บอร์ดกทช.ให้ กวพ.ชี้ขาดข้อพิพาททีโอที-DTAC กรณีค่า IC/ทรูมูฟขอร่วมวง

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 5, 2007 18:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร เลขาธิการ สำนักคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการกทช.ในวันนี้มีมติให้นำกรณีพิพาท ระหว่าง บมจ.ทีโอที กับ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น( DTAC) ในเรื่องสัญญาเชื่อมต่อโครงข่าย(Interconnection Charge:IC)เข้าสู่กระบวนการวินิจฉัยโดยคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท (กวพ.) ให้ชี้ขาดค่าตอบแทนค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) รวมถึงพิจารณาตามข้อกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องทั้งมาตรา 64, 65 และ 66 ของพ.ร.บ.กิจการโทรคมนาคมที่มีบทลงโทษตั้งแต่ปรับ จนถึงขั้นถอนใบอนุญาตฯ การพิจารณาดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ทีโอทีได้แจ้งต่อกทช.ว่าจะไม่เจรจากับ DTAC ตามที่กวพ.ได้วินิจฉัย 
"คณะกรรมการวินิฉัยฯ จะต้องเร่งพิจารณาให้เร็วที่สุด เนื่องจากคณะกรรมการฯชุดนี้ใกล้จะหมดอายุลงเช่นเดียวกันซึ่งเชื่อว่าน่าจะได้ข้อสรุปกำหนดแนวทางที่ให้ปฏิบัติตามออกมาเลย ไม่ใช่เป็นกำหนดไกล่เกลี่ยเมื่อก่อนหน้า" นายสุรนันท์ กล่าว
และในวันนี้ที่ประชุมพิจารณากรณีที่ True Move ขอใช้สิทธิเข้าสู่กระบวนการวินิจฉัยข้อพิพาทกับทีโอทีเช่นเดียวกับ DTAC ซึ่งเชื่อว่าการพิจารณาข้อพิพาทระหว่างทีโอทีกับ True Move น่าจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 2 เดือน หรือคาดว่าใน ส.ค.นี้น่าจะแล้วเสร็จ โดยหลังจากนี้ จะเรียกตัวแทนจากทีโอทีและ True Move มาชี้แจงต่อคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
นอกจากนี้ True Move ได้ยื่นขอเลขหมายใหม่ 2 ล้านเลขหมาย ซึ่งคณะกรรมการกทช.จะนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาจัดสรรเลขหมาย คาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน และคาดว่าจะอนุมัติเลขหมายให่ให้จำนวน 1 ล้านเลขหมาย เช่นเดียวกับที่อนุมัติให้กับบมจ.แอ็ดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส และ DTAC รายละ 1 ล้านเลขหมายเช่นกัน
"กทช.ได้กำหนดการให้เลขหมายใหม่กับ Operator ปีละไม่เกิน 10 ล้านเลขหมาย ครึ่งปีแรกที่ผ่านมาให้ไปแล้ว 5 ล้านเลขหมาย ยังเหลืออีก 5 ล้านเลขหมาย จึงจำเป็นต้องนำสู่เข้ากระบวนการพิจารณาก่อนการอนุมัติเลขหมายใหม่ เนื่องจากยังเหลืออีก 2 ไตรมาส กว่าจะถึงสิ้นปี" เลขาธิการ สำนักงานกทช.กล่าว
กรณีการพิจารณาการใช้อำนาจทางการตลาดที่ไม่เป็นธรรมของบริษัท เอไอเอ็น จำกัด (AIN )ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ADVANC ในการให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ขึ้นต้น 005 นั้น นายสุรนันท์ กล่าวว่า ตามที่ บมจ.กสท โทรคมนาคมได้ร้องเรียนมานั้น ขณะนี้จะต้องมีการพิจารณาตรวจสอบว่ามีการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายและเกิดการผูกขาดหรือไม่ ดังนั้นจึงจะต้องขอเวลาในการหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาเรื่องนี้
ส่วนการพิจารณาการให้ใบอนุญาตโทรต่างประเทศกับ True Move และ DTACขณะนี้อยู่ระหว่างรอให้ทีโอทีและ กสท คืนเลขหมาย 3 หลักที่ไม่ได้ใช้กลับมายัง กทช. จึงจะอนุมัติให้2 รายนี้ได้
สำหรับกรณีที่ สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย(ATCI)ขอให้กทช.พิจารณาอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 5 GHz สำหรับเครือข่าย WiFi นั้น นายสุรนันท์ กล่าวว่า กทช.ยังไม่สามารถพิจารณาได้เพราะต้องรอให้เกิด คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) และรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมาเสียก่อน เนื่องจากย่านความถี่ 5 GHz เป็นคลื่นความถี่ที่อนุญาตให้หน่วยงานความมั่นคงใช้อยู่เท่านั้น
วันนี้ที่ประชุมคณะกรรมการ กทช.ยังอนุมัติจัดสรรคลื่นความถี่ให้กับบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด อีก 15 ช่องไปชั่วคราวอีก 1 ปีก่อนที่จะเกิด กสช.และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เนื่องจากขณะนี้ได้รับการรบกวนจากวิทยุชุมชน ซึ่งส่งผลต่อการปลอดภัยการนำเครื่องบินขึ้นลง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ