นายชัยยุทธ ชุณหะชา ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการเงิน บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN) เปิดเผยว่า บริษัทยื่นข้อมูลขอเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท ซึ่งผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนดและมีสิทธิเลื่อนการชำระดอกเบี้ยโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
บริษัทจะเสนอขายหุ้นกู้ฯ ต่อผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ ในวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ผลตอบแทน 5 ปีแรกอยู่ที่ 9.50% ต่อปี โดยแต่งตั้งสถาบันการเงิน 5 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย และบริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย ซีมิโก้ จำกัด เป็นผู้จัดการการจำหน่ายหุ้นกู้ คาดว่าจะเสนอขายในวันที่ 3-6 ส.ค.นี้
ทั้งนี้ หุ้นกู้ดังกล่าวได้รับการจัดอันดับความเชื่อถือจากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ที่ระดับ BB+ ขณะที่อันดับเครดิตองค์กรอยู่ที่ BBB แนวโน้ม Negative เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.63
"บริษัทเคยออกและเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ มาแล้ว ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้ลงทุนรายใหญ่และผู้ลงทุนสถาบันเป็นอย่างดี ทำให้เรามั่นใจว่า การเสนอขายหุ้นกู้ฯ ในครั้งนี้ จะได้รับความสนใจเหมือนครั้งที่ผ่านๆ มา โดยเฉพาะในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ลงทุนรายใหญ่และผู้ลงทุนสถาบันที่ต้องการกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูง
ขณะเดียวกัน บริษัทในฐานะผู้ออกตราสารยังมีความมั่นคงทางด้านการเงิน จากความมุ่งมั่นที่จะรักษาวินัยทางการเงินอย่างเข้มงวด โดยบริษัทฯ มีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อทุน ณ วันที่ 31 มี.ค.63 อยู่ที่ระดับ 1.07 เท่า และมีเป้าหมายระยะยาวที่จะดำรงอัตราส่วนดังกล่าวให้อยู่ที่ระดับ 1 เท่า พร้อมกันนี้ บริษัทยังมีการสำรองเงินสดอยู่ในระดับสูงและแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย"ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการเงิน ANAN กล่าว
ทั้งนี้ จากข้อมูลของทริสเรทติ้ง ระบุว่า บริษัทมียอดขายรอการรับรู้รายได้มูลค่า 2.94 หมื่นล้านบาท (รวมโครงการร่วมทุน) โดยบริษัทจะส่งมอบยอดขายรอการรับรู้รายได้ในโครงการร่วมทุนให้แก่ลูกค้าในช่วงที่เหลือของปี 63-65
สำหรับการออกและเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ ในครั้งนี้ บริษัทมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินไปใช้เพื่อชำระคืนหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ ที่บริษัทออกเสนอขายไปเมื่อเดือน ส.ค.58 ซึ่งบริษัทสามารถใช้สิทธิไถ่ถอนก่อนกำหนดเมื่อครบกำหนด 5 ปี ในเดือน ส.ค.63 นี้ หากบริษัทไม่ไถ่ถอน ในด้านสถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ หุ้นกู้ชุดดังกล่าวจะไม่ถูกบันทึกเป็นทุนอีกต่อไป
บริษัทกำหนดอัตราดอกเบี้ยสำหรับหุ้นกู้ฯ ในครั้งนี้ โดยปีที่ 1 ถึงปีที่ 5 อัตราคงที่อยู่ที่ 9.50% ต่อปี ปีที่ 6-25 เท่ากับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี บวก 8.93% ต่อปี ปีที่ 26 เป็นต้นไป เท่ากับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี บวก 9.68% ต่อปี ทั้งนี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี จะถูกปรับทุกๆ 5 ปี เพื่อให้สะท้อนกับสภาวะดอกเบี้ยในขณะนั้น
นายชัยยุทธ กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวโน้มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนมาก โดยเฉพาะยอดขายและยอดโอน หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศเริ่มคลี่คลายลง และมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้ภาพรวมของกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
โดยสัญญาณดังกล่าวมีแนวโน้มดีขึ้นตั้งแต่เดือน พ.ค.-มิ.ย.ยอดการเข้าเยี่ยมชมโครงการของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 300-400 คนต่อวัน จากช่วงก่อนหน้าที่ 100 คนต่อวัน ซึ่งสะท้อนว่ากลุ่มลูกค้ากลับมาให้ความสนใจซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น ขณะเดียวกัน บริษัทยังได้ปรับกลยุทธ์การตลาดและเพิ่มการขายผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี และสามารถสร้างยอดขายได้เป็นอย่างดี
"ยอดขายในปัจจุบันทำได้แล้ว 7.5 พันล้านบาท หรือคิดเป็นเกือบ 50% ของเป้ายอดขายทั้งปีที่ตั้งไว้ 1.66 หมื่นล้านบาท ซึ่งแนวโน้มยอดขายไตรมาส 2/63 ค่อนข้างดีกว่าที่คาด โดยเฉพาะเดือนเมษายน-พฤษภาคม ที่ทำยอดขายสูงถึง 3,000 ล้านบาท ส่วนแนวโน้มรายได้ในครึ่งหลังของปี 63 คาดว่าจะสูงกว่าครึ่งปีแรก โดยช่วงครึ่งปีหลังจะมีการโอนคอนโดมิเนียมสร้างเสร็จใหม่ทั้งหมด 5 โครงการ ในไตรมาส 3 มีจำนวน 4 โครงการ ประกอบด้วย Ashton Asoke-Rama 9, Ideo Q Sukhumvit 36 , Ideo Mobi Sukhumvit Eastpoint และ Ideo Ratchada-Sutthisan และไตรมาส 4 จะเริ่มทยอยโอนโครงการ Elio Sathorn-Wutthakat"นายชัยยุทธ กล่าว