หุ้น STGT ปิดเทรดวันแรกที่ 60.50 บาท เพิ่มขึ้น 26.50 บาท (+77.94%) จากราคาขาย IPO ที่ 34 บาท/หุ้น ด้วยมูลค่าซื้อขาย 17,255.29 ล้านบาท โดยเปิดตลาดที่ 55.25 บาท ราคาขึ้นสูงสุด 60.75 บาท ราคาทำระดับต่ำสุด 55.25 บาท
รายการบิ๊กล็อต STGT 3 รายการ จำนวน 2.6 ล้านหุ้น มูลค่าซื้อขาย 101.70 ล้านบาท เทรดในราคาเฉลี่ยหุ้นละ 39.12 บาท และ STGT-F 1 รายการ จำนวน 16.5 ล้านหุ้น มูลค่าซื้อขาย 561.00 ล้านบาท เทรดในราคาเฉลี่ยหุ้นละ 34 บาท
บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ฯมูลค่าที่เหมาะสมเบื้องต้นของ บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) หรือ STGT ประเมินมูลค่าที่เหมาะสมที่ 42-52 บาท เทียบกับบริษัทที่ประกอบธุรกิจเดียวกันในต่างประเทศได้แก่ TOPG, KRI, HART และ SUCB ที่มาเลเซีย โดยมี PER เฉลี่ยที่ 42 เท่า โดยมองว่า STGT ได้ประโยชน์จากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ความต้องการเครื่องมือแพทย์เพิ่มขึ้นอีกทั้งยังมีบริษัทลูกที่ทำหน้าที่ขายถุงมือทั้งในสหรัฐฯ และจีน ทำให้มองว่าจนกว่าสถานการณ์ระบาดจะควบคุมได้บริษัทจะมีการดำเนินงานที่ดี แต่อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์เริ่มดีขึ้นในอนาคตอาจส่งผลกระทบต่อยอดขาย และอัตรากำไรของบริษัทได้
STGT ดำเนินธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายถุงมือยางธรรมชาติ และถุงมือยางไนไตรล์ ทั้งในและต่างประเทศ ณ ปัจจุบัน (ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563) บริษัทฯ มีโรงงานผลิตทั้งหมด 3 สาขา ได้แก่ โรงงานสาขาหาดใหญ่ ตั้งอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โรงงานสาขาสุราษฎร์ธานี ตั้งอยู่ที่อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และโรงงานสาขาตรัง ตั้งอยู่ที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง โดยโรงงานผลิตทั้ง 3 สาขาของบริษัทฯ มีสายการผลิตทั้งหมด 145 สายการผลิต และมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมประมาณ 32,619 ล้านชิ้นต่อปี และคิดเป็นอันดับ 3 ของโลก
โครงการในอนาคต:
1) การขยายกำลังการผลิตและการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตถุงมือยาง และเพื่อการลงทุนในโครงการต่างๆ ของบริษัทฯ และบริษัทย่อยในอนาคต
2) ใช้เป็นเงินลงทุนเพื่อติดตั้งระบบ SAP เพื่อปรับเปลี่ยนระบบการทำงานและฐานข้อมูลของบริษัทฯ และบริษัทย่อยสู่ระบบ Enterprise Resource Planning (ERP) แบบสมบูรณ์เพื่อใช้ในการวางแผนทรัพยากรทางธุรกิจของแต่ละส่วนงาน และทั่วทั้งองค์กร
3) ชำระคืนหนี้เงินกู้จากสถาบันการเงินของบริษัทฯ และ/หรือบริษัทย่อย สำหรับวงเงินกู้รวม 4,363.36 ล้านบาท
4) ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบกิจการ และในกรณีที่ระยะเวลาเหมาะสม หรือเกิดประโยชน์สูงสุดต่อบริษัทฯ และบริษัทย่อย บริษัทฯ และบริษัทย่อยอาจนำเงินไปใช้เพื่อการชำระหนี้เงินกู้จากสถาบันการเงิน หรือหนี้จากการออกตราสารหนี้