นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า ทช.ร่วมกับ บมจ. ปตท. (PTT) ลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) ด้านการก่อสร้างและการวางระบบโครงข่ายก๊าซธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับ ทช. เนื่องจากเล็งเห็นความสำคัญเรื่องการพัฒนาบุคลากรการพัฒนางานด้านการก่อสร้างและการพัฒนาด้านวิชาการโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง จึงมีความประสงค์ที่จะร่วมมือกันดำเนินงานแบบบูรณาการร่วมกันทั้งในด้านการบริหารจัดการงานในส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกัน ตลอดจนสนับสนุนด้านการประสานงาน การแลกเปลี่ยนข้อมูลองค์ความรู้เพื่อรองรับภารกิจหลักของทั้งสองฝ่ายให้มีความสำเร็จบรรลุวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน
ทั้งนี้ การปฏิบัติและการดำเนินการภายใต้บันทึกความเข้าใจนี้ จะต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง หลักเกณฑ์ หรือแบบธรรมเนียมในการปฏิบัติของทั้งสองฝ่าย และจะร่วมมือกันในการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการกิจกรรมต่าง ๆ แบบบูรณาการร่วมกันภายใต้วัตถุประสงค์กรอบความร่วมมือในเรื่องการศึกษาข้อมูลการจัดทำแผนงานโครงการที่เกี่ยวข้องเพื่อบูรณาการร่วมกัน ศึกษาแนวทางแก้ปัญหาการดำเนินการร่วมกันของทั้งสองฝ่าย การดำเนินงานกิจกรรมของทั้งสองฝ่าย ตามนโยบายของรัฐบาลให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของทั้งสองฝ่าย
แนวทางดังกล่าวต้องมีมาตรการป้องกัน/ลดผลกระทบต่อทรัพย์สินทุกชนิดของ ทช.และต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้เขตทางหลวง ดังนี้
- การวางระบบโครงข่ายก๊าซธรรมชาติในเขตทางหลวงชนบท
- การรื้อย้ายระบบโครงข่ายก๊าซธรรมชาติในเขตทางหลวงชนบท
- การปรับปรุงแบบก่อสร้างการดำเนินการตามภารกิจของ ทช.เพื่อเลี่ยงโครงข่ายก๊าซธรรมชาติในเขตทางหลวงชนบท
- การร่วมพิจารณางบประมาณที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการในข้อ 2 และ 3
- การควบคุมคุณภาพการวางระบบโครงข่ายก๊าซธรรมชาติในเขตทางหลวงชนบท และการคืนสภาพผิวทางหลวงชนบทตามมาตรฐานของงานที่กำหนดไว้
- กรอบระยะเวลาการพิจารณาอนุญาตของ ทช. ตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535
- ตามที่ทั้งสองฝ่ายจะตกลงร่วมกัน (หากมี)
สำหรับระยะเวลาความร่วมมือบันทึกข้อตกลงนี้ กำหนดระยะเวลา 3 ปี โดยทั้งสองฝ่ายอาจตกลงเป็นหนังสือเพื่อขยายระยะเวลาในการดำเนินงานภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ออกไปได้ตามความเหมาะสม
อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า ปตท.จะใช้พื้นที่เขตทาง ของกรมทางหลวง และ ทช.ในการวางท่อก๊าซ ในขณะที่ ทช.มีแผนในการขยายปรับปรุงถนน การปรับขยับแนว ท่อก๊าซจะต้องประสานงานร่วมกับ ปตท.ที่มีความรู้ความชำนาญ และมีเครื่องมือตรวจสอบตำแหน่งแนวท่อที่แม่นยำและปลอดภัย เช่น โครงการขยายถนนเลียบคลอง 7 จากขนาด 2 เป็น4 ช่องจราจร ระยะทางกว่า 10 กม.ของ ทช. ซึ่งมีแนวท่อก๊าซของ ปตท.อยู่ในเขตทาง เนื่องจากพื้นที่เขตทางมีจำกัด ดังนั้นจะต้องวางแผนร่วมกัน เช่น ขยับแนวท่อก๊าซ หรือทำแนวป้องกันให้ท่อก๊าซ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ทช.อนุญาตให้ ปตท.ใช้ประโยชน์พื้นที่เขตทางหลวงในการวางท่อก๊าซ เป็นลักษณะความร่วมมือ แต่ในอนาคตจะมีการเก็บค่าใช้พื้นที่เขตทาง ทั้ง การวางท่อก๊าซ ท่อประปา โดยอยู่ระหว่างรอประกาศกฎกระทรวงคมนาคมบังคับใช้
ด้านนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTT กล่าวว่าปัจจุบันโครงข่ายท่อก๊าซธรรมชาติของ ปตท.มีประมาณ 4,000 กม.โดยวางแนวท่ออยู่ในโครงข่ายถนนของ ทช.ประมาณ 1,000 กม. หรือ20% ความร่วมมือนี้ เป็นการบูรณาการทำงานร่วมกัน มีการออกแบบล่วงหน้าร่วมกัน เพื่อช่วยลดต้นทุนของประเทศและเกิดความปลอดภัยในการดูแลโครงข่ายท่อก๊าซที่จะขยายเพิ่มเติมในอนาคต
ทั้งนี้ การวางแนวท่อก๊าซบนที่ดินของทางหลวงนั้นจะเป็นการขอใช้ประโยชน์ร่วมกันบนพื้นที่เขตทาง ส่วนกรณีเป็นที่ดินเอกชน ปตท. จะจ่ายค่ารอนสิทธิ์
ส่วนโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกของปตท. เส้นที่ 5 ระยะทาง ประมาณ 500 กม. ซึ่งเป็นแนวการส่งก๊าซธรรมชาติจากฝั่งตะวันออกไปยังฝั่งตะวันตก จากจ.ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรีกรุงเทพฯ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา และนนทบุรี มีแนวท่ออยู่บนโครงข่ายถนน ของทช. ประมาณ 30-40 กม.