ทริสฯ ปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิต AH เป็น Negative จาก Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 7, 2020 17:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.อาปิโก ไฮเทค (AH) ที่ระดับ "BBB+" พร้อมทั้งปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น "Negative" หรือ "ลบ" จาก "Stable" หรือ "คงที่"

การเปลี่ยนแปลงแนวโน้มอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนการเพิ่มขึ้นของระดับหนี้สินอย่างต่อเนื่องและผลขาดทุนค่อนข้างมากจากการตั้งสำรองด้อยค่าเงินลงทุนในกลุ่ม Sakthi นอกจากนี้ ผลกระทบจากการดำเนินงานในต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นก็อาจท้าทายการควบคุมต้นทุนของบริษัทและอาจทำให้ความเสี่ยงของบริษัทเพิ่มขึ้นอีกด้วย

อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงสถานภาพการแข่งขันที่แข็งแกร่งของบริษัทในการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในกลุ่ม Tier 1 ในประเทศไทย ผลการดำเนินงานหลักที่แข็งแรง และความระมัดระวังในการควบคุมต้นทุน อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวลดทอนลงบางส่วนจากอัตรากำไรที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ความเสี่ยงจากการพึ่งพิงลูกค้า ตลอดจนลักษณะที่เป็นวงจรขึ้นลงของอุตสาหกรรมรถยนต์

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

ระดับหนี้สินเพิ่มสูงขึ้น อันดับเครดิตได้รับผลกระทบจากการก่อหนี้อย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนขนาดใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนเพิ่มสูงขึ้นเป็น 54.2% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 จากระดับต่ำกว่า 40% ในอดีต ทั้งนี้ ในช่วงปี 2560-2562 บริษัทใช้เงินประมาณ 7 พันล้านบาทเพื่อลงทุนในกลุ่ม Sakthi ซึ่งประกอบไปด้วยการถือหุ้นและการให้เงินกู้ยืม โดยกลุ่ม Sakthi เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่มีฐานการผลิตในประเทศโปรตุเกส อินเดีย สหรัฐอเมริกา และจีน ในปี 2562 บริษัทได้ตั้งสำรองด้อยค่าเงินลงทุนในกลุ่ม Sakthi ทั้งสิ้นประมาณ 1.1 พันล้านบาท ซึ่งค่าใช้จ่ายจำนวนมากนี้ส่งผลให้ส่วนทุนของบริษัทลดลง

อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย เพิ่มขึ้นเป็น 3.3 เท่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 เมื่อทียบกับระดับต่ำกว่า 3 เท่าในอดีต อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายในปี 2563 อาจเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 7 เท่าตามประมาณการของทริสเรทติ้งที่คาดว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) จะทำให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายในช่วง 9 เดือนที่เหลือของปีนี้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2564 เป็นต้นไปและลดลงเป็นประมาณ 3 เท่าในปี 2565

ผลกระทบจากการดำเนินงานในต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น บริษัทขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศเพื่อสร้างโอกาสเติบโตและเพิ่มความมั่นคง โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทซื้อหุ้น 49.99% ในบริษัท Sakthi Global Auto Holdings Ltd. (SGAH) และยังให้เงินกู้ยืมแก่ SGAH อีกด้วย โดย SGAH เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่นของกลุ่ม Sakthi

อย่างไรก็ตาม SGAH ไม่สามารถชำระคืนเงินกู้ให้แก่บริษัทในเดือนมีนาคม 2563 ได้ ทำให้บริษัทตั้งด้อยค่าเงินลงทุนและดำเนินการยึดหุ้นที่เหลืออยู่ของ SGAH จำนวน 50.01% บริษัทยังได้ซื้อหุ้น 100% ในบริษัท Sakthi Portugal S.A. ซึ่งถือหุ้นทางอ้อมโดย SGAH จากเจ้าหนี้ที่มีหลักประกันเพื่อให้มีอำนาจควบคุมเบ็ดเสร็จอีกด้วย ต่อมาบริษัท Sakthi Portugal S.A. ได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท AAPICO Maia S.A.

ผลการดำเนินงานของ SGAH และ บริษัท AAPICO Maia S.A. ถูกรวมอยู่ในงบการเงินรวมของบริษัทตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนในต่างประเทศช่วยเพิ่มรายได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 นอกจากฐานรายได้ที่เพิ่มขึ้น การลงทุนในกลุ่ม Sakthi ยังช่วยให้บริษัทเข้าถึงตลาดยุโรปได้อีกด้วย ซึ่งรายได้ที่มาจากตลาดยุโรปคิดเป็นประมาณ 20% ของรายได้รวมของบริษัทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 การขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศยังช่วยขยายสายผลิตภัณฑ์ไปสู่ชิ้นส่วนหล่อขึ้นรูปโลหะที่มีมูลค่าเพิ่มสูงอีกด้วย ซึ่งกลุ่ม Sakthi มีความเชี่ยวชาญในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

ในด้านลบ ผลกระทบจากการดำเนินงานในต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นจากการที่บริษัทรับรู้ผลการดำเนินงานของกลุ่ม Sakthi เต็มรูปแบบ นอกจากสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่แตกต่างแล้วค่าใช้จ่ายในต่างประเทศยังค่อนข้างสูง ซึ่งอาจท้าทายการควบคุมต้นทุนของบริษัท อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทมีความมั่นคงมากกว่าของกลุ่ม Sakthi ผลการดำเนินงานในต่างประเทศที่ต่ำกว่าคาดอาจส่งผลให้ความเสี่ยงของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นได้ ในทางตรงกันข้าม ความสำเร็จในการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศจะเป็นปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิต

ผลการดำเนินงานหลักยังคงแข็งแกร่งแม้จะลดลงในปีนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญในปีนี้ โดยทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จะลดลงเกือบ 30% เป็นประมาณ 1.38 หมื่นล้านบาทในปี 2563 และค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเป็น 2.12 หมื่นล้านบาทในปี 2565 คำสั่งผลิตชิ้นส่วนโครงช่วงล่างรถกระบะสำหรับอีซูซุ ดีแมคซ์ รุ่นใหม่และมาสด้า บีที-50 น่าจะช่วยเพิ่มการเติบโตของรายได้หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น

ในทำนองเดียวกัน ความสามารถในการทำกำไรน่าจะลดลงในปีนี้ โดยการลดลงของปริมาณการผลิตจะทำให้การประหยัดต่อขนาดลดต่ำลง ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะต่ำสุดที่ประมาณ 8.4% ซึ่งจะทำให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่ำสุดที่ระดับ 1.2 พันล้านบาทในปี 2563 อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้และกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายน่าจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 11% และ 2.3 พันล้านบาท ตามลำดับในปี 2565 ค่าใช้จ่ายระดับสูงจากการดำเนินงานในต่างประเทศอาจท้าทายการฟื้นตัวของกำไรของบริษัทได้ ทริสเรทติ้งยังคงมุมมองต่อความสามารถของบริษัทในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและควบคุมต้นทุน

อัตรากำไรของบริษัทค่อนข้างมั่นคงแม้จะค่อนข้างต่ำ โดยอัตรากำไรที่สามารถคาดการณ์ได้ดังกล่าวมาจากความสามารถของบริษัทในการผลักภาระต้นทุนวัตถุดิบไปให้แก่ผู้ผลิตรถยนต์ ส่วนแบ่งกำไรและเงินปันผลที่ได้รับจากการลงทุนในบริษัทร่วมต่าง ๆ ข่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไรให้กับบริษัทในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

สถานภาพในการแข่งขันที่แข็งแกร่งในธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ บริษัทมีสถานภาพที่แข็งแกร่งในธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ โดยธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์สร้างรายได้หลักให้แก่บริษัทประมาณ 70%-80% ของรายได้ทั้งหมดในแต่ละปี รายได้ของบริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2559 แม้อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศจะมีอัตราการเติบโตเพียงเล็กน้อย ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะยังสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์เอาไว้ได้

ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทสั่งสมมาจากประวัติการดำเนินงานที่มีมาอย่างยาวนานในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์เพื่อป้อนให้แก่ผู้ผลิตรถยนต์หลาย ๆ รายโดยที่บริษัทไม่เคยมีประวัติในการสูญเสียคำสั่งซื้อจากลูกค้ารายใหญ่ การดำเนินงานของบริษัทที่ไว้ใจได้ประกอบกับความน่าเชื่อถือของบริษัทก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่างบริษัทและผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำ เช่น บริษัท อีซูซุ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัดบริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นกิจการร่วมค้าระหว่างฟอร์ดและมาสด้า และ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ในขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์เหล่านี้ก็ไม่ค่อยเปลี่ยนผู้ผลิตชิ้นส่วนหลักเนื่องจากมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง

ทั้งนี้ บริษัทเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนโครงช่วงล่างรถกระบะแต่เพียงรายเดียวของอีซูซุในประเทศไทย โดยอีซูซุถือเป็นลูกค้าหลักที่สร้างรายได้ให้ประมาณ 1 ใน 4 ของรายได้ทั้งหมดของบริษัท ความสัมพันธ์ที่ยาวนานและใกล้ชิดกับผู้ผลิตรถยนต์ดังกล่าวประกอบกับต้นทุนในการเปลี่ยนผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ค่อนข้างสูงสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ช่วยลดความเสี่ยงในการพึ่งพิงลูกค้าหลัก ทั้งนี้ ความเสี่ยงในการพึ่งพิงลูกค้าเกิดจากจำนวนผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำที่มีค่อนข้างน้อยในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์

สภาพคล่องยังคงบริหารจัดการได้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถบริหารจัดการสภาพคล่องได้อย่างเพียงพอ บริษัทสามารถเจรจาขอขยายระยะเวลาชำระหนี้เงินกู้จากธนาคารส่วนใหญ่ออกไปได้อย่างน้อย 6 เดือนจากผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในช่วง 9 เดือนที่เหลือของปี 2563 บริษัทมีหนี้ที่จะครบกำหนด ประมาณ 2.9 พันล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นหนี้ระยะสั้นที่ใช้รองรับเงินทุนหมุนเวียนเกือบ 2.2 พันล้านบาท หนี้ระยะยาวประมาณ 400 ล้านบาท และหุ้นกู้อีกประมาณ 300 ล้านบาท

ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 บริษัทมีเงินสดและหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาดรวมกับวงเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้ประมาณ 3.1 พันล้านบาท บริษัทยังได้รับเงินปันผลจำนวนเกือบ 300 ล้านบาทจากบริษัทร่วมในเดือนพฤษภาคม 2563 และกำลังจะได้รับชำระอีกจำนวน 300 ล้านบาทจากลูกค้า เงินทุนจากการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนที่เหลือของปี 2563 น่าจะอยู่ที่ 300 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทมีสินทรัพย์สภาพคล่องรวม 4 พันล้านบาท ซึ่งเพียงพอสำหรับรองรับภาระหนี้ที่จะครบกำหนด

ข้อกำหนดหุ้นกู้ที่สำคัญระบุให้บริษัทต้องรักษาอัตราส่วนหนี้สินรวมสุทธิต่อส่วนทุนไว้ที่ไม่เกิน 2 เท่า ซึ่งบริษัทสามารถปฏิบัติได้ตามข้อกำหนด อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่สามารถดำรงอัตราส่วนทางการเงินตามข้อกำหนดของวงเงินกู้จากสถาบันการเงินในปี 2562 เนื่องจากผลขาดทุนค่อนข้างมากจากการตั้งสำรองด้อยค่าเงินลงทุน ทั้งนี้ บริษัทได้รับการยกเว้นข้อกำหนดจากสถาบันการเงินแล้ว แต่บริษัทอาจไม่สามารถดำรงอัตราส่วนทางการเงินบางอัตราส่วนของวงเงินกู้จากสถาบันการเงินในปี 2563 ได้จากผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ซึ่งทริสเรทติ้งก็เชื่อว่าบริษัทจะได้รับการยกเว้นข้อกำหนดเมื่อพิจารณาจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสถาบันการเงินและแนวโน้มธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัท

สมมติฐานพื้นฐาน

-รายได้จากการดำเนินงานรวมจะลดลงเป็น 1.38 หมื่นล้านบาทในปี 2563 และฟื้นตัวขึ้นเป็น 2.12 หมื่นล้านบาทในปี 2565

-อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะอยู่ในช่วง 8%-11%

-เงินลงทุนรวมจะอยู่ที่ 400-800 ล้านบาทต่อปี

แนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" หรือ "ลบ" สะท้อนการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของระดับหนี้สินและผลขาดทุนค่อนข้างมากจากการตั้งสำรองด้อยค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ ผลกระทบจากการดำเนินงานในต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นก็อาจท้าทายการควบคุมต้นทุนของบริษัทและทำให้ความเสี่ยงของบริษัทเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นหากสถานะทางการเงินของบริษัทด้อยลงต่อไป ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการตั้งด้อยค่าเงินลงทุนในต่างประเทศเพิ่มเติมหรือการลงทุนที่มากเกินไป ผลการดำเนินงานที่อ่อนแอกว่าที่คาดไว้ก็อาจกระทบต่ออันดับเครดิตได้ ในทางตรงกันข้าม แนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับเป็น "Stable" หรือ "คงที่" ได้หากผลการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวดีขึ้นและระดับการก่อหนี้ลดต่ำลง รวมถึงการดำเนินงานในต่างประเทศบริหารจัดการได้ดีตามที่คาดหมายไว้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ