นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) เปิดเผยว่า แนวโน้มยอดขายในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะเริ่มเห็นการฟื้นตัว จากการที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากครึ่งปีแรกภาพรวมยอดขายชะลอตัวลง เนื่องจากปัจจัยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีการล็อกดาวน์ประเทศและภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างต่อเนื่องกระทบต่อกำลังซื้อ
การดำเนินธุรกิจของบริษัทในปีนี้เผชิญกับความท้าทายค่อนข้างมาก และส่งผลกระทบภาพรวมต่อยอดขายในปีนี้ที่อาจจะเติบโตได้เล็กน้อย หรือทำได้ใกล้เคียงกับปีก่อน โดยการขายสินค้าในเครือ BJC และการขายสินค้าของบิ๊กซี (BigC) ได้ปรับมาขายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ควบคู่กับช่องทางการขายปกติ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ช่วงโควิด-19 ที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องอยู่ที่บ้านมากขึ้น และหันมาใช้บริการสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ทำให้บริษัทเล็งเห็นถึงโอกาสในการเข้าไปรุกขยายฐานช่องทางออนไลน์ในภาวะ New Normal เพื่อช่วยผลักดันยอดขาย
"ยอดขายก็ยังไปได้เรื่อยๆ ไม่ได้โตมากนัก แต่เห็นการกลับมาฟื้นขึ้นในช่วงเริ่มคลายล็อกดาวน์ปลาย พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงล็อกดาวน์เรายังสามารถขายได้ แต่การเข้ามาซื้อก็ลดลงไป ไปสั่งออนไลน์แทน สาขาในจังหวัดท่องเที่ยวค่อนข้างกระทบมาก เพราะนักท่องเที่ยวหายไป เช่น สาขากระบี่ สาขาภูเก็ต และสาขาพัทยาที่กระทบค่อนข้างมาก ส่วนสาขาราชดำริ กระทบบ้างแต่ไม่เยอะ ส่วนใหญ่ยอดขายจะดีในสาขาที่ใกล้ที่อยู่อาศัยเยอะๆ มองว่าหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศคลี่คลายลงไปแล้ว ก็อาจจะเห็นการฟื้นตัวขึ้นของยอดขายในช่วงครึ่งปีหลังนี้ แต่ก็ถือว่ายังท้าทายค่อนข้างมาก กับความไม่แน่นอนที่ยังมีอยู่"นายอัศวิน กล่าว
สำหรับในช่วงปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาถึงปัจจุบันแนวโน้มยอดขายของทุกกลุ่มสินค้าเริ่มฟื้นกลับมา โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าบรรจุภัณฑ์ที่ลูกค้าเริ่มกลับมาสั่งออเดอร์มากขึ้น และกลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภคยังเห็นการเติบโตของยอดขายกลับคืนมา ส่วนกลุ่มสินค้าเวชภัณฑ์ โดยเฉพาะเครื่องมือแพทย์มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยมีโควิด-19 เข้ามาเป็นตัวเร่ง ทำให้ภาพในครึ่งปีหลังของบริษัทยังมีโอกาสกลับมาฟื้นตัวได้
นายอัศวิน กล่าวอีกว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวและยังมีความเสี่ยงค่อนข้างมาก บริษัทยังไม่เร่งการลงทุนมาก โดยงบลงทุนที่ใช้ยังคงอยู่ในวงเงินเท่าเดิมที่ตั้งไว้ 8,000-10,000 ล้านบาทเพื่อใช้ในการขยายสาขาบิ๊กซี ปรับปรุงสาขาเดิม และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ดีขึ้น พร้อมกับการควบคุมและบริหารจัดการหนี้ให้ลดลง
ในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา บริษัทได้ชำระคืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนมูลค่าเกือบ 1.8 หมื่นล้านบาทไปแล้ว และจะทยอยชำระคืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับจากนี้จะมีหุ้นกู้ครบไถ่ถอนชุดต่อไปในช่วงปลายปี 64 มูลค่ากว่า 9 พันล้านบาท บริษัทได้วางแผนชำระคืนไว้แล้ว โดยบริษัทจะพยายามคงอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ให้อยู่ไม่เกิน 2 เท่า ซึ่งปัจจุบันที่ 1.3 เท่า