กลุ่มแบงก์กำไร Q2/50 โตลดลงจากปีก่อน KTB-TMB-BAY ตั้งสำรองเพิ่ม

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 16, 2007 15:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          โบรกเกอร์คาดการณ์กำไรกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2/50 จะเติบโตลดลง 9-26%(YoY)เนื่องจาก KTB
,TMB , BAY และแบงก์อื่น ยังมีภาระต้องตั้งสำรองตามเกณฑ์มาตรฐาน IAS39 อีกกว่าหมื่นล้านบาทเป็นตัวถ่วงของกลุ่ม ยกเว้น 3 ธนาคารขนาดใหญ่ คือ BBL, KBANK และ SCB มีอัตราเติบโตดีและไม่มีปัญหาการตั้งสำรองดังกล่าว พร้อมแนะนำซื้อลงทุน คาดปีหน้าเป็นปีทองของกลุ่มแบงก์ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
นายวรุฒน์ ศิวะศริยานนท์ ผอ.ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.โกลเบล็ก กล่าวถึงผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ปี 50 ของกลุ่มธนาคาร ว่ากำไรจะลดลง 18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และจะมีเพียงธนาคารขนาดใหญ่ 3 แห่งเท่านั้นที่มีอัตราการเติบโต ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ขยายตัวร้อยละ 9 ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ขยายตัว 8% และธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ขยายตัว 7-8%
ส่วนธนาคารอื่นๆ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) และธนาคารทหารไทย (TMB) มีภาระต้องตั้งสำรองตามเกณฑ์มาตรฐาน IAS 39 อีกกว่าหมื่นล้านบาท ทำให้กำไรน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับรายได้ของธนาคารในไตรมาสที่ 2 ส่วนใหญ่ยังมาจากดอกเบี้ยที่ได้จากการปล่อยสินเชื่อ และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย เช่น การขายธุรกิจ Non Core โดยคาดว่า Net Interest Margin (NIM) ในไตรมาสที่ 2/50 จะทรงตัวหรือดีขึ้นเล็กน้อย
"มองว่าในปีหน้าจะเป็นปีทองของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่จะมีกำไรเพิ่มขึ้น ภายใต้สมมติฐานว่ามีการเลือกตั้งในปลายปีนี้ หรืออย่างช้าไม่เกินไตรมาสที่ 1/51 เศรษฐกิจมีการฟื้นตัว และราคาน้ำมันไม่ได้อยู่ในระดับสูงถึง 100 เหรียญต่อบาร์เรล เนื่องจากทุกธนาคารจะมีการตั้งสำรองตามเกณฑ์ IAS 39 ครบแล้ว และภาคเอกชนจะเริ่มขยายการลงทุนและการผลิตจึงจำเป็นต้องใช้สินเชื่อ"นายวรุฒน์ กล่าว
ดังนั้น หุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่แนะนำให้ถือหรือซื้อเพื่อเก็บไว้ คือ หุ้นธนาคารขนาดใหญ่ เช่น KBANK, BBL และ SCB รวมทั้งหุ้นธนาคารที่มีพื้นฐานดีแต่ราคาลงไปมาก อย่างเช่น BAY และ SCIB เพราะมีโอกาสทำกำไรเพิ่มได้ในปีหน้า
ด้านนางสาวสุกัญญา อุดมวรนันท์ นักวิเคราะห์ จากบล.กิมเอ็ง กล่าวว่า ไตรมาสที่ 2/50 กลุ่มธนาคารพาณิชย์จะมีกำไรลดลง 26% (YoY) และลดลง 21% ( QoQ) เนื่องจากคาดว่าจะมีการตั้งสำรองสูง จาก NPL ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว โดยเฉพาะ KTB , TMB , BAY และ SCIB
ส่วนธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่ไม่มีปัญหาการตั้งสำรองตามเกณฑ์ IAS 39 เช่น KBANK , BBL และ SCB มีแนวโน้มที่กำไรสุทธิจะเพิ่มขึ้น แต่ไม่มาก ที่เด่นชัดที่สุด คือ BBL ที่คาดว่ามีกำไรโต 8% (YoY) จากการขายหุ้นที่มาจากการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งหากคิดกำไรก่อนหักภาษีอาจสูงถึงพันล้านบาท
ขณะที่ KBANK กำไรเติบโต 6% ส่วนใหญ่มาจากรายได้จากค่าธรรมเนียม และ NIM ที่ยังอยู่ในระดับสูงถึง 3.99% ดีกว่าที่เคยคาดไว้ ส่วน SCB จะดีที่สุดหากเทียบ QoQ โดยน่าจะเติบโตถึง 14% เนื่องจากในไตรมาสที่ 1/50 มีการจ่ายโบนัสให้พนักงาน ทำให้มีรายจ่ายพนักงานลดลงในไตรมาสที่ 2/50 ประกอบกับมีรายได้จากค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น
สำหรับสินเชื่อโดยรวมถือว่าดีขึ้นจากไตรมาสที่ 1/50 เนื่องจากเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกชะลออย่างเห็นได้ชัด ทำให้การบริโภคและการลงทุนชะลอ แต่ในครึ่งปีหลังจนถึงปีหน้าก็น่าจะกลับมาดีขึ้น เพราะภาครัฐเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและมีโครงการขนาดใหญ่ ประกอบกับมีการเลือกตั้ง ซึ่งจะช่วยให้ความเชื่อมั่นกลับมา ส่งผลต่อการบริโภคและการลงทุน ขณะที่กำลังการผลิตในหลายๆ อุตสาหกรรมเกือบเต็มแล้ว
ดังนั้น จึงน่าจะมีการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตในครึ่งหลังของปี ทำให้ทั้งปีคาดว่าสินเชื่อของกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะขยายตัวได้ถึง 5-6% โดย BAY, SCB และ KBANK มีโอกาสเติบโตสูง ส่วน BBL เนื่องจากมีฐานที่กว้างทำให้อัตราการขยายตัวไม่มาก แต่ในเชิงมูลค่าจะอยู่ในระดับสูง
อย่างไรก็ตาม ยังคงแนะนำให้ถือหุ้นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ทั้ง 3 แห่ง ส่วน KTB แม้ว่าผลประกอบการในไตรมาส 2/50 มีแนวโน้มที่จะออกมาไม่ค่อยดี เนื่องจากการตั้งสำรองสูงจากแนวโน้ม NPL ที่เพิ่มขึ้น แต่ในครึ่งหลังก็น่าจะดูดี เพราะน่าจะได้ประโยชน์จากการลงทุนภาครัฐในฐานะที่เป็นธนาคารภาครัฐ จึงแนะนำให้ซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว
ส่วน TMB ถึงแม้ว่าจะเพิ่มทุนแล้วก็ยังไม่น่าสนใจ เนื่องจากในเดือนมิ.ย.ต้องตั้งสำรอง ขณะที่เงินเพิ่มทุนจะเข้ามาในช่วงปลายปี จึงอาจส่งผลกระทบต่อเงินกองทุนและการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะเมื่อเงินทุนในการปล่อยสินเชื่อลดลง
ด้านนายธนัช รังษีธนานันท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์ บล.ฟาร์อีสท์ กล่าวว่า กำไรไตรมาส 2/50 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะลดลง 12%(QoQ) และลดลง 9%(YoY)เนื่องจากยังมีธนาคารพาณิชย์หลายแห่งต้องตั้งสำรองเพิ่ม เช่น KTB ,TMB และ BAY
สำหรับอัตราการขยายตัวของสินเชื่อในไตรมาส 2/50 เริ่มกลับมาดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/50 โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ เช่น KBANK, BBL และ SCB ส่งผลให้ NIM ในไตรมาส 2/50 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ คาดว่าอยู่ที่ 3.24% ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาส 1/50
ในครึ่งปีหลังจนถึงปีหน้าก็ยังมองว่าผลประกอบการของกลุ่มธนาคารพาณิชย์มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากคาดว่าภาครัฐจะดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งมีการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็คต์ แม้ว่าเม็ดเงินจะไม่มากนัก แต่จะส่งผลให้เกิด momentum ต่อการลงทุนในภาพรวม ทำให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์มีโอกาสขยายตัวได้ดีกว่าครึ่งแรกของปี 50 อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขปัจจัยด้านการเมือง ความผันผวนของค่าเงินบาท และระดับราคาน้ำมันด้วย
ส่วนเรื่องการตั้งสำรองทาง บล.ฟาร์อีสท์ ก็ยังมองว่าปีหน้าธนาคารพาณิชย์ไม่มีเหตุผลที่ต้องตั้งสำรองต่ำกว่าปีนี้ โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ เพราะธนาคารต้องตั้งสำรองเพื่อรองรับสินเชื่อที่ขยายออกไป แม้ว่าจะเป็นลูกหนี้เชิงคุณภาพก็ตาม ประกอบกับปีหน้าเป็นปีที่มีการปรับใช้ Basel II ทำให้ธนาคารพาณิชย์ยังต้องตั้งสำรองใกล้เคียงกับปีนี้
คาดการณ์กำไรสุทธิใน Q2/50 ของกลุ่มธนาคาร
(หน่วย:ล้านบาท)
2Q50F 1Q50 2Q49 QOQ YOY
BAY 436 1,129 1,694 -61.4% -74.3%
BBL 4,846 4,632 4,391 4.6% 10.4%
KBANK 3,688 3,877 3,545 -4.9% 4.0%
KTB 2,257 4,525 3,768 -50.1% -40.1%
SCB 4,282 3,699 4,171 15.8% 2.7%
SCIB 572 205 743 179.5% -23.1%
TMB 102 220 1,197 -53.6% -91.5%
BT 359 559 (1,389) 35.8% n.m.
ทั้งกลุ่ม 16,542 18,846 18,120 -12.2% -8.7%
ที่มา: บล.ฟาร์อีสท์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ