และจะเหลือ 1.2 หมื่นล้านบาทที่ยังเป็นหนี้สถาบันซึ่งอีก 2 ปีข้างหน้าจะกลายเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ซึ่งค่อยว่ากัน ถึงวันนั้นอาจจะไปคุยกับเขาต่อก็ได้" นางพเยาว์กล่าว
ปัจจุบัน บริษัทมีหนี้สินจำนวน 28,384 ล้านบาทจะมีอัตราดอกเบี้ยคงที่ 5% ในปี 50-51 เพิ่มจากปีก่อนที่มีอัตราดอกเบี้ยที่ 4% หลังจากจะใช้อัตราดอกเบี้ย MLR-2%
"เวลาเราคุยจะมองไปข้างหน้าว่า MLR จะมี assumtion เป็นเท่าไร โดย ณ วันนี้ อยู่ที่ 7% เชื่อว่า MLR ใน 5 ปีข้างหน้าต้องขึ้น เพราะฉะนั้นถ้า MLR อีก 2 ปีข้างหน้าเป็น 8% ลบกับ 2% ก็จะมีอัตราดอกเบี้ย 6% แต่เราออกหุ้นกู้ได้ที่ 5% หรือถ้า MLR เพิ่มมาเป็น 9% เท่ากับเราประหยัดได้มากขึ้น เพราะฉะนั้นพอ discount กลับมาแล้ว Value ของบริษัทสูงขึ้น ถ้าเราไม่ทำอะไร เราก็ต้องจ่าย MLR-2%ไปเรื่อยๆ"กรรมการผู้จัดการ BECLระบุ
ดังนั้น การออกหุ้นกู้ครั้งนี้ แม้ว่าปีนี้จะไม่ค่อยเห็นชัดแต่ก็ประหยัดดอกเบี้ยไปได้ประมาณ 16 ล้านบาท โดยในปี 51 จะประหยัดดอกเบี้ยได้ประมาณ 30 กว่าล้านบาท แต่ในปี 52 เมื่ออัตราดอกเบี้ยเงินกู้เป็นอัตราลอยตัว MLR-2% ก็ยิ่งประหยัดดอกเบี้ยได้มาก เพราะทุกๆ 1% ที่MLR ปรับขึ้น บริษัทจะประหยัดได้ประมาณ 75 ล้านบาท/ปี คือยิ่ง MLR ปรับสูงขึ้นมากบริษัทก็ยิ่งประหยัดดอกเบี้ยได้มาก ถ้ายิ่งปีหน้าออกหุ้นกู้อีก 7.5 พันล้านบาทในปีหน้าก็จะทำให้ช่วยประหยัดดอกเบี้ยได้มากขึ้นอีก
**เล็งซื้อ BMCL จาก N-PARK หากเสนอราคาต่ำกว่าพาร์ 1 บาท
ส่วนการเสนอขายหุ้นบมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ (BMCL) นางพเยาว์ กล่าวว่า ถ้าหากบริษัทจะเข้าซื้อ บริษัทจะซื้อในราคาต่ำกว่าพาร์ (1 บาท) แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับการติดต่อจากบมจ.แนเชอรัล พาร์ค (N-PARK) แต่อย่างใด และในหลักการบริษัทจะซื้อในสัดส่วนที่มากพอที่จะได้เข้าไปเป็นกรรมการเพื่อทราบแนวทางของธุรกิจ โดยขณะนี้บริษัทได้ลงทุนใน BMCL สัดส่วน 11.93% ซึ่งมีตัวแทนเป็นกรรมการ 1 คนแล้ว และคิดว่ายังไม่จำเป็นต้องเพิ่มสัดส่วน
"มองอนาคต BMCL ดีนะ แต่ถ้าจะซื้อต้องต่ำกว่าพาร์มากๆ เขาก็ไม่ขายดีลก็ไม่ดัน และตลาดตอนนี้ก็ราคาไป 1.20 บาทแล้ว"นางพเยาว์ กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย เสาวลักษณ์ อวยพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--