(เพิ่มเติม) PTT คาดกำไรปี 63 ต่ำกว่าปีก่อนจากผลกระทบโควิด-สงครามราคาน้ำมันกดดัน แต่ยันมีปันผลแน่

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 3, 2020 17:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย ประธานกรรมการ บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานของปตท.ปีนี้มีโอกาสที่จะทำกำไรได้ต่ำกว่าระดับ 92,951 ล้านบาทในปีที่แล้ว หลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และสงครามราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ปตท.ยืนยันที่จะยังคงจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นอย่างแน่นอน

"ปี 63 ก็ทราบกันอยู่โควิดเรื่องหนึ่ง ราคาน้ำมันที่ได้รับผลกระทบจากซาอุและรัสเซียทะเลาะกันอยู่ ขณะเดียวกันโควิดทำให้ธุรกิจ ธุรกรรมสูญไปเยอะ ถามว่าปตท.จะกำไรไหม กำไร ปีนี้กำไรแน่นอน แต่จะกำไรเยอะเหมือนเดิม ได้เก้าหมื่นสองไหม ไม่ได้หรอก จ่ายปันผล จ่าย แต่จะจ่าย 50 หรือ 60% หรืออย่างไร ก็ต้องดูอีกที"นายไกรฤทธิ์ กล่าวในที่ประชุมผู้ถือหุ้นวันนี้

นายไกรฤทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะสามารถจ่ายเงินปันผลได้ในอัตราเท่าใด หลังจากในปี 62 จ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นในอัตราราว 63% ของกำไรสุทธิ หรือ 2 บาท/หุ้น เพราะจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ทำให้คณะกรรมการได้มอบให้เป็นนโยบายหลักคือการรักษาสภาพคล่องและอันดับเครดิต เพราะหากเสียอันดับเครดิตจะทำให้ต้นทุนทางการเงินของปตท.สูงขึ้น ดังนั้น การจะจ่ายปันผลต้องพิจารณาให้รอบคอบทุกด้าน ซึ่งรวมถึงด้านการลงทุนที่มีการลดการลงทุนบางโครงการ ส่วนบางโครงการที่จำเป็นก็ยังเดินหน้าต่อไป

อย่างไรก็ตาม จากที่นักลงทุนบางรายอาจจะกังวลการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลของ ปตท. หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขอให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่ายปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานปี 63 นั้น ยืนยันว่าธุรกิจของ ปตท.แตกต่างจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์ โดยการจ่ายปันผลจะพิจารณาเรื่องการลงทุน การรักษาสภาพคล่องและอันดับเครดิต และส่วนธนาคารพาณิชย์หากมีการจ่ายเงินปันผลออกไปมากก็จะกระทบต่อเงินกองทุนซึ่งมีผลต่อความสามารถในการปล่อยสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม ปตท.จะมีการจ่ายปันผลระหว่างกาลหรือไม่ต้องรอดูผลการดำเนินงานช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ก่อน

สำหรับความคืบหน้าการนำกระจายหุ้นบมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯนั้น นายไกรฤทธิ์ กล่าวว่า ยังต้องพิจารณาจากภาวะตลาดด้วย หากได้ราคาดีก็พร้อมที่จะเสนอขาย เพราะการขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) เท่ากับเป็นการลดสัดส่วนการเป็นเจ้าของ โดยการขายหุ้นยังมีระยะเวลา 1 ปีภายหลังจากที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อนุมัติแล้ว

"อยู่ที่ภาวะตลาด ถ้าตลาดดีเราก็จะขายหุ้นออกไป ถ้าไม่ได้ราคาที่เหมาะสมเราก็ไม่ขายหุ้น เรื่องไฟลิ่งก็อีกส่วน หลังจากก.ล.ต.อนุมัติแล้วก็ยังมีเวลาอีก 1 ปี ดูตามจังหวะตลาดด้วย"นายไกรฤทธิ์ กล่าว

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTT กล่าวว่า ปตท.ได้ทบทวนแผนงาน เพื่อรองรับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการปรับลดเงินลงทุนปี 63 วงเงิน 15,000 ล้านบาท และตัดลดค่าใช้ดำเนินงาน 5,000 ล้านบาท ส่วนโครงการลงทุนระยะยาวที่จำเป็นต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปตท.ยังดำเนินการต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งล่าสุด ปตท.ก็ได้เสนอตัวเป็นผู้ให้บริการน้ำมันในพื้นที่สนามบินอู่ตะเภาอีกด้วย

ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ได้เร่งรัดการลงทุนที่จำเป็นต่อเนื่องของกลุ่มปตท.ในครึ่งปีหลัง 63 วงเงิน ราว 148,000 ล้านบาท และปตท.ยังเรียกพนักงาน ให้กลับมาทำงานทั้งหมดภายในเดือนก.ค.นี้ หลังจากให้พนักงานทำงานที่บ้าน ตามนโยบาย"อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ" เพราะการให้พนักงานกลับมาทำงานให้ครบก็จะเป็นหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจและสุดท้ายก็กลับมาเป็นผลดีต่อการบริโภคสินค้าในกลุ่ม ปตท.ตามมาด้วย

ด้านนายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ PTT กล่าวว่า ปตท.ปรับโมเดลธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อรองรับกับการเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติที่ภาครัฐได้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และบริษัทเอกชน จากเดิมที่ปตท.เคยได้รับอนุญาต Shipper เพียงรายเดียว โดยปตท.ยังคงมีหน้าที่ดูแลการจัดหา LNG เพื่อรองรับความมั่นคงของภาคพลังงาน ขณะเดียวกันก็ต้องจัดหาเพื่อรองรับตลาดในเชิงพาณิชย์ที่เริ่มมีรายอื่นเข้ามาแข่งขัน

ทั้งนี้ ปตท.ต้องจัดกำลังคนให้มีความเหมาะสมและแยกส่วนแบ่งตลาดของทั้งสองด้านทั้งส่วนของภาคเพื่อการพาณิชย์ และด้านความมั่นคงให้ชัดเจน เพราะแต่ละด้านมีโอกาสที่ไม่เหมือนกัน โดยปตท.ก็จะพยายามรักษาสัญญาซื้อขายก๊าซฯระยะยาวเข้ามาโดยเฉพาะกับลูกค้ารายใหญ่ ซึ่งล่าสุดเมื่อเดือนมิ.ย. ได้เซ็นสัญญาซื้อขายก๊าซฯระยะยาวกับกฟผ. พร้อมๆกับการขยายเข้าสู่ตลาดที่มีความต้องการใช้ ด้วยการชักชวนลูกค้าให้หันมาใช้ก๊าซฯเป็นเชื้อเพลิงทดแทนเชื้อเพลิงประเภทอื่น เพื่อเพิ่มจำนวนลูกค้าให้มากขึ้น รวมถึงการเป็นศูนย์กลางตลาด LNG (Hub LNG) โดยมองหาโอกาสขยายตลาด LNG ไปยังต่างประเทศ ทั้งใน CLMV และจีน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ