นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 63 ปริมาณการจราจรทางอากาศของ AOT ในภาพรวมรอบ 8 เดือน (ต.ค.62-พ.ค.63) มีเที่ยวบิน 425,900 เที่ยวบิน ลดลง 29.80% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 229,400 เที่ยวบิน ลดลง 30.20% และเที่ยวบินภายในประเทศ 196,500 เที่ยวบิน ลดลง 29.33% ขณะที่ผู้โดยสาร 64.20 ล้านคน ลดลง 33.94% แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 37.24 ล้านคน ลดลง 34.72% และผู้โดยสารภายในประเทศ 26.96 ล้านคน ลดลง 32.83%
ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 63 (ต.ค.-ธ.ค.62) ปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารยังคงมีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่หลังจากมีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงต้นปี 63 ซึ่งรัฐบาลได้มีมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดที่รวมถึงการห้ามเครื่องบินขนส่งคนโดยสารทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ส่งผลให้มีจำนวนผู้โดยสารมาใช้บริการสนามบินของ AOT โดยรวมลดลงอย่างต่อเนื่อง คือ ตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค.-31 พ.ค.63 เที่ยวบินลดลงกว่า 55.28% และผู้โดยสารลดลงกว่า 66.32%
ด้านปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศของ ทอท.ในภาพรวมรอบ 8 เดือนของปีงบประมาณ 63 ก็ลดลงเช่นกัน คือ มีสินค้าและไปรษณียภัณฑ์จำนวน 825,665 ตัน ลดลง 17.61% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสาเหตุที่ปริมาณการขนส่งสินค้ามีอัตราลดลงไม่มากดังเช่นจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารนั้น เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของเที่ยวบินขนส่งสินค้าเป็นหลัก โดยในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา (ก.พ.-พ.ค.63) แม้ว่าเที่ยวบินโดยสารจะลดลงมาก จากเดิมเฉลี่ย 6,500 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เหลือเพียง 500 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ (ซึ่งทำให้ปริมาณสินค้าที่ลำเลียงโดยเที่ยวบินโดยสารลดลงถึง 74.22%)
อย่างไรก็ตาม เที่ยวบินขนส่งสินค้ากลับมีอัตราการเพิ่มขึ้นถึง 127.22% (เพิ่มจาก 160 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 360 เที่ยวบินต่อสัปดาห์) ซึ่งสายการบินมีการปรับตัวโดยหันมาทำการบินแบบเที่ยวบินขนส่งสินค้าทดแทนเที่ยวบินโดยสารที่ต้องหยุดบินชั่วคราวตามประกาศของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของเที่ยวบินขนส่งสินค้าอาจช่วยชดเชยปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศได้เพียงบางส่วนเนื่องจากในอดีตนั้นกว่า 80% ของการขนส่งจะถูกดำเนินการผ่านเที่ยวบินโดยสารเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการด้านการเงินของ AOT รอบ 6 เดือนตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.62-31 มี.ค.63 (งบการเงินเฉพาะบริษัท) AOT มีรายได้จากการขายหรือการให้บริการ 27,476.80 ล้านบาท และรายได้อื่น 1,421.31 ล้านบาท รวมรายได้คิดเป็น 28,898.11 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่าย 15,173.34 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ 2,760.98 ล้านบาท จึงทำให้มีกำไรสำหรับงวดดังกล่าว 10,963.80 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในวันที่ 1 ก.ค.63 AOT จะครบรอบ 41 ปีการดำเนินงาน ปัจจุบันมีสนามบินภายใต้การบริหารของ AOT จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) และท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.)
นายนิตินัย กล่าวเพิ่มเติมว่า AOT ยังคงเดินหน้าโครงการพัฒนาสนามบินทั้ง 6 แห่งให้สามารถรองรับการจราจรในอนาคต โดยโครงการพัฒนา ทสภ.ระยะ 2 มีความคืบหน้าในการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1 : SAT-1) 88% ปัจจุบันงานโครงสร้างแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างดำเนินงานสถาปัตยกรรม ตกแต่งภายใน งานภูมิทัศน์ และติดตั้งงานระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระ ไฟฟ้า เครื่องกล สุขาภิบาล และระบบสารสนเทศภายในอาคาร
ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ทำให้ภาพรวมการทดสอบการเตรียมความพร้อมการเปิดให้บริการ (Operation Readiness and Airport Transfer : ORAT) สำหรับอาคาร SAT-1 ต้องเลื่อนออกไป โดยคาดว่าจะทำการทดสอบระบบการปฏิบัติงานต่างๆ ร่วมกันแล้วเสร็จในเดือน เม.ย.65 เช่น ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover : APM) ระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระ ระบบบริหารลานจอดอากาศยาน ระบบบริการผู้โดยสารขึ้นเครื่อง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม AOT คาดว่าเที่ยวบินและผู้โดยสารจะเริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจนกลับมามีปริมาณการจราจรเป็นปกติที่ระดับเดิมของปี 62 ในเดือน ต.ค.65 ดังนั้น AOT อาจต้องพิจารณาการเปิดใช้อาคาร SAT-1 ให้สอดคล้องกับปริมาณผู้โดยสารต่อไป
สำหรับความคืบหน้าโครงการพัฒนา ทดม.ขณะนี้การก่อสร้างอาคารบริการผู้โดยสาร (Service Hall) บริเวณลานจอดรถรับนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอาคารที่เชื่อมต่อกับอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ อาคาร 1 ด้านทิศเหนือ มีพื้นที่ใช้งานประมาณ 3,000 ตารางเมตร สำหรับให้ผู้โดยสารกลุ่มกรุ๊ปทัวร์ได้ใช้เป็นพื้นที่จัดกระเป๋าเดินทางก่อนขึ้นเครื่องที่จะช่วยลดความแออัดภายในอาคาร คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในเดือน ส.ค.63 รวมถึงโครงการก่อสร้างทางเดินเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีแดง ระยะทาง 200 เมตร เชื่อมต่อจากโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต สถานีดอนเมือง เข้าสู่ภายใน ทดม.บริเวณอาคารจอดรถยนต์ 7 ชั้น คาดว่าดำเนินการเสร็จภายในเดือน ส.ค.63 ก่อนการเปิดให้บริการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ในปี 64
นอกจากนี้ จะมีการปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร อาคาร 1 เพื่อรองรับผู้โดยสารภายในประเทศ การก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร อาคาร 3 บริเวณอาคารผู้โดยสารเดิมที่ไม่ได้ใช้งาน เป็นการคืนสภาพขีดความสามารถเดิมของ ทดม.ในการรองรับปริมาณผู้โดยสารได้ไม่น้อยกว่า 40 ล้านคนต่อปี โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 67
ในส่วนของสนามบินภูมิภาคของ AOT อีก 4 แห่ง ได้แก่ ทชม. ทชร. ทภก.และ ทหญ.ยังคงเดินหน้าดำเนินโครงการพัฒนาสนามบินตามแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินเช่นกัน ซึ่งรวมถึงการพัฒนาคุณภาพการให้บริการ และรักษามาตรฐานความปลอดภัย เพื่อให้สนามบินมีศักยภาพและสามารถรองรับความต้องการการเดินทางที่จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งการขนส่ง การท่องเที่ยว และธุรกิจการบริการของประเทศให้กลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็วได้อีกด้วย
นายนิตินัย กล่าวว่า ในปีต่อไป AOT ยังคงมุ่งเน้นการให้บริการด้วยความสะอาดและปลอดภัย เพื่อสุขภาพที่ดี ปลอดโรคของผู้ใช้บริการสนามบินควบคู่กับการดำเนินธุรกิจที่จะช่วยเหลือสังคมผ่านการส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรกรรมของประเทศไทย ทั้งยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับ AOT แม้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ที่การเดินทางทางอากาศยังคงชะลอตัวในอีก 1 – 2 ปีข้างหน้า ขณะที่การขนส่งสินค้าทางอากาศมีการปรับตัวในอัตราที่เพิ่มขึ้น
ดังนั้น โครงการเกี่ยวกับสินค้าเน่าเสียง่าย (Premium Perishable Lane : PPL) ณ ทสภ.ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าก่อนส่งออก (Certify Hub) จะช่วยให้สินค้าเกษตรของไทยคงคุณภาพและมีมาตรฐานตามหลักสากล และจะช่วยนำรายได้เข้าสู่ประเทศไทยอีกด้วย